5 ตุลาคม "วันครูโลก" World Teacher's Day เปิดเรื่องราว "7 ครูผู้เปลี่ยนแปลงโลก"


วันสำคัญ

5 ต.ค. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

5 ตุลาคม "วันครูโลก" World Teacher's Day เปิดเรื่องราว "7 ครูผู้เปลี่ยนแปลงโลก"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/400

5 ตุลาคม "วันครูโลก" World Teacher's Day เปิดเรื่องราว "7 ครูผู้เปลี่ยนแปลงโลก"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

5 ตุลาคมของทุกปี ได้รับการยกย่องให้เป็น “วันครูโลก” หรือ World Teacher’s Day ซึ่งในโลกใบนี้ มีบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “ครู” อยู่มากมาย แต่ครูทั้ง 7 ท่านที่หยิบยกมานี้ พวกเขาและเธอ ล้วนเป็น “ครูผู้เปลี่ยนแปลงโลก” สร้างคุณูปการไว้ให้กับคนรุ่นหลังมากมาย ไปดูกันว่า มีใครกันบ้าง…

1.ขงจื๊อ

ขงจื๊อ

ขงจื๊อเป็นนักคิดและนักปรัชญาสังคมในยุคโบราณ คำสอนของบุรุษคนนี้หยั่งรากลึกในสังคมเอเชียตะวันออกมายาวนาน หากแต่แรกเริ่มเดิมที ขงจื๊อไม่ได้มีอาชีพครูแต่อย่างใด เขาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในแคว้นหลู่ ประเทศจีน คอยทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานดูแลคลังเสบียงและเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ 

แต่ด้วยความใฝ่รู้ จึงศึกษาตำราวิชาการมาตั้งแต่เยาว์วัย ที่สุดจึงกลายเป็นผู้รอบรู้ โดยเฉพาะแนวคิดทางการปกครอง กระทั่งเริ่มเผยแพร่ความรู้จนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

หลักคิดของขงจื๊อมีความหลากหลาย ทั้งปัจเจกชน สังคม การเมือง การศึกษา และจริยธรรม โดยได้รับการถ่ายทอดอย่างแพร่หลายมากว่า 20 ศตวรรษ แถมยังเป็นหลักคำสอนที่ไม่ตกยุคตกสมัย อยู่เหนือกาลเวลา เนื่องจากเข้าถึง “เบื้องลึก” ของผู้คนนั่นเอง

“การจะเป็นคนดีได้นั้น ประการแรก จะต้องได้รับการศึกษา การได้รับการศึกษาจะทำให้คนฉลาดขึ้น สามารถแยกแยะระหว่างสิ่งดีและสิ่งชั่วร้าย สิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำ อะไรเป็นไปเพื่อความเจริญ อะไรเป็นไปเพื่อความเสื่อม เมื่อรู้แล้วก็จะหาทางหลีกเลี่ยงความเสื่อมแล้วดำเนินไปสู่ความเจริญ” (หลักคำสอนของขงจื๊อ)

2.อริสโตเติล

อริสโตเติล

อริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงแห่งกรีกโบราณในช่วง 384 ปีก่อนคริสตกาล เขาเป็นลูกศิษย์ของเพลโต และศึกษาในศาสตร์ความรู้มากมาย กระทั่งผลิตงานเขียนออกมาหลากหลายแขนง ทั้งปรัชญา เศรษฐศาสตร์ จริยศาสตร์ การปกครอง การเมือง จิตวิทยา และเทววิทยา 

ด้วยความรอบรู้ ทำให้อริสโตเติลมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย หนึ่งในนั้น คือกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช นอกจากนี้อริสโตเติลยังเป็นปราชญ์ในยุคแรก ๆ ที่สนใจในพฤติกรรมของสัตว์และพืช รวมทั้งมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความสามารถและความคิดไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีโอกาสที่จะเก่งได้เท่ากัน 

ทฤษฎีของอริสโตเติลยังมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อของผู้คนบนโลก อาทิ ความเชื่อที่ว่า โลกประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือการแบ่งสัตว์เป็น 2 จำพวกใหญ่ ๆ คือ สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานให้กับผู้คนบนโลกได้ใช้พัฒนาศาสตร์ความรู้เรื่อยมา

3.เซอร์ ไอแซก นิวตัน

เซอร์ ไอแซก นิวตัน

หากพูดถึง “กฎแรงโน้มถ่วง” ผู้คนต้องนึกถึง “เซอร์ ไอแซก นิวตัน” จากการคิดค้นทฤษฎีแรงดึงดูดของโลก นอกจากนี้เขายังเป็นผู้พัฒนาทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ “แคลคูลัส” และรวมถึงการค้นพบคุณสมบัติของแสง ทำให้ในเวลาต่อมา เกิดการค้นพบรังสีอินฟาเรด และรังสีเอกซ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์

การคิดค้นและเผยแพร่ทฤษฎีของนักฟิสิกส์คนนี้ ทำให้เขาเป็น “ครูคนสำคัญ” ของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ที่ต่างก็ใช้องค์ความรู้ของนิวตัน พัฒนาโลกให้ก้าวไกลมาจนทุกวันนี้

4.อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยหนึ่งในผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำจนถึงปัจจุบัน คือ สมการ E=mc2 ในทฤษฎีสัมพัทธภาพ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง นำมาเพิ่มพูนความรู้มากมาย

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ สำคัญไปกว่านั้น เขาเป็นนักคิดที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง และเป็น “ครู” ที่ให้ความรู้กับลูกศิษย์มากมาย 

ไอน์สไตน์ได้ชื่อว่าเป็นศาสตราจารย์สอนหนังสือแก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยมากมาย อาทิ มหาวิทยาลัยซูริก มหาวิทยาลัยปราก มหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคแห่งสวิสฯ และมหาวิทยาลัยเบอร์ริช 

แม้ครูท่านนี้จะจากโลกนี้ไปกว่า 68 ปี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งองค์ความรู้ หรือแม้แต่ “ชื่อเสียง” ของเขา ยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ

5.มารี กูรี

มารี กูรี

ชื่อของนักเคมีหญิงคนนี้ อาจไม่แพร่หลายต่อผู้คนในวงกว้างมากนัก แต่เธอผู้นี้ เป็นผู้คิดค้น “รังสีเรเดียม” ซึ่งถือเป็นการนำศาสตร์ด้านเคมีมาใช้รักษาโรคมะเร็งในยุคแรก ๆ

มารี กูรี เป็นชาวโปแลนด์ เธอสนใจวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่สู้ดี เธอหางานทำด้วยการเป็นครูสอนเด็กอนุบาล จนเมื่อเข้าสู่การเรียนระดับมหาวิทยาลัย กูรียังยึดอาชีพเป็นติวเตอร์สอนหนังสือเพื่อหารายได้ กระทั่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยปารีส เธอจึงเริ่มทำงานด้านวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา

มารี กูรี ยังเป็นสุภาพสตรีคนแรกในฝรั่งเศสที่เรียนจบระดับปริญญาเอก แต่ผลงานที่ทำให้โลกต้องจดจำเธอ คือการวิจัยและค้นพบธาตุใหม่ คือ ธาตุพอโลเนียม และธาตุเรเดียม ก่อนจะพบว่า ธาตุเรเดียมสามารถปล่อยรังสีออกมา จนกลายเป็นธาตุตั้งต้นในการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง 

มารี กูรี ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง พร้อมทั้งจัดตั้งมูลนิธิ Curie Foundation เพื่อเป็นต้นแบบของสถาบันวิจัยมะเร็งในหลายประเทศในเวลาต่อมา ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือการพยายามส่งต่อความรู้ของอดีตครูอนุบาลหญิงคนหนึ่ง ที่นำมาสู่การช่วยชีวิตผู้คนบนโลกนี้อีกมากมาย

6.แอนน์ ซัลลิแวน

แอนน์ ซัลลิแวน

อีกหนึ่งครูผู้ยิ่งใหญ่ที่ยังถูกพูดถึงจนปัจจุบัน เธอคือ “แอนน์ ซัลลิแวน” สุภาพสตรีคนนี้เคยประสบภาวะพิการทางดวงตา แต่โชคดีได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น และต่อมา เธอหันมายึดอาชีพเป็น “ครู” โดยจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการเป็นครูสอนเด็กตาบอดและหูหนวกที่ชื่อ “เฮเลน เคลเลอร์”

เฮเลนเป็นเด็กหญิงที่ไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม ทว่าครูแอนน์เริ่มฝึกฝนและสอนเธอ กระทั่งในที่สุด เฮเลนก็สามารถออกเสียงได้ และมีพัฒนาการมากขึ้นเป็นลำดับ

ในเวลาต่อมา เฮเลนสำเร็จการศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากวิทยาลัยแรดคลิฟฟ์ (Radcliffe College) เธอกลายนักเขียน และนักสิทธิสตรี รวมทั้งยังก่อตั้งสหภาพอเมริกันเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และให้กำลังใจต่อผู้พิการ 

เรื่องทั้งหมดอาจไม่เกิดขึ้นเลย หากว่าเฮเลนไม่มี “ครูที่ดี” ที่ทำให้เธอลุกขึ้นพัฒนาตัวเอง สุภาพสตรีคนนี้คือ ครูแอนน์ ซัลลิแว ของเธอนั่นเอง

7.โทรุ คุมอง

โทรุ คุมอง

ผู้คนคุ้นหูกับสถาบันกวดวิชาที่ชื่อ “คุมอง” นี่คือสถาบันกวดวิชาคณิตศาสตร์และภาษาที่มีเครือข่ายมากที่สุดในโลก ที่มาของสถาบันแห่งนี้ มีชายผู้อยู่เบื้องหลังที่ชื่อ โทรุ คุมอง

ในปี 1954 โทรุ คุมอง เป็นคุณครูสอนคณิตศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลาย แต่ในมุมกลับกัน ลูกชายของเขากลับมีผลการเรียนคณิตศาสตร์ที่ย่ำแย่ คุมองตัดสินใจออกแบบเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ให้แก่ลูกชาย โดยให้ฝึกทำโจทย์ที่เขาเขียนขึ้นมาทุกวัน วันละ 30 นาที จนทำให้ลูกชายสามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ได้ดีขึ้น หนำซ้ำยังแก้โจทย์ยาก ๆ ได้อีกด้วย

จากความสำเร็จนี้ ทำให้ โทรุ คุมอง ชวนเด็ก ๆ ใกล้บ้านมาสอนแบบเดียวกับลูกชาย ปรากฏว่าเด็ก ๆ เหล่านั้นมีพัฒนาการทางวิชาคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้นอย่างมาก เป็นที่มาให้เขาตัดสินใจเปิดโรงเรียนกวดวิชา “คุมอง” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1958 

จวบจนปัจจุบัน คุมองกลายเป็นหนึ่งในสถาบันพัฒนาทักษะการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจำนวนนักเรียนกว่า 4 ล้านคนใน 57 ประเทศทั่วโลก

แต่อย่างไรก็ตาม ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของผู้ชายที่ชื่อ โทรุ คุมอง คือการที่เขาได้ “ส่งต่อ” วิชาความรู้ และแบบเรียนใหม่ ๆ ให้กับเด็กได้พัฒนาต่อไป

“ครู” มีหน้าที่มอบความรู้ให้กับนักเรียน เหนือสิ่งอื่นใด คือการหยิบยื่นโอกาส เพื่อให้นักเรียนได้เติบโต และพัฒนาตนเอง เป็นบุคลากรที่มีประโยชน์ต่อสังคมต่อไป…

Did You Know

วันครูโลก (World Teacher's Day) เป็นวันที่ได้รับการตั้งขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกและยกย่องบุคลากรที่มีอาชีพครูทั่วโลก เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1994 โดยนอกจากจะเป็นการยกย่องอาชีพครูแล้ว การก่อตั้งวันสำคัญนี้ยังเป็นการช่วยยกระดับวิชาชีพครูทั่วโลก รวมถึงส่งเสริมให้มีการสร้างมาตรฐานครูให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

อ้างอิง

-www.timesofindia.indiatimes.com

-www.unesco.org

-www.kumon.com

-www.biography.com

ดูรายการเกี่ยวกับอาชีพครู

-แสงสว่างในความมืด “ครูไอซ์” ดำเกิง มุ่งธัญญา

-ครูมะนาว #เป็นครูอยู่(ไม่)ยาก​

-ครูใหญ่หัวใจไม่ท้อ

-ครูเรือนแพ

-ครูมวยใต้ทางด่วน

 



 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

5 ตุลาคม วันครูโลกWorld Teacher’s Dayขงจื๊ออริสโตเติลเซอร์ ไอแซก นิวตันอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์มารี กูรีแอนน์ ซัลลิแวนโทรุ คุมอง
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด