นักวิจัย MIT พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถพองลม "ยืด-หด" ได้ เพื่อช่วยทีมกู้ภัยในการค้นหาผู้รอดชีวิตในซากอาคาร และลดข้อจำกัดในการทำงานในพื้นที่เข้าถึงยาก
นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology – MIT) พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์พองลมที่มีลักษณะยืดหยุ่นและสามารถมุดลอดผ่านช่องแคบในซากตึกได้อย่างคล่องตัว เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยค้นหาผู้รอดชีวิตในจุดที่เข้าไม่ถึง เพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิต และลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
หุ่นยนต์พองลมนี้มีชื่อว่า "สเปราท์" (Sprout) ออกแบบมาให้เคลื่อนที่ผ่านช่องแคบ โดยอาศัยแรงดันอากาศในการพองตัวและหดตัวคล้ายหนอน หุ่นยนต์ทำจากวัสดุพอลิเมอร์น้ำหนักเบา แต่ทนทานต่อแรงกดทับ และสามารถปรับรูปร่างเพื่อเลื้อยผ่านซากปรักหักพังได้
หุ่นยนต์ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาของทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการ Distributed Robotics Lab ภายใต้สถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ของ MIT (MIT Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory – CSAIL) โดยมีแรงบันดาลใจจากลักษณะการเติบโตของเถาวัลย์ในธรรมชาติ
โดยหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ด้วยการพองตัวจากภายใน และใช้กลไกยืด-หดเพื่อผ่านช่องว่างแคบขนาดไม่ถึง 10 เซนติเมตรได้โดยไม่เสียรูปทรง นอกจากนี้ยังสามารถกลับทิศทางการเคลื่อนไหวได้อย่างนุ่มนวล โดยไม่สร้างแรงสั่นสะเทือนที่อาจส่งผลต่อโครงสร้างอาคารที่ไม่มั่นคงได้
เทคโนโลยีสำคัญของหุ่นยนต์คือระบบเซนเซอร์ที่ตรวจจับเสียงและการเคลื่อนไหวภายในซากอาคาร โดยเฉพาะเสียงเรียกช่วยหรือการเคาะจากผู้ติดอยู่ภายใน ทีมวิจัยเผยว่าหุ่นยนต์สามารถส่งสัญญาณภาพและเสียงกลับมายังทีมกู้ภัยแบบเรียลไทม์ผ่านกล้องและไมโครโฟนขนาดเล็กที่ติดตั้งอยู่ส่วนหัว ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ประสบภัย
และอีกหนึ่งความสามารถของหุ่นยนต์คือการทำงานร่วมกับโดรนกู้ภัย โดยให้โดรนปล่อยหุ่นยนต์จากอากาศลงสู่จุดเสี่ยงภัยก่อนที่มนุษย์จะเข้าไปถึงพื้นที่อันตราย นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังใช้พลังงานน้อยกว่าหุ่นยนต์แบบเดิม จึงเหมาะสำหรับภารกิจในพื้นที่ที่ขาดแคลนไฟฟ้า
ทีมวิจัยจาก MIT ยังระบุว่าหุ่นยนต์นี้ผ่านการทดสอบในสภาพแวดล้อมจำลองทั้งไฟไหม้และอาคารถล่ม จึงมีประสิทธิภาพในการค้นหาได้ค่อนข้างสูง ในอนาคตอาจพัฒนาต่อยอดให้ทำงานร่วมกับสุนัขกู้ภัยหรือหุ่นยนต์ขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น
หุ่นยนต์พองลม "สเปราท์" ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญในภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิต โดยเฉพาะในพื้นที่อันตรายที่มนุษย์และอุปกรณ์ทั่วไปเข้าไปไม่ถึง ด้วยความคล่องตัวและเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะ ทำให้หุ่นยนต์ช่วยเพิ่มโอกาสรอดให้กับผู้ประสบภัย และลดความเสี่ยงให้ทีมกู้ภัย ในอนาคตอาจเห็นการใช้งานร่วมกับโดรนหรือหุ่นยนต์อื่น ๆ เพื่อขยายขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติรุนแรงทั่วโลก
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: mit, interestingengineering, azorobotics, therobotreport
ที่มาภาพ: mit
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech