ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปะการังไทยกลับมาแล้ว! ทส.ฟื้นฟู 24 ไร่ สู้ฟอกขาวสำเร็จ

สิ่งแวดล้อม
22 เม.ย. 68
18:36
62
Logo Thai PBS
ปะการังไทยกลับมาแล้ว! ทส.ฟื้นฟู 24 ไร่ สู้ฟอกขาวสำเร็จ
ประเทศไทยฉลองความสำเร็จครั้งใหญ่ในการพลิกวิกฤตปะการังฟอกขาวปี 2567 ด้วยนโยบาย "ลด งด ช่วย" ทำให้ปะการังฟื้นตัวกว่า 60% พร้อมฟื้นฟู 24 ไร่ และอนุบาล 60,000 โคโลนีใน 7 จังหวัด

วันนี้ (22 เม.ย.2568) ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปัจจุบันว่า จากการเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เมื่อปี 2567 ซึ่งมีสาเหตุจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น บางส่วนมีตะกอนทับถมในแนวปะการัง จึงส่งผลให้ปะการังเกิดความเครียดสูง ทำให้ปะการังขับสาหร่ายซูแซนเทลลีออกจากตัวปะการัง เมื่อสูญเสียสาหร่ายดังกล่าวไป ปะการังเข้าสู่ภาวะอ่อนแอและกลายเป็นสีขาว

ทั้งนี้ สถานการณ์ปะการังฟอกขาวนั้นเริ่มเมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย.2567 มีการฟอกขาวประมาณร้อยละ 60-80 หลังจากนั้นปะการังที่ฟอกขาวค่อย ๆ ฟื้นตัวประมาณร้อยละ 60 และมีบางส่วนตายไปประมาณร้อยละ 40 และแนวปะการังในบางพื้นที่ที่ไม่พบปะการังฟอกขาว (บางส่วนอาจมีสีจางหรือฟอกขาวเล็กน้อย) ประมาณร้อยละ 10

จากการลงพื้นที่สำรวจล่าสุดพบว่า ในฝั่งทะเลอันดามันจากที่เคยมีการฟอกขาวสูงสุดประมาณร้อยละ 55 พบว่าการฟอกขาวมีอัตราการฟื้นตัวประมาณร้อยละ 60-70 พบการตายจากการฟอกขาวประมาณร้อยละ 30-40

ทางด้านฝั่งอ่าวไทยมีการฟอกขาวสูงสุดในเดือน พ.ค.2567 โดยฟอกขาวประมาณร้อยละ 90 ปะการังที่ตายและเสียหายมากคือปะการังบริเวณน้ำตื้น ส่วนปะการังน้ำลึกได้รับผลกระทบน้อยกว่า มีอัตราการฟื้นตัวประมาณร้อยละ 40-60 มีการตายจากการฟอกขาวประมาณร้อยละ 30-50

ในปัจจุบันทั้ง 2 พื้นที่ ไม่พบการฟอกขาวของปะการังแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการลดอัตราการตายและเสียหายจากสถานการณ์ปะการังฟอกขาวเป็นผลมาจากนโยบาย ลด งด ช่วย ที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือเป็นแนวทางทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.)

ด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. กล่าวว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวมาโดยตลอด พร้อมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว โดยตนได้มอบนโยบายการแก้ไขสถานการณ์ปะการังฟอกขาวคือ ลด งด ช่วย แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำไปดำเนินการ

ซึ่งมาตรการลดผลกระทบจากกิจกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น ไม่ให้อาหารปลา เก็บขยะในแนวปะการัง ไม่ใช้ครีมกันแดดที่มีสารอันตรายต่อปะการัง หรือที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาว และมาตรการงดการท่องเที่ยวคือ ประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวในบางแห่งรวมถึงกิจกรรมดำน้ำลึกและดำน้ำตื้นในบางพื้นที่ เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจส่งผลให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง และมาตรการช่วยลดอัตราการตาย เช่น การย้ายปะการังบางส่วนไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม หรือการช่วยบดบังแสงบางส่วน เป็นการช่วยให้ปะการังไม่ให้ได้รับผลกระทบจากแสงมากเกินไป

ทั้งนี้ ด้วยการจัดการพื้นที่ทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพในทุกหน่วยงานและที่สำคัญคือต้องขอบคุณนักวิทยาศาสตร์พลเมือง อาสาสมัครนักดำน้ำ รวมถึงนักท่องเที่ยวทางทะเลทุกคนที่เป็นพลังสำคัญให้วิกฤตปะการังฟอกขาวนั้น มีอัตราการตายและเสียหายลดลง จนทำให้สถานการณ์การปะการังฟอกขาวนั้นดีกว่าที่นักวิชาการทางทะเลของทั้ง 2 หน่วยงานได้คาดการณ์ไว้ และเชื่อมั่นว่าปะการังจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในไม่ช้า
 
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานฟื้นฟูปะการังในปี 2568 ได้ดำเนินการเพิ่มพื้นที่ฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 7 จังหวัด ได้แก่ ตราด ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต รวม 12 ไร่

ปลูกฟื้นฟูปะการังในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ตราด ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต รวม 24 ไร่ และดำเนินการอนุบาลเพาะพันธุ์ปะการัง จำนวน 60,000 โคโลนี การอนุรักษ์และการฟื้นฟูแนวปะการังเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ทรัพยากรแนวปะการังของประเทศสามารถดำรงสภาพความสมบูรณ์อยู่ได้ ทั้งนี้ต้องมีการบริหารจัดการเน้นการมีส่วนร่วมควบคู่กับการใช้มาตรการทางด้านกฎหมาย เพื่อฟื้นฟูสถานภาพปะการังให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์ต่อไป

อ่านข่าวอื่น :

ปลดล็อก! FAA ยกไทยกลับสู่ CAT 1 ครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี

สมาคมน้ำเพื่อชีวิต เสนอ 7 มาตรการเแก้สารพิษน้ำกก-สาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง