ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทรัมป์สั่งโจมตีเยเมน ผู้อพยพแอฟริกัน 68 ชีวิตดับในศูนย์กักกัน

ต่างประเทศ
28 เม.ย. 68
18:43
141
Logo Thai PBS
ทรัมป์สั่งโจมตีเยเมน ผู้อพยพแอฟริกัน 68 ชีวิตดับในศูนย์กักกัน
สหรัฐฯ โจมตีทางอากาศถล่มศูนย์กักกันผู้อพยพใน จ.ซาดา ที่กลุ่มฮูตียึดครอง ทำให้ผู้อพยพชาวแอฟริกันอย่างน้อย 68 คนเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัสอีก 47 ฮูตีประณามสหรัฐฯ ก่อ "อาชญากรรมสงคราม" โลกจับตาวิกฤตมนุษยธรรมในเยเมนที่ยิ่งเลวร้ายเรื่อย ๆ

วันนี้ (28 เม.ย.2568) BBC รายงาน เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27 เม.ย.) ศูนย์กักกันผู้อพยพใน จ.ซาดา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเยเมน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฮูตี ถูกโจมตีทางอากาศโดยสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ อัล-มาซีรา ระบุว่า มีผู้อพยพชาวแอฟริกันอย่างน้อย 68 คน เสียชีวิต และอีก 47 คนบาดเจ็บสาหัส ซากอาคารพังทลาย พร้อมร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ศูนย์กักกันดังกล่าวมีผู้อพยพชาวแอฟริกันราว 115 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะเกิดเหตุ ส่วนใหญ่เป็นชาวเอธิโอเปียและผู้อพยพจากภูมิภาคฮอร์นแห่งแอฟริกา ที่เดินทางมาเยเมนด้วยเรือเพื่อหวังข้ามพรมแดนไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย แต่กลับต้องเผชิญกับการถูกกักขัง การแสวงหาผลประโยชน์ ความรุนแรง และอันตรายจากพื้นที่สู้รบ

ตามข้อมูลของ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ซึ่งระบุว่าในปี 2567 มีผู้อพยพเกือบ 60,900 ราย เดินทางมาถึงเยเมน และส่วนใหญ่ไม่มีหนทางเลี้ยงชีพ

กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุโจมตีครั้งนี้ แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ประกาศว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้โจมตีเป้าหมายมากกว่า 800 จุด ในตามคำสั่งของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สั่งให้เพิ่มความเข้มข้นของปฏิบัติการทางอากาศต่อกลุ่มฮูตีตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.2568 โดยกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ระบุว่าการโจมตีเหล่านี้ได้สังหารนักรบฮูตีหลายร้อยคนและผู้นำระดับสูงหลายคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลโครงการขีปนาวุธและโดรน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารกลุ่มฮูตีอ้างว่า การโจมตีของสหรัฐฯ ได้คร่าชีวิตพลเรือนจำนวนมาก แต่มีรายงานการสูญเสียในหมู่สมาชิกกลุ่มฮูตีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การโจมตีครั้งนี้จึงจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบต่อพลเรือนและผู้อพยพที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

เยเมนเผชิญวิกฤตมนุษยธรรมอันเลวร้ายจากสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า 11 ปี นับตั้งแต่กลุ่มฮูตี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ยึดครองพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ รวมถึงเมืองหลวงซานา จากรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ต่อมา แนวร่วมที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ เข้าแทรกแซงเพื่อพยายามฟื้นฟูอำนาจของรัฐบาล ความขัดแย้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 150,000 ราย และทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ โดยมีผู้พลัดถิ่น 4,800,000 คน และประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือราว 19.5 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ตั้งแต่เดือน พ.ย.2566 กลุ่มฮูตีเริ่มโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดงและอ่าวเอเดนด้วยขีปนาวุธ โดรน และเรือขนาดเล็ก โดยอ้างว่าเป็นการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ฮูตีมักอ้างว่าโจมตีเฉพาะเรือที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล สหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร แต่หลายครั้งการอ้างนี้ไม่เป็นความจริง การโจมตีเหล่านี้ทำให้เรือ 2 ลำจม 1 ลำถูกยึด และมีลูกเรือเสียชีวิต 4 คน

การตอบโต้ของชาติตะวันตก รวมถึงการส่งเรือรบไปปกป้องเรือพาณิชย์ในทะเลแดงและอ่าวเอเดน รวมถึงการโจมตีทางทหารโดยสหรัฐฯ ในสมัย ปธน.โจ ไบเดน ไม่สามารถยับยั้งกลุ่มฮูตีได้ เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือน ม.ค.2568 เขากลับมาประกาศให้กลุ่มฮูตีเป็น "องค์กรก่อการร้ายต่างชาติ" อีกครั้ง ซึ่งเป็นสถานะที่ไบเดนเคยยกเลิกเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อวิกฤตมนุษยธรรมในเยเมน

การโจมตีก่อนหน้าและข้อกล่าวหา "อาชญากรรมสงคราม" 

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือน เม.ย.2568 ทางการฮูตีรายงานว่า สหรัฐฯ โจมตีท่าเรือน้ำมัน ราส อิซา ทางชายฝั่งทะเลแดง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 74 คน และบาดเจ็บ 171 คน ฮูตีระบุว่าท่าเรือนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานพลเรือน และการโจมตีดังกล่าวเป็น "อาชญากรรมสงคราม" สหรัฐฯ ระบุว่าการโจมตีนี้ทำลายความสามารถของท่าเรือในการรับน้ำมัน ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถของฮูตีในการปฏิบัติการและสร้างรายได้จากการก่อการร้าย

ทรัมป์ยังข่มขู่เมื่อเดือนที่แล้วว่าจะกำจัดกลุ่มฮูตีให้สิ้นซาก และเตือนอิหร่านไม่ให้สนับสนุนกลุ่มนี้ ซึ่งอิหร่านปฏิเสธมาโดยตลอด ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ระบุว่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อไปจนกว่าวัตถุประสงค์จะสำเร็จ ซึ่งคือการฟื้นฟูเสรีภาพในการเดินเรือและการยับยั้งอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาค

โศกนาฏกรรมที่ศูนย์กักกันในซาดาทำให้เกิดคำถามจากนักเคลื่อนไหวและองค์กรสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐ โดยเฉพาะ Operation Rough Rider ซึ่งเป็นชื่อรหัสของแคมเปญโจมตีกลุ่มฮูตีในสมัยทรัมป์ ความกังวลเพิ่มขึ้นเมื่อมีรายงานว่า รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ พีท เฮกเซธ ใช้แอปพลิเคชัน Signal ที่ไม่มีการเข้ารหัสเพื่อพูดคุยถึงรายละเอียดปฏิบัติการ ทำให้เกิดข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใส

เหตุการณ์นี้ยังชวนให้นึกถึงการโจมตีศูนย์กักกันแห่งเดียวกันในปี 2565 โดยแนวร่วมที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 66 คน และบาดเจ็บ 113 คน รายงานของสหประชาชาติระบุว่า ศูนย์นี้เป็นที่รู้กันว่าใช้กักขังผู้อพยพ และการโจมตีดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

อ่านข่าวเพิ่ม :

สัญญาพิษ! "ทรัมป์ 100 วัน" ผลักเศรษฐกิจสหรัฐฯ สู่ขอบเหว

โต้ส่งอุยกูร์ไปแคนาดา "ภูมิธรรม" ยันส่งกลับจีนหมดแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง