ไข่ไก่นอกจากเป็นอาหารพื้นฐานที่คนไทยนิยมรับประทานกันมากที่สุด ยังเปรียบได้กับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจแบบง่ายที่ประชาชนสามารถรับรู้ได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องคอยควบคุมราคาไข่ไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป แต่ในปัจจุบันโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน รูปแบบการทำธุรกิจก็เปลี่ยนตาม ไข่ไก่จึงไม่อาจทำหน้าที่วัดภาพรวมทางเศรษฐกิจได้เหมือนแต่ก่อน

ประเด็นไข่ไก่กับเศรษฐกิจ เราสามารถจำแนกความสัมพันธ์ได้ออกเป็นหลายมิติ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในหลากหลายแง่มุม เช่น
- ไข่ไก่ในฐานะสินค้าเพื่อการบริโภค ไข่ไก่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาไม่แพงและเข้าถึงได้ง่าย ปัจจัยดังกล่าวทำให้ไข่ไก่เป็นส่วนสำคัญในอาหารประจำวันของคนผู้คนจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงของราคาไข่ไก่จึงส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ต้องการมื้อประหยัดในช่วงสิ้นเดือน ซึ่งจะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ถ้าไข่ไก่มีการขึ้นราคา
- ไข่ไก่ในฐานะสินค้าเกษตร การเลี้ยงไก่ไข่เป็นอาชีพของเกษตรกรจำนวนมากในประเทศไทย เป็นแหล่งรายได้ที่มีความสำคัญไม่ต่างไปจากข้าว ราคาไข่ไก่ที่ผันผวนจึงส่งผลโดยตรงต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร
- ไข่ไก่ในอุตสาหกรรมอาหาร ไข่ไก่เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภท เช่น เบเกอรี่ ขนมหวาน อาหารสำเร็จรูป การเปลี่ยนแปลงของราคาไข่ไก่จึงส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งจะกระทบต่อไปยังผู้บริโภคอีกที
ย้อนอดีตความสัมพันธ์ระหว่างไข่ไก่กับเศรษฐกิจ
ไข่นายกคือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจแบบง่ายที่มักจะถูกพูดถึงควบคู่ไปกับปัญหาเศรษฐกิจ แม้จะไม่ใช่ดัชนีทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ แต่ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าใจได้ถึงภาวะค่าครองชีพจากราคาไข่ไก่ เช่น

- ไข่ทักษิณ (2544-2549) ไข่ทักษิณเป็นช่วงที่ราคาไข่ไก่มีความผันผวนอย่างหนัก ราคาตกต่ำเหลือประมาณฟองละ 1.55 บาท เกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่ได้รับผลกระทบจนต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ หลังจากนั้นราคาไข่ไก่เพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องมาจากการระบาดของไข้หวัดนกราคาประมาณฟองละ 3.20 บาท
- ไข่มาร์ค (2551-2554) ไข่มาร์คไต่ระดับราคาสูงขึ้นกว่าไข่ทักษิณ ในบางช่วงราคาฟองละ 3.30 บาท ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ รัฐบาลมาร์คจึงหาทางออกด้วยการขายไข่แบบชั่งกิโลขาย ซึ่งก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเพราะไข่อาจแตกได้ในระหว่างการขาย
- ไข่ลุงตู่ (2557-2566) ไข่ยุคลุงตู่ เคยถูกขนานนามว่าเป็นยุคไข่สวิงเพราะมีช่วงที่ราคาตกต่ำถึงฟองละ 2.40 บาท และราคาสูงถึงฟองละ 4 บาท สืบเนื่องมากจากต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ร้านค้าบางส่วนพยายามตรึงราคาขายด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้กระทบกับยอดขาย
- ไข่อุ้งอิ้ง (2567-ปัจจุบัน) ล่าสุดกับไข่อุ้งอิ้งที่เพิ่งมีการปรับขึ้นราคาเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ประมาณ 3.40 บาทต่อฟอง ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เริ่มสูงขึ้นทำให้มีความกังวลเกิดขึ้นตามมา คงต้องรอดูกันต่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมารับมืออย่างไร
ผลกระทบจากราคาไข่ไก่ วัดฝีมือรัฐบาล
จากความสัมพันธ์ระหว่างไข่ไก่กับเศรษฐกิจที่ได้กล่าวไป ทำให้เราสามารถจำแนกผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในยามที่ไข่ไก่ขึ้นราคา เช่น

- อัตราเงินเฟ้อสูง เมื่อสินค้ามีราคาสูง โดยทั่วไปแล้วอัตราเงินเฟ้อก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อคือ อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ย ดังนั้นการที่ราคาสินค้าที่สูงขึ้นจึงเป็นองค์ประกอบหลักในการรับรู้ถึงภาวะเงินเฟ้อ
- กำลังซื้อหดตัว หากไข่ไก่มีราคาที่สูงขึ้นกว่าปกติ ผู้บริโภคอาจจำเป็นต้องลดการบริโภค หรือบริโภคในจำนวนน้อย หรือหันไปบริโภคสินค้าอื่นทดแทน ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อโดยรวม และแน่นอนว่าถ้าไข่ไก่มีราคาถูกกำลังซื้อก็จะมีเพิ่มมากขึ้น
- การเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อราคาไข่ไก่มีความไม่แน่ไม่นอน ก็อาจส่งผลกระทบต่อไปยังการการเติบทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมที่อาจหยุดชะงัก
เห็นผลกระทบขนาดนี้ คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่าราคาไข่เป็นดังสิ่งที่วัดฝีมือของรัฐบาล เพราะเป็นสินค้าขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อประชาชน ทำให้ราคาไข่ถูกจับตามองในทุกยุคทุกสมัย
ปัจจัยที่เปลี่ยนไป ราคาไข่ไก่อาจไม่สามารถวัดภาพรวมทางเศรษฐกิจได้เหมือนแต่ก่อน
แน่นอนว่าปัจจัยทางด้านราคายังคงเป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันราคาไข่ไก่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สร้างกำลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงกว่าแต่ก่อน ทำให้ราคาไข่อาจไม่ได้เป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจแบบง่ายอย่างที่เคยเป็นมา

- สภาพอากาศ อากาศที่ร้อนจัดทำให้ไก่กินอาหารน้อยลง ออกไข่น้อยลง ปริมาณไข่ลดลง มักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในฤดูร้อน ซึ่งเป็นปัจจัยที่วางแผนรับมือควบคุมได้ เพราะเราสามารถคาดการณ์สภาพอากาศได้ล่วงหน้า แต่ในปัจจุบันสภาวะโลกร้อนทำให้อากาศแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา การวางแผนรับมือจึงเป็นเรื่องยาก สภาพอากาศเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไก่สามารถหยุดออกไข่ได้เป็นสัปดาห์หรือเสียชีวิตเพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัดติดต่อกัน ไหนจะพายุฝน น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- โรคระบาด เป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างวิกฤตไข้หวัดนกที่ผ่านมาก็นำพาราคาไข่ไก่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบันโรคไก่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้จะไม่รุนแรงมากเท่าไข้หวักนก แต่ก็เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนไก่ต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก และบางโรคก็เป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ยังไม่มียารักษา หรือถ้ามีก็มีราคาที่สูงจนเกินไป
- กลุ่มทุนรายใหญ่ ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในปัจจุบันกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้เข้ามาบริหารจัดการการผลิตไข่ไก่อย่างเต็มตัว ด้วยการควบคุมดูแลการผลิตแบบครบวงจร เป็นทั้งเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ ผลิตและจำหน่ายอาหารไก่ ผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคไก่ รวมไปถึงการจำหน่ายไข่ไก่ เรียกได้ว่าครบจบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ส่งผลให้มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคา จนอาจทำให้ราคาไข่ไก่ไม่ได้เป็นไปตามกลไกทางการตลาด
แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ว่าราคาไข่ไก่จะท้อนภาพรวมทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ก็ตาม ไข่ไก่ก็ยังคงเป็นสินค้าบริโภคพื้นฐานที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นราคาที่ผันผวนจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพโดยตรง การขยับราคาขึ้นลงแม้เพียงนิดเดียวก็สามารถสร้างภาระแก่ประชาชนให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการบริการจัดการที่ดี การควบคุมราคาสินค้า คือสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้เพิ่มมากขึ้นเท่าใด รัฐบาลที่ดีสมควรที่จะบริหารจัดการราคาไข่ไก่ให้มีเสถียรภาพ
อ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับ 'ไข่ไก่' จากเครือ Thai PBS
- สมาคมเครือข่ายสหกรณ์ ประกาศราคาไข่ไก่ปรับขึ้นฟองละ 20 สตางค์
- ผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาไข่ไก่เพียงแค่นิดเดียว
- ทำความเข้าใจ “เงินเฟ้อ” เพื่อบริหาร “มูลค่าเงิน” ในกระเป๋าสตางค์
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW