ภารกิจประมวลผลภาพถ่ายจากดาวเทียมด้วยระบบ AI เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ประเมินความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว
เครื่องมือประเมินความเสียหายที่ขับเคลื่อนด้วย AI จาก Microsoft ถูกนำมาใช้ประเมินความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา โดยพบโครงสร้างที่ได้รับความเสียหายมากกว่า 2,000 แห่ง
หลังเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับภาพถ่ายจากดาวเทียมความละเอียดสูง ถูกนำมาใช้วิเคราะห์ความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ขนาดใหญ่หลายพันตารางกิโลเมตร ช่วยให้หน่วยงานกู้ภัยและองค์กรบรรเทาทุกข์สามารถระบุจุดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น การประมวลผลข้อมูลแบบอัตโนมัติจากอวกาศนี้ มีบทบาทสำคัญในการเร่งเวลาเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย ลดภาระในการสำรวจภาคพื้น และเพิ่มโอกาสในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้ทันเวลา
ที่ตั้งของประเทศเมียนมาอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น คือ แผ่นเปลือกโลกอินเดียและแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวเป็นพิเศษ เส้นแบ่งระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นนี้เรียกว่ารอยเลื่อนสะกาย ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ารอยเลื่อนนี้เป็นเส้นตรงยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร (745 ไมล์) จากเหนือจรดใต้ผ่านเมืองต่าง ๆ เช่น มัณฑะเลย์และย่างกุ้ง ทำให้ประชาชนหลายล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยง
3 วันหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเจ้าหน้าที่ได้บันทึกภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในจังหวะที่ฟ้าเปิด ภาพถ่ายดาวเทียมถูกส่งให้ระบบ AI ช่วยวิเคราะห์ต่อถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น โดย AI จะทำการค้นหาอาคารที่พังถล่มและได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
จากการวิเคราะห์พบว่าอาคาร 515 แห่งในเมืองมัณฑะเลย์ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้รับความเสียหายสูงถึง 80-100% ในขณะที่อีก 1,524 แห่งได้รับความเสียหายระหว่าง 20-80% ซึ่งนอกจากในเมืองมัณฑะเลย์แล้ว ในเมืองย่างกุ้งและมิงกุนก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเช่นกัน จากการวิเคราะห์ความเสียหายจากภาพถ่ายดาวเทียมทำให้เห็นว่าความร้ายแรงของภัยพิบัติเกิดขึ้นในวงกว้าง แต่ระบบ AI สามารถช่วยระบุตำแหน่งที่เกิดความเสียหายได้อย่างชัดเจน
ก่อนที่จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การประเมินความเสียหายหลังจากเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหวและน้ำท่วมนั้นต้องอาศัยการวิเคราะห์ภาคพื้นดิน ซึ่งวิธีการดังกล่าวใช้เวลาค่อนข้างมาก การพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ AI วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมจึงมีประโยชน์ต่อการใช้งานในสถานการณ์ภัยพิบัติเพื่อเร่งประเมินความเสียหายและเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: apnews, thehindu, indiatoday, bizzbuzz
ที่มาภาพ: apnews
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech