ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความเชื่อเกี่ยวกับพระโค ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


วันสำคัญ

28 เม.ย. 68

นุดี กฤชโอภาส

Logo Thai PBS
แชร์

ความเชื่อเกี่ยวกับพระโค ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2622

ความเชื่อเกี่ยวกับพระโค ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เปิดความเชื่อเกี่ยวกับ "พระโค" เหตุใดถูกกำหนดเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และทำไมต้องใช้ "พระโค" ในพิธีไถหว่าน แทนการใช้ "กระบือ" หรือ "ควาย" ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เนื่องในวันพืชมงคล

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เนื่องใน "วันพืชมงคล" กำหนดจัดขึ้นราวเดือน 6 ของทุกปีตามฤกษ์ยามของปีนั้น ๆ หัวใจหลักของวันนี้คือ พิธีไถหว่าน นำโดย พระโค และพระยาแรกนา เพื่อความเป็นสิริมงคล บำรุงขวัญกําลังใจแก่เกษตรกร และเป็นสัญญาณเริ่มต้นสู่ฤดูการทำนา ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของคนไทยมาแต่เนิ่นนาน

พระโคเสี่ยงทายในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ.png

ในการประกอบพระราชพิธี จะแบ่งเป็น 2 พิธีที่จัดต่อเนื่องกัน คือวันแรกประกอบพิธีสงฆ์ "พระราชพิธีพืชมงคล" บำรุงพืชเมล็ดพันธุ์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับ "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" พิธีพราหมณ์ พิธีไถหว่านโดยพระโคแรกนาขวัญที่จะถูกคัดเลือกในแต่ละปี ซึ่งพิธีดังกล่าว จะประกอบในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยปี พ.ศ. 2568 ตรงกับวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568

ความหมายและความสำคัญของ “พระโคแรกนาขวัญ”

"พระโค" ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ในวิถีชีวิตของไทยที่มีความเกี่ยวโยงกับเกษตรกรรมเป็นหลัก ในวัฒนธรรมไทย พระโคไม่ได้เป็นเพียงสัตว์ที่ใช้แรงงานในภาคเกษตร แต่ยังถูกยกให้เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในวันพืชมงคล ตามคติพรามหณ์-ฮินดู ที่เชื่อกันว่า 

  • พระโค มีศักดิ์เสมือนเทวดา จากตำนานที่กล่าวว่า โคอุสุภราช (เผือกผู้) มีนามว่า พระนนทิ ถือกันว่า เป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จัตุบาท พระนนทิจะแปลงรูปเป็นโคให้พระอิศวรทรง หรือทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรหรือพระศิวะ เปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง จะเห็นได้ว่าภาพวาดหรือเทวรูปพระศิวะมักจะปรากฏวัวตัวผู้สีขาวนามว่า นนทิ หรือ Nandi อยู่เสมอ 
  • พระโค เป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล เปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์
โคนนทิ วัวพาหนะแห่งพระศิวะเทพ (ภาพจาก วัดเทพมณเทียร สมาคมฮินดูสมาช).jpg

จากความเชื่อเหล่านี้ ชาวอินเดียที่เป็นฮินดูส่วนใหญ่จึงไม่บริโภคเนื้อวัว ทำให้ "โค" หรือ "วัว" ในอินเดียได้รับการยกย่องสูง เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หลายมลรัฐในอินเดียออกกฎห้ามฆ่าวัวอย่างเด็ดขาด จึงมักพบเห็นภาพวัวเดินสัญจรไปมาทั่วอินเดีย จนเป็นภาพที่นักท่องเที่ยวชินตา

ความเชื่อเกี่ยวกับพระโค.jpg

บทบาทสำคัญของ "พระโค" ในวันพืชมงคล

สำหรับประเทศไทยกำหนดใช้ "พระโคเพศผู้" ร่วมพระราชพิธีฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็ง ความอุดมสมบูรณ์ ทำหน้าที่สำคัญ เป็นผู้พยากรณ์ฤดูกาลเพาะปลูกในปีนั้น ๆ จาก "ของกิน 7 สิ่ง" ที่ตั้งเลี้ยงพระโค อาทิ ข้าว ข้าวโพด ถั่ว งา น้ำ หญ้า เหล้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายเป็นไปตามนั้น ร่วมด้วยกับพระยาแรกนาที่ต้องตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย (การเสี่ยงทายผ้านุ่ง)  มีด้วยกัน 3 ผืน คือ สี่คืบ ห้าคืบ และหกคืบ หากหยิบได้ผ้าผืนใด ก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น

พระโคเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง.png

ลักษณะของพระโคในพระราชพิธี

การคัดเลือกพระโค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมอบหมายให้ "กรมปศุสัตว์" เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคที่ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งจะคัดเลือกอย่างพิถีพิถันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ดูสง่างาม เป็นเพศผู้ เขาโค้งสวยงาม ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม สูงไม่น้อยกว่า 150 ซม. ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 ซม. รอบอกไม่น้อยกว่า 180 ซม. รวมถึงนิ่งสุขุมและเชื่อง ฝึกง่าย เพื่อให้เหมาะสมกับการเข้าร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์

ปี 2568 กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโค "พันธุ์ขาวลำพูน" มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ลำตัวไม่มีจุดด่างดำหรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาวทั้งสองข้างโค้งสวยงาม ลำตัวเป็นลำเทียน ตาสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู จมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ

  • พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง

พระโคพอ อายุ 13 ปี ความสูง 165 ซม. ความยาวลำตัว 226 ซม. ความสมบูรณ์รอบอก 214 ซม.
พระโคเพียง อายุ 13 ปี ความสูง 169 ซม. ความยาวลำตัว 239 ซม. ความสมบูรณ์รอบอก 210 ซม.

พระโคพอ.jpg
  • พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล

พระโคเพิ่ม อายุ 15 ปี มีความสูง 162 ซม. ความยาวลำตัว 236 ซม. ความสมบูรณ์รอบอก 201 ซม.
พระโคพูล อายุ 15 ปี มีความสูง 157 ซม. ความยาวลำตัว 242 ซม. ความสมบูรณ์รอบอก 205 ซม.

พระโคเพิ่ม พระโคพูล.jpg

ทำไมต้องเป็น “โคพันธุ์ขาวลำพูน”

โคพันธุ์ "ขาวลำพูน" เป็นโคพื้นเมือง มีรูปร่างสูงใหญ่ สูงโปร่ง สง่า ลำตัวมีสีขาวทั้งตัว ทำให้ทนร้อนจากแดดได้ดี แตกต่างจากโคสีขาวพันธุ์อื่น ๆ ที่ปาก จมูก ขอบตา กีบ เขา และพู่หางสีดำ แต่โคขาวลำพูนจะเป็นสีขาวทั้งหมด จึงถูกคัดเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โคขาวลำพูนนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสังคมเกษตรกรรมของบรรพบุรุษชาวล้านนา ซึ่งพบมากในอำเภอต่าง ๆ ของลำพูน และเชียงใหม่

ภาพบรรยากาศเตรียมพร้อมพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ.png

ความเชื่อเกี่ยวกับพระโคและการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในวันพืชมงคล สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรมมาแต่โบราณ แสดงถึงการเคารพธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าจะช่วยปกป้อง นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภาคเกษตรกรรมและชีวิตประจำวันของประชาชน อีกทั้งแสดงถึงความหวังในการมุ่งผลผลิตทางการเกษตรที่ผูกพันตั้งแต่สายน้ำ ธรรมชาติ และการค้าขายส่งออกต่างประเทศอีกด้วย

ข้อมูลจาก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันพืชมงคลพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพิธีไถหว่านพระราชพิธีพืชมงคลวันพืชมงคล 2568คติพราหมณ์-ฮินดูความเชื่อพระโคพระโคพระโคแรกนาขวัญ
นุดี กฤชโอภาส
ผู้เขียน: นุดี กฤชโอภาส

นักเล่าเรื่องดิจิทัลสายคาเฟอีน 🍃รักการสืบค้นและสรุปข้อมูล เพิ่งตกหลุมรักมัทฉะไปหมาด ๆ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด