แม้คนทำงานในยุคนี้จะพยายามสร้าง ‘work life balance’ แต่หลายครั้ง ภาระงานอันหนักอึ้งและดูไม่จบสิ้นนั้น ทำให้ชีวิตมีแต่ ‘work ไร้ balance’ จนทำให้เกิดภาวะ ‘burnout’ แทน
Burnout หมายถึง ภาวะความเหนื่อยล้าทางกาย ใจ และอารมณ์ ซึ่งสามารถเกิดได้หากเราเผชิญกับความเครียดสะสมและรู้สึกถูกกดดันโดยเฉพาะจากหน้าที่การงานและความรับผิดชอบต่าง ๆ ในชีวิต องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงระบุว่า burnout หรือภาวะหมดไฟนั้นได้กลายเป็น “ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (occupational phenomenon)” ในปัจจุบันไปเสียแล้ว
ภาวะ Burnout ประกอบไปด้วยอาการหลายอย่างที่อาจแตกต่างไปสำหรับแต่ละคน อาทิ รู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลาและโดดเดี่ยว ปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามร่างกาย มีความดันเลือดสูง ขาดความสนใจและความพึงพอใจ ชอบผัดวันประกันพรุ่ง หัวร้อนและขี้รำคาญง่าย สูญเสียความอยากอาหาร หรือบางคนอาจกินดื่มเยอะผิดปกติเพื่อจัดการกับภาวะ burnout แบบผิดทางอย่างไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ดี บทความนี้จะพูดถึงภาวะ burnout ในแง่มุมที่เหนือไปจากการวิเคราะห์อาการและการรับมือ เพราะแท้จริงแล้ว ภาวะ burnout นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่ปัญหาสุขภาพจิตของเราเท่านั้น แต่ร้ายแรงไปจนถึง ‘ภาวะโลกรวน (climate change)’ เลยทีเดียว

เพราะ “รับจบทุกอย่าง” จึงป่วยเป็นภาวะ burnout
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เส้นแบ่งระหว่าง ‘งาน’ และ ‘ชีวิตส่วนตัว’ ในทุกวันนี้พร่าเลือนจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันไปเสียแล้ว เราต่างเต็มใจทำงานทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์จากที่บ้าน และวิกฤตโควิด-19 เมื่อ 5 ปีก่อนก็ทำให้ภาวะ burnout ในหมู่คนทำงานร้ายแรงขึ้น อย่างเช่นในช่วงล็อกดาวน์ ครูทั่วโลกต้องประสบกับความเครียดและภาวะ burnout มากกว่าคนในวิชาชีพแพทย์ เนื่องจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นและการแบกรับความกังวลของนักเรียนมาอีกทอดหนึ่ง
ทั้งนี้ ภาวะ burnout ได้ “ระบาด” ไปทั่วโลกก่อนที่โควิดจะเกิดขึ้น บย็อง-ช็อล ฮัน (Byung-Chul Han) นักปรัชญาชาวเกาหลีในเยอรมนี ได้อธิบายในหนังสือ ‘The Burnout Society’ ไว้ว่า “ความเป็นบวก (positivity)” ที่ล้นเกินนั้นเป็นต้นตอของภาวะ burnout ในศตวรรษที่ 21 เราต่างไขว่คว้าความสำเร็จโดยเชื่อว่า เรา “สามารถ (can)” ทำทุกอย่างได้ แตกต่างจากสังคมยุคก่อน ๆ ที่ระเบียบวินัยได้ควบคุมชีวิตและจำความเป็นไปได้ต่าง ๆ ไว้
ความเป็นบวกที่ว่านี้ขับเคลื่อน (หรือบังคับ) ให้เรากลายเป็นคน “โปรดักทีฟ (productive)” และมีทักษะ “มัลติทาสกิง (multitasking)” ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ฮันเสนอว่า multitasking คือทักษะของสัตว์ป่าที่ต้องออก (ล่า) หาอาหารและระแวงระวังภัยอยู่ตลอดเวลา ส่วนมนุษย์นั้นเหนือกว่าสัตว์ป่าได้ เพราะมีสมาธิจดจ่อและคิดใคร่ครวญ ความเชื่อที่ว่า เรา “สามารถ” ทำ (งาน) ทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกันตามคอนเซ็ปต์ multitasking จึงลดทอนมนุษย์ให้เป็นเพียงสัตว์ที่ทำงานเพื่อประทังชีพ อีกทั้งก่อให้เกิดความเฉื่อยชาและภาวะ burnout ในท้ายที่สุด

Burnout จนชีวิตและโลก “รวน”
ก่อนที่จะเกิด burnout ผลกระทบอย่างหนึ่งที่ “คน (บ้าทำ) งาน” ต้องเผชิญคือ การขาดเวลาว่างเพื่อพัฒนาตนเองและผ่อนคลายความเครียด ในบทหนึ่งของหนังสือ ‘Overtime: Why We Need a Shorter Working Week’ เสนอว่า “งานส่วนใหญ่ภายใต้ระบบทุนนิยมจะพัฒนาทักษะของมนุษย์ตราบเท่าที่งานเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเท่านั้น” และได้รับการออกแบบให้เป็นกิจวัตรที่ลูกจ้างแทบทุกคน “สามารถ” ปฏิบัติตามได้เลย เมื่อบวกกับความ productive และทักษะ multitasking ที่ (ต้อง) ทุ่มให้งานแล้ว เราจึงไม่มีเวลามากพอที่จะไปทำสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจของเรา จนนำมาสู่ภาวะ burnout อย่างเลี่ยงไม่ได้
บางคน “รู้สึกผิด” ที่จะหยุดพักผ่อนแม้แต่ในเวลาที่ควรพัก อาจเป็นเพราะว่า บ้างผูกคุณค่าในตัวเอง (self-worth) ติดไว้กับความ productive บ้างโหยหาความสำเร็จและการยอมรับจาก “การทำงานหนัก (hard-working)” หรือบ้างอาจป่วยเป็นภาวะสมาธิสั้น (ADHD) โดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนก่อให้เกิดความเครียดและภาวะ burnout ซึ่งกำลังบั่นทอนสุขภาพและสุขภาวะของคนไทย ในปี พ.ศ. 2566 พบว่า คนวัยทำงานในไทย ใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน และในกรุงเทพฯ นั้น คนทำงานราว 7 ใน 10 มีภาวะ burnout จากงาน และคนในวัยแรงงานโทร. ขอรับคำปรึกษาเรื่องความเครียดจากงานถึงเกือบ 3 ใน 4
อีกด้านหนึ่ง ภาวะ burnout ก็มีส่วนทำให้ภาวะโลกรวนร้ายแรงขึ้น เนื่องจากเวลาทำงานที่มากขึ้นย่อมทำให้มีการใช้ทรัพยากรและการปล่อยคาร์บอนมากขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างหนึ่งคือ หากเราทำงานเกินเวลา – ไม่ว่าจะเป็นจากที่บ้านหรือออฟฟิศ – เราจะขี้เกียจเตรียมอาหารเองแล้วกดสั่งอาหารจากมือถือแทน จากนั้น ร้านอาหารห่ออาหารด้วยพลาสติกหรือกระดาษ ไรเดอร์ขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งอาหารให้เรา และถ้าเราไม่กินเลย ก็อาจทำให้อาหารนั้นเย็นชืดจนต้องไปอุ่นใหม่ในไมโครเวฟ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ในสังคมที่ขนส่งสาธารณะไม่สะดวกนั้น ผู้คนจะใช้พาหนะส่วนตัวไปทำงานทุกวัน ทำให้การจราจรติดขัดและเกิดมลพิษมากขึ้นไปอีก ยังไม่นับว่า ผู้คนเหล่านั้นต้องเสียเวลาบนท้องถนนและเผชิญภาวะ burnout วนไปอีก
เมื่อมาถึงจุดนี้ ภาวะ burnout จึงไม่ใช่เพียงปัญหาสุขภาพจิตของปัจเจกบุคคล แต่เป็นวิกฤตสังคม-สิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ต้องหาทางออกให้ได้

“ลดเวลาการทำงาน” หยุด burnout แก้โลกรวน
เพราะเรื่องสุขภาพจิตปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ การรับมือกับภาวะ burnout ในระดับปัจเจกบุคคลจึงสำคัญจำเป็นเสมอ ทั้งการขอความช่วยเหลือและคำปรึกษาจากคนที่ช่วยเหลือได้ การฝึกสติสมาธิลดความเครียด การปล่อยผีและใจดีกับตัวเองบ้าง การผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานและการดูแลซึ่งกันและกัน และการลางานเพื่อพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เราจะแก้ปัญหาภาวะ burnout ได้จริงจัง ก็ต้องแก้ที่ระบบสาธารณสุขและสวัสดิการแรงงานด้วย
จากข้อมูลปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีจิตแพทย์ราว 845 คน คิดเป็นอัตราส่วนจิตแพทย์ 1.3 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งต่ำกว่าสัดส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (จิตแพทย์ 10 คน ต่อประชากร 100,000 คน) และภาวะ burnout ในหมู่จิตแพทย์ก็พุ่งสูงขึ้นถึง 5 เท่าในปีที่ผ่าน ๆ มา กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวนโยบายแก้ปัญหาสุขภาพจิตในไทยผ่านการปรับระบบบริการทั้งหมด การเพิ่มจำนวนจิตแพทย์ 400 คนภายในปี พ.ศ. 2572 รวมถึงการให้ความรู้ประชาชนที่จะดูแลสุขภาพจิตของตัวเองเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ข้อเสนอหนึ่งในการแก้ปัญหาภาวะ burnout ระบาด “ที่ต้นเหตุ” นั้น คือการ “ลดเวลาทำงานลง” และแนวคิดลดวันทำงานเหลือ 4 วันโดยที่มีการจ่ายค่าจ้างเท่าเดิมมักจะถูกพูดถึงอยู่หลายครั้ง เช่น ในเดือน ธ.ค. 63 ปาโพล อิเกลเซียส์ (Pablo Iglesias) รองนายกฯ ของสเปน ณ ขณะนั้น ประกาศถึงการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลดเวลาการทำงานลงเหลือ 4 วัน ต่อมา เมืองบาเลนเซีย (Valencia) ได้นำร่องโครงการหยุดทำงานวันจันทร์แก่คนทำงานกว่า 360,000 คน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 66 นอกจากจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพกายใจแก่คนในเมืองแล้ว ยังทำให้คุณภาพอากาศในเมืองดีขึ้นและลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์อีกด้วย

ผลลัพธ์จากโครงการนำร่องในเมืองบาเลนเซีย ดูจะสอดคล้องกับการประมาณการของจูเลียต ชอร์ (Juliet Schor) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และคณะว่า การลดชั่วโมงการทำงาน 1 ใน 4 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 30 ทั้งนี้ หนังสือ ‘Overtime: Why We Need a Shorter Working Week’ เสนอว่า การลดเวลาการทำงานจะเกิดขึ้นได้จริง ต่อเมื่อหน่วยสังคมต่าง ๆ ทั้งขบวนการทางสังคม สหภาพแรงงาน และพรรคการเมือง (ที่อยู่ในอำนาจ) ต้องช่วยผลักดันและกดดันนายทุนอย่างที่การรณรงค์ให้มีวันหยุด 2 วัน (เสาร์-อาทิตย์) สำเร็จมาแล้วในศตวรรษที่ 20
ดังนั้น ถึงจะท้าทายสักเพียงใด แต่หากแก้ปัญหา burnout ทั้งต้นและปลายเหตุได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่จะลดความเหนื่อยล้าของเรา แต่ยังช่วยให้โลกพ้นขีดอันตรายจากความแปรปรวนทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อีกด้วย
อ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับ 'ภาวะ burnout' จากเครือ Thai PBS
- คาดคนไทยป่วยสุขภาพจิต มากกว่าผู้รับการรักษา 5 เท่า | Policy Watch
- ภาวะผู้นำหมดไฟ “จาซินดา อาเดิร์น” | The Active
- รู้จักภาวะฝืนทำงาน (Presenteeism) ภัยร้ายคนทำงาน | Thai PBS NOW
อ้างอิง
- The Conversation, Feeling depleted? So is the planet. Here’s how to move from exhaustion to empowerment
- The Burnout Society เราต่างหมดไฟในสังคมคลั่งไคล้การทำงาน [Byung-Chul Han เขียน; พงษ์ประภัสสร์ แสงสุริยง แปล], สำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน
- Mental Health UK, Burnout
- Overtime: Why We Need a Shorter Working Week ทำไมเรามีเวลาไม่พอ: ทวงคืนเวลาจากงาน [Kyle Lewis และ Will Stronge เขียน; วรัญญู ขจรชีพพันธุ์งาม และชยางกูร ธรรมอัน แปล], สำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน
- Refinery29, “I Don’t Deserve To Be Burned Out.” How Capitalism Complicates Rest
- World Economic Forum, Four-day work week trial in Spain leads to healthier workers, less pollution
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW: www.thaipbs.or.th/now
