ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แม้แมวจะเข้าใจยาก! แต่แมวเป็น “สัตว์บำบัด” ที่ดีได้


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

28 เม.ย. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

แม้แมวจะเข้าใจยาก! แต่แมวเป็น “สัตว์บำบัด” ที่ดีได้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2626

แม้แมวจะเข้าใจยาก! แต่แมวเป็น “สัตว์บำบัด” ที่ดีได้
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ทาสแมวได้ยินเป็นปลื้ม! ด้วยความที่ “สุนัข” หรือ “น้องหมา” เป็นสัตว์ที่เข้ากับคนง่าย มีความกระตือรือร้น จึงมักถูกนำมาเป็น “สัตว์บำบัด” เพื่อปลอบโยนผู้คนในสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน หรือบ้านพักคนชรา แต่ในมีทางเลือกอื่นที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็คือ “แมวบำบัด”

เกรซ แครอลล์ (Grace Carroll) อาจารย์ด้านพฤติกรรมและสวัสดิภาพสัตว์ คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยควีนส์เบลฟาสต์ (Queen's University Belfast) ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ให้ความรู้ว่า สำหรับ “แมวบำบัด” ในปัจจุบันถูกใช้เพื่อบรรเทาความเหงาและความเครียด เช่น ในเรือนจำ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย บ้านพักคนชรา หรือโรงพยาบาล เนื่องจากมีบางคนกลัวสุนัข หรืออาจมีปัญหาในการโต้ตอบกับสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ม้า เป็นต้น

แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ “แมวบำบัด” มักอาศัยอยู่ เช่น บ้านพักคนชราหรือโรงเรียน อาจมีเสียงดัง คาดเดาไม่ได้ เต็มไปด้วยผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย จึงอาจเป็นสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ “แมว” ทั่วไป ไม่สบายใจได้ เนื่องจาก “แมว” มักชอบสภาพแวดล้อมที่คาดเดาได้และมั่นคง เช่นเดียวกับบรรพบุรุษแมวป่า ดังนั้น แมวบ้านจึงให้ความสำคัญกับความมั่นคงของอาณาเขตมากกว่าความผูกพันทางสังคมกับมนุษย์หรือแมวตัวอื่นนั่นเอง

“แมว” อาศัยกลิ่นเพื่อนำทางและรู้สึกปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดย “ฟีโรโมนแมว” จะช่วยให้แมวระบุพื้นที่ที่ “ปลอดภัย” หรือ “รู้จัก” โดยสร้างแผนที่กลิ่นของอาณาเขตบ้านของพวกมันขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม โลกโซเชียลมีเดียในช่วงหลัง ๆ ทำให้เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจเกี่ยวกับความผูกพันหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ ๆ ของแมว เช่น การได้เห็นแมวเดินทางร่วมกับเจ้าของในรถบ้าน - เครื่องบิน หรือแม้กระทั่งมอเตอร์ไซค์มากขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่ง “แมว” เหล่านี้ ดูเหมือนจะสามารถทนต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์เคยคิดว่าอาจสร้างความเครียดให้กับพวกมันมากเกินไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางครั้งพวกมันกลับปรับตัวได้ดี ดังนั้น อะไรที่ทำให้แมวเหล่านี้แตกต่าง ?

แมวบางตัวอาจได้รับประโยชน์จากการมีมนุษย์ที่ไว้ใจได้อยู่ด้วย ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยหรืออาจก่อให้เกิดความเครียดได้ โดยในการศึกษาวิจัยในปี 2021 นักวิจัยพฤติกรรมสัตว์ Alexandra Behnke และเพื่อนร่วมงานพบว่าแมวเกือบครึ่งหนึ่งจาก 42 ตัวที่นำมาทำการทดสอบแสดงถึงสัญญาณของการไว้วางใจ - รู้สึกปลอดภัย เมื่ออยู่กับเจ้าของแม้จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งนี่จะสามารถช่วยลดความเครียดและกระตุ้นให้เจ้าเหมียวพร้อมไปในที่ต่าง ๆ ได้ ขอเพียงแมวรู้สึกปลอดภัย - ได้อยู่กับเจ้าของ เป็นต้น และนี่อาจเป็นคำตอบที่ช่วยให้ “แมวบำบัด” สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้

การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ นำโดย Joni Delanoeije นักวิจัยชาวเบลเยียมด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ได้สำรวจว่า “แมว” ที่ได้รับเลือกให้เข้าเป็น “แมวบำบัด” นั้นต่างจากสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ในบ้านอย่างไร ?

