ในเดือนเมษายน 2025 ทั่วโลกต่างให้ความสนใจต่อข่าวการสิ้นพระชนม์ของ ‘โป๊ปฟรานซิส’ และการสรรหาโป๊ปองค์ต่อไป แต่หากกลับมาดูพระชีวประวัติของโป๊ปฟรานซิสนั้น หลายคนอาจจะยังไม่รู้เรื่องราวของพระองค์และ ‘โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16’ ที่เคยถูกนำไปสร้างเป็นหนังมาแล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างโป๊ปฟรานซิส (Pope Francis – ค.ศ. 1936-2025) และโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 (Pope Benedict XVI – ค .ศ. 1927-2022) ได้รับความสนใจจากทั่วโลกมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากโป๊ปทั้งสองพระองค์ทรงต่างมีพระดำริเกี่ยวกับศาสนจักร (the Church) ในศตวรรษที่ 21 ต่างกัน “คนละขั้ว” ก็ว่าได้
อันที่จริง พระคาร์ดินัลโจเซฟ แรดซิงเกอร์ (Joseph Ratzinger - พระนามเดิมของเบเนดิกต์ที่ 16) จากเยอรมนี และพระคาร์ดินัล ฮอร์เฮ มาริโอ เบร์โกกลิโอ (Jorge Mario Bergoglio - พระนามเดิมของฟรานซิส) จากอาร์เจนตินา ต่างมีสิทธิรับตำแหน่งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาปี ค.ศ. 2005 (2005 papal conclave) หลังจากที่โป๊ปจอห์น พอลที่ 2 (Pope John Paul II – ค.ศ. 1920-2005) สิ้นพระชนม์ แต่สุดท้าย เป็นพระคาร์ดินัลแรดซิงเกอร์ที่ได้รับเลือกให้เป็นโป๊ปพระองค์ใหม่
จนกระทั่งปี ค.ศ. 2013 โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละตำแหน่งเนื่องจากปัญหาพระวรกาย ถือเป็นโป๊ปพระองค์แรกในรอบเกือบ 600 ปีที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงสละตำแหน่งขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพนับจากโป๊ปเกรกอรีที่ 12 (Pope Gregory XII – ค.ศ. 1326-1417) และพระคาร์ดินัลเบร์โกกลีโอก็ได้รับเลือกให้เป็นโป๊ปพระองค์ใหม่ในพระนาม ‘ฟรานซิส’ ซึ่งมาจากชื่อของฟรังซิสแห่งอัสซีซี (Francis of Assisi – ค.ศ. 1181-1226) นักบุญของผู้ยากไร้
ในแง่หนึ่ง ช่วงเปลี่ยนผ่านตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปา ณ ตอนนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงอุดมการณ์ของคริสตจักรโรมันคาทอลิกด้วย เพราะโลกมองเบเนดิกต์ที่ 16 ว่าทรงเป็น “โป๊ปอนุรักษนิยม” ขณะที่ฟรานซิสนั้นทรงถูกมองว่าเป็น “โป๊ปหัวก้าวหน้า” จึงเกิดคำถามว่า ความสัมพันธ์ของโป๊ปทั้ง 2 พระองค์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้นจะเป็นเช่นไร
1 ยุคสมัย โป๊ป 2 พระองค์ ?
แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะจดจำเบเนดิกต์ที่ 16 ได้ในฐานะโป๊ปอนุรักษนิยม แต่ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษที่ 1960 เบเนดิกต์ที่ 16 ในพระนามเดิมแรดซิงเกอร์นั้น ทรงมีแนวคิดเปิดกว้างและเป็นเสรีนิยม เช่น ระหว่างสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (Second Vatican Council) ในปี ค.ศ. 1962 พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเทววิทยา และมีส่วนร่วมในการตั้งถามต่อบทบาทศาสนจักรที่ถูกมองว่า “หยุดอยู่กับที่” พระองค์ทรงรำลึกความเมื่อปี ค.ศ. 2022 ไว้ว่า การสังคายนาครั้งนั้น “จำเป็น” และ “มีความหมาย” อย่างมากต่ออนาคตของคริสตจักรโรมันคาทอลิก
แต่มุมมองของบาทหลวงแรดซิงเกอร์เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงหลังจากที่ท่านรับหน้าที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย University of Tübingen ทางตอนใต้ของเยอรมนี เพราะนักเรียนสาขาเทววิทยาที่นั่นวิพากษ์วิจารณ์ถึงพันธสัญญาใหม่ (New Testament) สัญลักษณ์พระเยซูบนกางเขน และพระเจ้า (God) อย่างสุดโต่ง บาทหลวงแรดซิงเกอร์เห็นว่า อุดมการณ์สุดโต่งที่อ้างศาสนาเช่นนี้กำลังบ่อนทำลายความศรัทธา
นับตั้งแต่นั้น ท่านได้ผันตนเองมาเป็นพระอนุรักษนิยมที่ยึดกับหลักคำสอนดั้งเดิม และมองว่า มีเพียงคริสตจักรโรมันคาทอลิกเท่านั้นที่จะปกป้อง ‘ความจริงสูงสุดจากพระเจ้า (divine truth)’ ได้ เมื่อได้ขึ้นเป็นพระสันตะปาปา โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 จึงไม่มีพระดำริที่จะปฏิรูปศาสนจักรให้ “ทันสมัย” มากนัก ทั้งนี้ พระองค์ทรงพระวิริยะที่จะจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในศาสนจักร ซึ่งกลายเป็นวิกฤตนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990

ส่วนพระชีวประวัติของโป๊ปฟรานซิสนั้น แม้พระองค์จะเคยถูกตั้งคำถามว่าเป็น “อนุรักษสุดขั้ว” หรือไม่ในยุค “สงครามสกปรก (Dirty War - ค.ศ. 1976-1983)” ครั้นที่พระองค์ยังทรงเป็นหัวหน้าคณะเยสุอิตในอาร์เจนตินา และทรงไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง แต่ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น พระองค์ทรงยึดมั่นที่จะทำให้ศาสนาเรียบง่ายมากขึ้นและโอบรับคนทุกกลุ่ม – โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ไม่กี่วันหลังจากทรงขึ้นเป็นพระสันตะปาปา โป๊ปฟรานซิสทรงพระดำรัสว่า “ข้าพเจ้าประสงค์ศาสนจักรอันเรียบง่ายและขัดสน เพื่อผู้ขัดสนเสียจริง”
โป๊ปฟรานซิสทรงมีพระดำริที่เปิดกว้างและทันสมัยในหลายประเด็น เช่น พระองค์ทรงยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ทรงปฏิรูปโครงสร้างการบริหารและสร้างความโปร่งใสภายในสำนักวาติกันอย่างจริงจัง ทรงเห็นพระทัยกลุ่มผู้อพยพที่ตกทุกข์ได้ยาก ทรงเรียกร้องให้นานาประเทศแก้ไขภาวะโลกรวน รวมถึงทรงเรียกร้องสันติภาพและการเลิกเข่นฆ่าในสงครามยูเครน-รัสเซีย และสงครามกาซา ขณะเดียวกัน พระวิริยะของโป๊ปฟรานซิสในการปฏิรูปศาสนจักรก็อาจทำให้คณะสงฆ์กลุ่มอนุรักษนิยมไม่พอใจด้วย
จากจุดยืนของพระสันตะปาปาทั้ง 2 พระองค์ ทำให้เกิดความคิดที่ว่า เบเนดิกต์ที่ 16 และฟรานซิสทรงเป็น “คู่แข่งทางอำนาจ” กันหรือเปล่า และบางครั้ง ก็มีข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดว่า เบเนดิกต์ที่ 16 ยังทรงมีอำนาจในวาติกัน – โดยเฉพาะในหมู่พระสงฆ์สายอนุรักษนิยม – แม้พระองค์จะทรงสละตำแหน่งโป๊ปไปแล้วก็ตาม ยกตัวอย่างในปี ค.ศ. 2020 อดีตโป๊ปเบเนดิกต์ทรงพระดำรัสในหนังสือ ‘From the Depths of Our Hearts’ ของพระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ซาราห์ (Cardinal Robert Sarah) ว่า พระองค์ทรงสนับสนุนแนวคิด “การครองตนเป็นโสดของนักบวช (priestly celibacy)” ซึ่งประจวบพอดีกับช่วงเวลาที่โป๊ปฟรานซิสกำลังทรงพิจารณถึงการยกเลิกข้อจำกัดการแต่งงานของพระสงฆ์ในพื้นที่ชนบทห่างไกล
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้น ความสัมพันธ์ของพระสันตะปาปาทั้ง 2 พระองค์นั้น อาจเรียกได้ว่าเป็น “มิตรภาพ” เสียมากกว่า
มิตรภาพระหว่าง ‘โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16-โป๊ปฟรานซิส’
แม้โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 และโป๊ปฟรานซิสจะทรงยืนอยู่บนแนวคิดทางศาสนาอันแตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 พระองค์ทรงต่างแสดงความเคารพและความชื่นชมต่อกันและกันมาตลอด จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แอนโทนี แมคคาร์เทน (Anthony McCarten) นักประพันธ์และผู้สร้างภาพยนตร์ชาวอังกฤษ เขียนบทละครเวทีเรื่อง ‘The Pope’ ซึ่งต่อมาได้ถูกพัฒนาเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Two Popes’ ในปี ค.ศ. 2019

ระหว่างที่ให้โอวาทครั้งแรกในฐานะสมเด็จพระสันตะปาปา โป๊ปฟรานซิสทรงเอ่ยถึงพระนามของอดีตโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 และมีรับสั่งแก่คริสต์ศาสนิกชนหน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ว่า “พวกเราจงสวดมนต์ให้แก่ท่าน [เบเนดิกต์ที่ 16] ขอพระเจ้าทรงอำนวยพรแก่ท่าน และขอพระแม่ของพวกเราพิทักษ์รักษาท่าน”
โป๊ปฟรานซิสทรงยกย่องโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ในฐานะ “บิดา” ของพระองค์ ในปี ค.ศ. 2022 พระองค์ทรงชื่นชมอดีตโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ในฐานะ “ผู้นำ” องค์แรกที่แก้วิกฤตคดีล่วงละเมิดทางเพศในศาสนจักร หรือเมื่อปี ค.ศ. 2024 โป๊ปฟรานซิสประทานสัมภาษณ์ในหนังสือ ‘The Successor’ โดยทรงพระดำรัสไว้ว่า:
“[ท่านเบเนดิกต์ที่ 16] ปล่อยให้ข้าพเจ้าได้เติบโตและตัดสินใจด้วยตนเอง ท่านมีความอดทนยิ่ง และหากท่านไม่เห็นด้วยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ท่านจะทบทวนไตร่ตรอง 3-4 ครั้งก่อนที่จะบอกข้าพเจ้า”
นอกจากนี้ โป๊ปฟรานซิสทรงแสดงความเห็นพระทัยต่อสถานการณ์ที่เบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเผชิญโดยเฉพาะในช่วงที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งไว้ว่า:
“ท่านเบเนดิกต์เป็นบุรุษแห่งความอ่อนโยนยิ่ง แต่ในบางครั้ง ผู้คนกลับเอารัดเอาเปรียบท่านโดยอาจไม่มีเจตนาร้ายใด ๆ และจำกัดท่าทีของท่าน โชคร้ายเสียจริงที่ในแง่หนึ่งนั้น พวกเขากำลังตีวงจำกัดท่านไว้อยู่ ท่านเป็นผู้ที่ละเอียดอ่อนยิ่ง แต่ท่านไม่ได้อ่อนแอ ท่านเข้มแข็งและนอบน้อม แต่ไม่ฝืนบังคับผู้ใด ดังนั้น ท่านจึงทุกข์ทรมานมาก”
นอกจากนี้ มีการกล่าวว่า ก่อนที่โป๊ปฟรานซิสจะเสด็จไปปฏิบัติพระกรณียกิจในต่างประเทศทุกครั้ง พระองค์จะเสด็จเยี่ยมอดีดโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 เสมอ จวบจนถึงวาระสุดท้ายในพระชนม์ชีพของโป๊ปเบเดดิกต์ที่ 16 ผู้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 31 ธ.ค. ค.ศ. 2022
ท่ามกลางข่าวลือต่าง ๆ ที่ว่าเบเนดิกต์ที่ 16 ยังทรงมีอิทธิพลในศาสนจักรอยู่แม้จะสละตำแหน่งโป๊ปไปแล้ว พระองค์ทรงออกมายืนยันแก่นิตยสาร Corriere Della Sera เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019 ว่า “มีพระสันตะปาปาเพียงผู้เดียว และท่านผู้นั้นคือท่านฟรานซิส” และพระองค์ทรงพระดำรัสว่า ตลอดเวลานับหลายศตวรรษ เอกภาพของคริสตจักรโรมันคาทอลิกต้องสั่นคลอนและตกอยู่ในอันตรายจากภัยทั้งหลาย เช่น สงครามและความขัดแย้งต่าง ๆ
“แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความตระหนักว่าศาสนจักรมีเอกภาพและต้องมีเอกภาพนั้น ทรงพลังเหนือทุกสิ่งเสมอมา และเอกภาพนี้แข็งแกร่งกว่าความขัดแย้งภายในและสงครามทั้งปวง” - พระดำรัสของอดีตโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ในปี ค.ศ. 2019
ในปี ค.ศ. 2016 ระหว่างการฉลองครบ 65 ปีพระสังฆภาพ หรือการบวชเป็นสงฆ์ของอดีตโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 พระองค์ทรงมีพระดำรัสว่า พระองค์ทรงประทับพระทัยใน “ความดี” ของโป๊ปฟรานซิสนับตั้งแต่การเลือกตั้งพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 2013 และความดีของฟรานซิสก็ค้ำจุนพระจิตภายในของอดีตโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 อย่างยิ่ง และทรงพระดำรัสต่อว่า:
“แม้สวนวาติกันจะงดงามเพียงใด ก็ไม่ใช่บ้านที่แท้จริงของข้าพเจ้า บ้านที่แท้จริงของข้าพเจ้าคือความดีของท่าน [โป๊ปฟรานซิส] ที่ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกปลอดภัย”

จากที่กล่าวมาทั้งหมด พระประวัติของโป๊ปฟรานซิสและโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 จึงอาจเป็นบทเรียนแก่ผู้คนในทุกศาสนาและความเชื่อได้ แม้จุดยืนทางความคิดจะต่างกัน แต่สมเด็จพระสันตะปาปาทั้ง 2 พระองค์ทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ทุกคนบนโลกสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ เพียงมองเห็นข้อดีและมีความเคารพซึ่งกันและกัน
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ ‘โป๊ปฟรานซิส’ จากเครือ Thai PBS
- รู้จัก “ซิสเตอร์อานา” พระญาติหนึ่งเดียวของ “โป๊ปฟรานซิส” ในประเทศไทย | Thai PBS NOW
- 6 คำสอนอบอุ่นหัวใจจาก "พระสันตะปาปาฟรานซิส" สู่ดวงใจเล็ก ๆ ของเด็ก | Thai PBS for Kids and Learning
- รู้จักพิธีเก่าแก่พันปี เลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ | ทันโลก Special
- ภัยเงียบ! "นิวโมเนีย" โรคร้ายพรากชีวิต “โป๊ปฟรานซิส” | Thai PBS News
อ้างอิง
- BBC News, The Pope: Journey from liberal to conservative
- The Catholic Herald, Benedict XVI: There is only one Pope – Francis
- Catholic News Agency, The relationship between Pope Emeritus Benedict XVI and Pope Francis
- The Conversation, ‘The Two Popes’ is beautifully set – but the film’s omissions left me with a taste of exclusion
- The New York Times, Dueling Popes? Maybe. Dueling Views in a Divided Church? Definitely.
- The New York Times, Two Popes, and One Big Furor After Benedict Weighs in on Priestly Celibacy
- Slate, What’s Fact and What’s Fiction in The Two Popes
- Time, The True Story Behind the Movie The Two Popes
- Vatican, Address of His Holiness Pope Francis and of Pope Emeritus Benedict XVI (28 June 2016)
- Vatican, Apostolic Blessing "Urbi Et Orbi" First Greeting of the Holy Father Pope Francis
- Vatican News, Benedict XVI: Vatican II was both meaningful and necessary
- Vatican News, Pope Francis remembers Benedict XVI in new book: ‘He was like a father to me’
เครดิตภาพปก: HO/Osservatore Romano/AFP
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW: www.thaipbs.or.th/now
