วันนี้ (24 เม.ย.2568) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ นายอริยะ เชื้อชม ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ และนายเทอดไทย ขวัญทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 แถลงข่าวกรณีจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การจัดเก็บและใช้เงินรายได้ รวมทั้งการขับเคลื่อนใช้ ระบบ E-Ticket หลังถูกตั้งคำถามปมจัดซื้อเรือ วงเงิน 245 ล้านบาท รวมทั้งนักวิชาการและหลายภาคส่วนเสนอให้นำมาใช้อย่างครอบคลุมมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาทุจริต

อธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 1 ต.ค.2567 - 20 เม.ย.2568 มีนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 11.74 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.36 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สามารถจัดเก็บรายได้ 1,551 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6
ขณะที่การใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติในปีงบประมาณ 2568 อยู่ในกรอบวงเงิน 2,199 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำร้อยละ 68.93 หรือ 1,400 กว่าล้านบาท และรายจ่ายตามภารกิจร้อยละ 31.07 ปัจจุบันได้อนุมัติใช้จ่ายไปแล้วร้อยละ 99.19 ของงบประมาณทั้งหมด
นายอรรถพล ขอความร่วมมือให้ทุกคนซื้อตั๋วผ่านระบบ E-Ticket ซึ่งสามารถเก็บรายละเอียดข้อมูลนักท่องเที่ยว ทั้งสัญชาติ กลุ่มอายุ นำไปใช้ประมวลผลเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่
ถ้าเงินรายได้มากขึ้นก็จะเพิ่มสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่ ผลักดันเงินเดือนขึ้น เพราะเขาทำงานหนักมาก เหนื่อยทุกวัน ดูแลนักท่องเที่ยว ยืนยัน 100% จะไม่ยอมปล่อยให้เงินรั่วไหลอย่างเด็ดขาด และจะไม่นิ่งนอนใจถ้าพบว่ามีการทุจริต

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาเงินรั่วไหล คือ การทำระบบ E-Ticket แบบ 100% ซึ่งจะดำเนินการภายใน 15 ต.ค.นี้ นำร่อง 6 อุทยาน คือ อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี, อุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน, อุทยานฯ อ่าวพังงา, อุทยานฯ ธารโบกขรณี, อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ โดยจัดลำดับจากอุทยานฯ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาก และมีการจัดเก็บรายได้สูง
ส่วนกรณีบริษัททัวร์หากจองตั๋วโดยแจ้งว่าเป็นคนไทย แต่วันเข้าพื้นที่กลับพบว่าเป็นชาวต่างชาติ ก็ต้องชำระเงินเพิ่ม หากไม่แจ้งก็ถือว่าเจตนาหลีกเลี่ยง และถือเป็นกระทำความผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบให้ละเอียด และปรับเงินผู้ประกอบการนำเที่ยวที่กระทำผิด รวมถึงขึ้นแบล็กลิสต์การเข้าพื้นที่
นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ว่ารู้เห็นกับผู้ประกอบการในการกระทำความผิดหรือไม่ โดยต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบทั้งส่วนกลางและในพื้นที่
ยัน "จัดซื้อเรือ" ไม่เอื้อเอกชน
ส่วนกรณีถูกพาดพิงเรื่องเรือยางลาดตระเวน ซึ่งจะมีการจัดซื้อในปีนี้ จำนวน 40 ลำ เพื่อใช้ในพื้นที่อุทยานทางบกและทางทะเล ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนร่าง TOR ซึ่งคุณสมบัติต้องเป็นเรือที่มีสรรถนะที่ดี ทำความเร็วได้ และบรรทุกคนได้พอสมควร ใช้ในภารกิจทั้งการตรวจสอบเรือที่ลอยลำอยู่ ตรวจตั๋ว และช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ หรือเกี่ยวข้องกับบริษัทไทยมารีน โดยเน้นย้ำเพียงให้ได้เรือที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ด้านนายอริยะ เชื้อชม ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบจัดเก็บรายได้อุทยานแห่งชาติ ว่า ปัจจุบันการจัดเก็บค่าบริการอุทยานแห่งชาติมี 2 รูปแบบ คือ การจ่ายด้วยเงินสด และระบบ E-Ticket ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2566 ในอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง คือ อุทยานฯ เขาใหญ่ อุทยานฯ ดอยอินทนนท์ อุทยานฯ เอราวัณ อุทยานฯ อ่าวพังงา อุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
ทั้งนี้ ระบบ E-Ticket ถูกพัฒนาต่อยอดจาก Application QueQ ที่ใช้สำหรับจองคิวเข้าอุทยานฯ ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะอุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ที่มีนักท่องเที่ยวมากถึง 1.9 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2567 คิดเป็นร้อยละ 10.3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และสร้างรายได้มากกว่า 629 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.5 ของรายได้อุทยานฯ ทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ระบบยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรือสัญญาณไม่เสถียร เช่น อ่าวมาหยา ต้องกลับมาใช้วิธีเก็บเงินสด นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังต้องผ่านขั้นตอนการกรอกข้อมูลและยืนยันตัวตนหลายขั้นตอน
กรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปีงบประมาณ 2567 ดำเนินโครงการจัดการระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ (E-National Park) ขยายช่องทางให้ใช้งานได้ทั้ง Mobile application และเว็บไซต์ พร้อมเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของกรมการปกครองผ่านแอปพลิเคชัน ThaiID เพื่อลดขั้นตอนการกรอกและยืนยันตัวตน นอกจากนี้ ระบบใหม่จะรองรับการชำระเงินผ่านเครื่อง EDC และ QR Code พร้อมจัดหาเครื่อง Scan บัตรค่าบริการทันสมัยให้ครบ 133 อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ

จ่อนัดผู้ประกอบการคุยระบบ E-Ticket
สำหรับปีงบประมาณ 2568 ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนาระบบ E-Service ที่ครอบคลุมการจองและจ่ายค่ากิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ เช่น การดำน้ำลึก จองที่พัก ลานกางเต็นท์ รวมถึงระบบการอนุญาตประกอบกิจการท่องเที่ยว และระบบการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ กรมอุทยานฯ ยังวางแผนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับระบบ E-National Park บริเวณทางเข้า ประกอบด้วย เครื่องตรวจเช็คและสแกน QR code ระบบกล้องวงจรปิด ท่าเทียบเรือลอยน้ำ ทุ่นจอดเรือ และทุ่นไข่ปลาเพื่อกันแนวพื้นที่กิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล
ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ยกตัวอย่างพื้นที่อ่าวมาหยา หรือเกาะพีพี ปัจจุบันเรือจะจอดเทียบชายหาด แต่ภายหลังพัฒนาระบบนี้แล้วจะมีท่าเทียบเรือยืนออกมา สปีดโบ๊ทจะส่งนักท่องเที่ยวที่ท่าเทียบเรือ ก่อนย้ายไปจอดที่ทุ่นจอดเรือเพื่อไม่ให้ทำลายแนวปะการัง ขณะที่นักท่องเที่ยวต้องเดินตามท่าเทียบเรือ ไปยังจุดเช็คพ้อยท์ สแกน QR code รวมทั้งมีตู้ซื้อตั๋วในกรณีไม่ได้ซื้อล่วงหน้าด้วย
ทั้งนี้ อุทยานฯ เตรียมนัดผู้ประกอบการหารือระบบการใช้งาน E-Ticket การลงทะเบียนด้วยใบหน้า รวมถึงการจอดเทียบท่าเข้าพื้นที่อุทยานฯ

ขณะที่นายเทอดไทย ขวัญทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานได้เร่งติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้ง 10 แห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเข้มข้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายฤดูการท่องเที่ยว ก่อนที่บางแห่งจะต้องปิดให้บริการเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
นอกจากนี้ จะมุ่งเน้นตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามากับการจองผ่านระบบ E-Ticket ทั้งประเภทไป-กลับ และกิจการดำน้ำลึก เปรียบเทียบกับจำนวนบัตรค่าบริการที่ผู้ประกอบการซื้อล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาในการปฏิบัติงาน เช่น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจนับนักท่องเที่ยวได้ทันเมื่อมีผู้เดินทางมาถึงพร้อมกันจำนวนมาก
ตรวจเข้มสวมสิทธิคนไทยซื้อตั๋วถูก
ส่วนกรณีการสวมบัตรซื้อตั๋วอุทยานฯ สิมิลัน ในราคาคนไทย อยู่ที่ 100 บาท แต่การเข้าพื้นที่จริงกลับพบว่าเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 500 บาทนั้น นายเทอดไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการจะลงทะเบียนซื้อตั๋วนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะไม่ทราบว่าเป็นคนไทย หรือชาวต่างชาติ แต่จะทราบเมื่อนักท่องเที่ยวลงเกาะแล้ว โดยจะตรวจสอบว่าตรงกับตั๋วหรือไม่ หากไม่ตรงก็ต้องผู้ประกอบการก็ต้องจ่ายค่าปรับ
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่สุ่มตรวจในช่วงเดือน เม.ย. ไม่พบปัญหานี้แล้ว แต่กรณีการซื้อตั๋วเกินหรือขาดนั้น พบไม่มาก มีประมาณ 1-2 คน
สำหรับการใช้จ่ายเงินอุทยานฯ ปี 2568 จำนวน 73 โครงการ วงเงิน 2,173 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินรายจ่ายประจำ 1497 ล้านบาท เช่น เงินจัดสรรคืนอุทยานฯ, โครงการบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป้องกันรักษาป่า 320 ล้านบาท, ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ 164 ล้านบาท, จัดซื้อครุภัณฑ์และติดตั้งทุน, สวัสดิการช่วยเหลือเจ้าหน้าที้ผู้พิทักษ์ป่า และรายจ่ายตามภารกิจ 675 ล้านบาท
อ่านข่าว : อุทยาน ปัดซื้อเรือลาดตระเวน 245 ล้านเอื้อเอกชน-นักการเมือง
นักวิชาการชี้ โซเชียลหนุน “ทราย สก๊อต” เพราะไม่เชื่อมั่นรัฐ แนะ “กรมอุทยานฯ” ใช้ E-Ticket แก้ทุจริต
เข้มผู้ประกอบการดำน้ำ ต้องมีผู้คุมนักท่องเที่ยว-ห้ามถ่ายภาพใต้น้ำ