สำหรับการศึกษานี้ได้วิเคราะห์คำตอบจากแบบสำรวจที่เกี่ยวข้องกับแมว 474 ตัว ซึ่ง 12 ตัวเคยเข้าร่วมบริการดังกล่าว พบว่า แมวที่เคยเข้าร่วมเป็น “แมวบำบัด” จะเข้ากับมนุษย์ - แมวตัวอื่นได้ดีกว่า เรียกร้องความสนใจมากกว่า และต่อต้านการถูกควบคุมน้อยกว่า

ผลการศึกษานี้เผยให้เห็นว่าลักษณะทางพฤติกรรม เช่น การเข้าสังคมและความอดทน อาจทำให้แมวบางตัวเหมาะกับการโต้ตอบกับผู้คนในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยมากกว่า อย่างไรก็ตาม จำนวนแมวที่เข้าร่วมในการศึกษานี้มีจำนวนน้อย ซึ่งหมายความว่าต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสรุปผลที่ชัดเจนอีกครั้ง

งานวิจัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แมวเหล่านี้มีความผูกพันที่แน่นแฟ้นและไว้ใจเจ้าของ การเข้าสังคมตั้งแต่เนิ่น ๆ และการค่อย ๆ ทำความรู้จักกัน ดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียม “แมว” ให้รับมือกับงานบริการที่ไม่สามารถคาดเดาได้

“แมวบำบัด” กับ “สุนัขบำบัด” มีดีคนละแบบ

“แมว” แตกต่างจากสุนัขในเรื่องความต้องการทางสังคม อารมณ์ และความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างเหล่านี้จึงต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบในระหว่างการคัดเลือกให้เข้ารับเป็น “สัตว์บำบัด” แต่ความแตกต่างนี้ก็มีข้อดีตามมาด้วย เช่น การบำบัดด้วยแมวอาจมีประโยชน์มากกว่าสำหรับผู้ที่มองว่าตัวเองเป็น “ทาสแมว” ซึ่งการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการแบ่งประเภทตัวเองนี้มีความเชื่อมโยงกับลักษณะบุคลิกภาพ โดยคนรักแมวมักรักอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ และพึ่งพาตนเองได้มากกว่า

ขณะที่ “ทาสหมา” มักจะเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่าย เข้ากับสังคมได้ และชอบอยู่เป็นกลุ่ม ทาสแมวอาจรู้สึกสบายใจมากกว่าเมื่ออยู่ในสถานที่บำบัดแบบตัวต่อตัว ส่วนทาสหมาอาจชอบทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม

ทั้ง “แมว” และ “สุนัข” ล้วนกระตุ้นให้เกิดความสุขในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่สำหรับ “สุนัข” นั้นทำให้เกิดความกลัวได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก “กลัวโดนกัด” ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของการบำบัดด้วยสุนัขสำหรับบางคน ทำให้ “แมว” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

สุนัขอาจให้การสนับสนุนทางอารมณ์ได้ดีผ่านปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพ แต่เสียงครางของแมวเป็นลักษณะเฉพาะที่อาจมีประโยชน์ในการบำบัด โดยการศึกษาวิจัยในปี 2001 พบว่าแมวบ้านจะครางด้วยความถี่ระหว่าง 25 ถึง 50 เฮิรตซ์ ซึ่งเป็นความถี่ที่ช่วยรักษามนุษย์ได้

แม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่รองรับการค้นพบนี้ แต่การศึกษาวิจัยในปี 2021 พบว่า เจ้าของแมวรายงานว่า “เสียงคราง” ของแมว มีผลทำให้ “สงบ”

“สุนัข” อาจเป็นสัตว์บำบัดแบบดั้งเดิม แต่ “แมว” ก็พิสูจน์แล้วว่าพวกมันก็มีคุณสมบัติเช่นกัน ด้วยนิสัยและการฝึกฝนที่เหมาะสม “แมว” ก็สามารถมอบสิ่งที่แตกต่างให้กับผู้ที่ต้องการความสบายใจได้เช่นกัน


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : theconversation

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แมวแมวบำบัดทาสแมวสัตว์บำบัดสุนัขบำบัดทาสหมาน้องหมาหมาวิทย์น่ารู้วิทยาศาสตร์น่ารู้วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด