ช่วงนี้อุณหภูมิพุ่ง อากาศร้อนจัด แดดแรงมาก จนอาจเกิด Extreme Heat ร้อนสุดขั้ว ตากแดดนาน ร่างกายอาจ Over Heat และ Shutdown ด้วย Heat Stroke ได้ ด้วยความห่วงใย Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำความรู้ในเรื่องนี้มาให้ได้ทราบและเข้าใจ สู่การหาวิธีดูแลตัวเอง – รักษาอุณหภูมิร่างกายไม่ให้สูงจนเกินไป
ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความรู้เรื่อง Extreme Heat ร้อนสุดขั้ว ตากแดดนาน ร่างกายอาจ Over Heat ผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ดังนี้
1. วันที่ 27 เม.ย. 68 ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับกรุงเทพฯ เวลา 12.16 น. วัตถุกลางแดดจะดูเสมือนไร้เงา อยู่ตรงศีรษะพอดี ร้อนตับแลบแน่ อยู่กลางแดดนานอาจเกิดอาการลมแดดหรือ Heat Stroke ถึงตายได้
2. ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนทิศทางของลมจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกลับทิศเป็นลมมรสุมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้แทน และเป็นช่วงที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์โดยเฉพาะในเดือนเมษายนดวงอาทิตย์จะอยู่เกือบตรงศีรษะในช่วงเวลาเที่ยงวันทำให้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่โดยอาจจะมีอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ขณะที่ในบรรยากาศจะมีความชื้นสัมพัทธ์สูงมากกว่าปกติด้วยเช่นกัน
เนื่องจากมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดมาจากทะเลนำพาความชื้นมาด้วย สภาพอากาศจึงร้อนอบอ้าว บางแห่งมีพายุฤดูร้อนด้วย ค่าดัชนีความร้อนหรือค่าความร้อนที่ร่างกายรับรู้จะมีค่าสูงมากเกินกว่า 50 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย อาจเกิดอาการลมแดดหรือ Heat Stroke ถึงตายได้
3. รู้สึกอากาศร้อนมากในเดือนเมษายนนี้สาเหตุจากอะไร ? และควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ประเทศไทยเดือนเมษายนอากาศร้อนมากแต่เราจะรู้สึกว่าร้อนมากกว่าปรกติจนแทบทนไม่ได้เนื่องจาก
- อุณหภูมิอากาศในเดือนเมษายนในช่วงเวลากลางวันอยู่ระหว่าง 36-40 องศาเซลเซียส ขณะที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศก็สูงถึง 60% ซึ่งจะเกิดอะไรขึ้นถ้าอากาศร้อนและในอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์สูง คำตอบคือ ยิ่งความชื้นสัมพัทธ์สูงมากจะยิ่งระบายความร้อนได้ยากขึ้น เพราะปกติร่างกายเราจะขับเหงื่อออกมาเพื่อระบายความร้อนแต่เมื่ออากาศร้อนด้วยและมีความชื้นด้วย ยิ่งทำให้ไม่สามารถขับเหงื่อเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเย็นลงได้ จึงรู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริงนั่นเอง เป็นที่มาของการเกิดความร้อนสะสมในร่างกายจนอาจเกิดการไม่สบาย อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เวียนศีรษะ เป็นตะคริว เป็นลมแดดหรืออาการ Heat Stroke ได้
- การวัดว่าร่างกายเราสะสมความร้อนเท่าไหร่ จะวัดเป็นค่าดัชนีระดับความร้อน (Heat Index Temperature) หมายถึง สภาวะที่ทำให้ร่างกายรู้สึกร้อนขึ้นมากกว่าอุณหภูมิอากาศจริงที่วัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์ ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์กันระหว่างอุณหภูมิของอากาศกับความชื้นสัมพัทธ์ทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาไม่ได้จึงเกิดความร้อนสะสมในร่างกาย เช่น อุณหภูมิในอากาศ 38 องศาเซลเซียส ขณะที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 60% เทียบกับตารางแล้วจะมีดัชนีระดับความร้อนถึง 54 องศาเซลเซียส มีโอกาสเป็นลมแดดหรือ Heat Stroke สูงมาก
- โรคลมแดด คือภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายมีค่าดัชนีความร้อนสูงเกิน 54.0 องศาเซลเซียส สาเหตุเกิดจากการที่ไปอยู่ในสถานที่มีอุณหภูมิร้อนมาก ๆ และร่างกายไม่สามา รถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัว ใจ และไต เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
หน้าร้อน ! รู้จัก Heat Stroke อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม รู้จักวิธีป้องกันและรักษา
Heat Stroke หรือโรคลมแดด เป็นหนึ่งในภาวะอันตรายจากความร้อนที่ร้ายแรงที่สุดในสัตว์เลือดอุ่นอย่างมนุษย์ หากปฐมพยาบาลและรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยจะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงจนน่าตกใจ ในบางช่วงอายุ ผู้ป่วย Heat Stroke มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 50% และแม้จะรอดชีวิต ก็อาจมีอาการแทรกซ้อนหรือความพิการตามมา
การรักษา Heat Stroke ที่ดีที่สุดหลัก ๆ อยู่ที่การป้องกันไม่ให้เกิด Heat Stroke แต่แรก เนื่องจากผู้ป่วย Heat Stroke มักจะอยู่ในภาวะวิกฤตแล้วเมื่อถึงมือทีมแพทย์ และการรักษาทำได้เพียงการประคองผู้ป่วยไม่ให้อาการทรุดลงไปมากกว่าเดิม การฟื้นตัวจึงขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยด้วย
Heat Stroke เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ (Hyperthermia) เป็นระยะเวลานาน โดยมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40.6 องศาเซลเซียส
ร่างกายของมนุษย์เป็นระบบดุลยภาพ หรืออยู่ในภาวะธำรงดุล (Homeostasis) กล่าวคือ ร่างกายเราจะรักษาสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ปริมาณ ปริมาณเกลือแร่ ฯลฯ ให้เหมาะสมกับการทำงานของร่างกาย เช่นนั้นแล้ว ร่างกายจะรักษาอุณหภูมิให้อยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียสตลอดเวลา
หากร่างกายสูญเสียความร้อน ระบบประสาทจะตอบสนองโดยการทำให้เรารู้สึกหนาวเพื่อหาที่ที่อุ่นขึ้น นับเป็นการตอบสนองทางพฤติกรรม (Behavioural Response) ในขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวเราสั่นเพื่อสร้างความร้อน (Motor Response) หากร่างกายเรามีอุณหภูมิสูงเกินไป ระบบประสาทก็จะตอบสนองโดยการทำให้เรารู้สึกร้อนเพื่อหาที่ที่เย็นขึ้น และในขณะเดียวกันก็สั่งให้ต่อมเหงื่อทำงานเพื่อระบายความร้อนด้วยเหงื่อ (Evaporative Cooling) เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย
ระบบรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้สมดุลนี้เรียกว่า “Thermoregulation”
📌อ่านต่อ : www.thaipbs.or.th/now/content/2506
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ดร.สนธิ คชวัฒน์
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech