ช่วงนี้ “พายุฤดูร้อน” (Thunderstorms) เกิดขึ้นในบ้านเราหลายพื้นที่ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำ 6 สัญญาณสังเกต เพื่อป้องกัน-ดูแลชีวิตและทรัพย์สินจากอันตรายของพายุฤดูร้อน
6 สัญญาณบ่งบอกกำลังจะเกิด “พายุฤดูร้อน” ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ดังนี้ว่า
1. ในพื้นที่นั้นมีสภาพอากาศจะร้อนอบ อ้าวติดต่อกันหลายๆวัน อุณหภูมิกลางแจ้งกลางวัน 40 องศาเซลเซียสขึ้น
2. มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศจะมีมากกว่า 70% อากาศร้อนและความชื้นมากทำให้เกิดการเหนียวตัว ร้อนอบอ้าวอย่างมาก
3. ท้องฟ้าขมุกขมัว มีเมฆมาก เมฆจะลอยสูงและมีสีเทาเข้ม
4. ลมค่อนข้างสงบนิ่งในช่วงที่อากาศอบอ้าว
5. ต่อมาลมจะพัดแรงขึ้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งก่อนที่เมฆจะก่อตัวขึ้นหนาแน่นอย่างรวดเร็ว จนเกิดฟ้าแลบ และฝนตกปรอย ๆ
6.จะมีฝนฟ้าคะนองมาจากระยะไกล ลมพัดตามมาอย่างรุนแรง ฝนจะตก หนักประมาณ 1ชั่วโมง เมื่อพายุและฝนหยุดลง อากาศเย็นขึ้น ท้องฟ้าแจ่มใสทัศนวิสัยดีขึ้น
ชวนรู้จัก “พายุฤดูร้อน” (Thunderstorms) เกิดจากอะไร ?
ช่วงนี้ “พายุฤดูร้อน” มักมีในคำ “พยากรณ์อากาศ” โดย “กรมอุตุนิยมวิทยา” แทบจะรายวัน แล้วคำดังกล่าวที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Thunderstorms” นั้นเกิดจากอะไร ทำไม ? จึงเกิดช่วงนี้ แล้วส่งผลกับเราอย่างไรบ้าง บทความนี้หาคำตอบมาให้แล้ว
“พายุฤดูร้อน” คืออะไร ?
จากการให้ความรู้โดย “กรมอุตุนิยมวิทยา” ให้ความหมายดังนี้ “พายุฤดูร้อน” หรือ “พายุฟ้าคะนอง” (Thunderstorm) เป็นพายุที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน มักเกิดในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคมหรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน “พายุฤดูร้อน” นั้นจะทำให้การหมุนเวียนของอากาศ แปรปรวนอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ลมพายุกระโชกแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าเกิดขึ้น หรือในบางครั้งอาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย
ฝนที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนมักจะตกไม่นาน บางครั้งเกิดขึ้นเพียง 15-30 นาที และเกิดขึ้นในพื้นที่แคบ ๆ ประมาณ 10-20 ตารางกิโลเมตร
📌 อ่านต่อ : www.thaipbs.or.th/now/content/882
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ดร.สนธิ คชวัฒน์
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech