การสิ้นพระชนม์ ด้วยสิริพระชนมายุ 88 พรรษา ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส องค์พระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ที่นครวาติกัน ในกรุงโรมของอิตาลี เป็นจุดเริ่มต้นของธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณเพื่อถวายอาลัย และพระเกียรติ ซึ่งจะเสร็จสิ้นลงหลังจากการเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่

ธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณนี้เรียกว่า ช่วงเวลา “เซเด วากันเต” (Sede Vacante) คือ ช่วงที่ตำแหน่งองค์พระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่างลง และพระคาร์ดินัลอาวุโสสูงสุด ตำแหน่ง “คาเมอร์เลงโก” (Camerlengo) หรือเลขาธิการสำนักวาติกัน จะรักษาการผู้นำจนกว่าจะมีสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จากการเลือกตั้งของคณะพระคาร์ดินัล

เครือข่ายข่าวโทรทัศน์ France 24 ของทางการฝรั่งเศสรายงานว่า ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งคาเมอร์เลงโก คือ พระคาร์ดินัลเควิน ฟาร์เรลล์ (Kevin Farrell) บาทหลวงชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562

ผู้ดำรงตำแหน่งคาเมอร์เลงโก มีหน้าที่ประกอบพิธีรับรองการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปา โดยการเอาฆ้อนเงินประทับที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ของสมเด็จพระสันตะปาปา 3 ครั้ง และเรียกพระนามเดิมของพระองค์ ทั้งนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระนามเดิมว่า “ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกกลิโอ” (Jorge Mario Bergoglio)
ผู้ดำรงตำแหน่งคาเมอร์เลงโก ยังเป็นผู้ทำลาย “พระธำมรงค์ชาวประมง” ซึ่งเป็นสมณกกุธภัณฑ์ประจำพระองค์ของพระสันตะปาปาแต่ละพระองค์ ในฐานะผู้นำแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกสืบต่อจากพระสันตะปาปาเปโตร (Petrus) องค์พระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกพระองค์แรก ซึ่งทรงเป็นชาวประมง


แต่เดิมนั้น การทำลายพระธำมรงค์ชาวประมงในที่ประชุมคณะพระคาร์ดินัล ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการปลอมแปลง แต่ปัจจุบันเป็นเพียงพิธีเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงการสิ้นสุดของสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาองค์นั้น ๆ
หลังจากนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งคาเมอร์เลงโก จะเป็นพระคาร์ดินัลองค์เดียวที่ยังคงปฏิบัติศาสนกิจต่อไป ส่วนพระคาร์ดินัลองค์อื่น ๆ ในคณะพระคาร์ดินัลของสำนักวาติกันต้องลาออกทั้งหมด แสดงถึงการสิ้นสุดสมณสมัยของพระสันตะปาปาพระองค์นั้น ๆ

นอกจากนี้ พระคาร์ดินัลจากทั่วโลกจะเปิดประชุมร่วมกันหลายวาระเพื่อร่วมกำหนดศาสนพิธีฝังพระศพสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งจะต้องมีขึ้นช่วงวันที่ 4-9 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นั้น ๆ อีกทั้งเตรียมงานไว้อาลัยสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นเวลา 9 วัน เรียกว่าช่วงงาน “โนเวนดิอาเล” (Novendiale)

รายงานระบุว่า ศาสนพิธีฝังพระศพของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะจัดขึ้นที่มหาวิหาร St. Maria Maggiore ในกรุงโรม ตามพระประสงค์ของพระองค์ ซึ่งแตกต่างจากศาสนพิธีฝังพระศพของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ก่อน ๆ ที่จัดขึ้นที่พระมหาวิหาร St. Peter ในนครวาติกัน

ทั้งนี้เนื่องจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระประสงค์ให้พระพิธีศพของพระองค์เป็นไปอย่างเรียบง่ายอีกทั้งทรงมีพระประสงค์ให้นำพระสรีระของพระองค์บรรจุในโลงไม้ที่บุสังกะสีเพียงชั้นเดียว แทนโลง 3 ชั้น ซึ่งชั้นแรกเป็นไม้สนไซเปรส ชั้นที่ 2 เป็นตะกั่ว และชั้นที่ 3 เป็นไม้เอล์ม (elm) ตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิม
อีกทั้งพระองค์มีพระประสงค์ให้เปิดโลงพระศพให้มวลชนเข้าแสดงความอาลัยต่อพระองค์อย่างใกล้ชิดขึ้น แทนการวางโลงพระศพบนแท่นสูง (catafalque) ตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิม รายงานระบุว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีพระประสงค์จะแสดงพระองค์เป็นบาทหลวงศิษย์ของพระผู้เป็นเจ้าพระองค์หนึ่งอย่างสมถะเท่านั้น

รายงานระบุด้วยว่า กระบวนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ (Conclave) จะต้องเริ่มขึ้นช่วงวันที่ 15-20 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ล่าสุด โดยคณะพระคาร์ดินัลรวม 135 องค์จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกจะทำหน้าที่เป็นคณะผู้เลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ผ่านการประชุมลับหลายวาระจนกว่าจะมีการลงมติสุดท้าย
คณะพระคาร์ดินัลผู้เลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ประกอบด้วยพระคาร์ดินัลชันษาไม่เกิน 80 พรรษา โดย 53 องค์จากยุโรป 20 องค์จากอเมริกาเหนือ 18 องค์จากแอฟริกา 23 องค์จากเอเชีย 4 องค์จากโอเชียเนีย และ 17 องค์จากลาตินอเมริกา ทั้งนี้ พระคาร์ดินัล 108 องค์จาก 135 องค์ในคณะผู้เลือกตั้งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

นับจากปลายศตวรรษ 19 เป็นต้นมา การประชุมลับเพื่อเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่กำหนดจัดขึ้นที่โบสถ์ซิสทีน (Sistine Chapel) ซึ่งเป็นสถานพำนักทางการของพระสันตะปาปา ในนครวาติกัน และมีจิตรกรรมเพดานโบสถ์ที่วิจิตรฝีมือของไมเคิล แอนเจโล (Michelangelo) จิตรกรเอกของโลกชาวอิตาลี

การลงคะแนนลับของคณะพระคาร์ดินัลผู้เลือกตั้งกำหนดให้มีขึ้นวันละ 4 รอบ ช่วงเช้า 2 รอบ และช่วงบ่าย 2 รอบ จนกว่าจะเหลือพระคาร์ดินัลองค์ที่มีศักยภาพจะเป็นพระสันตะปาปาพระองค์ต่อไปเรียกว่า “ปาปาบิเล” (Papabile) จะได้คะแนน 2 ใน 3 ของคณะผู้เลือกตั้ง
ตามธรรมเนียมปฏิบัติ บัตรลงคะแนนจะต้องถูกเผาในเตาเผาภายในโบสถ์ทุกครั้งภายหลังการลงคะแนนเลือกตั้งแต่ละรอบโดยควันไฟที่ลอยขึ้นจากปล่องจะเป็นสีดำ ถ้าควันไฟที่ถูกปล่อยจากปล่องเป็นสีขาวเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า มีพระคาร์ดินัล“ปาปาบิเล” ได้รับเลือกตั้งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่แล้ว พร้อมกับการตีระฆังโบสถ์อย่างก้องกังวาน

หลังจากนั้น พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะเสด็จไปยังห้องพิธีการที่เรียกว่า sala delle lacrime พระองค์จะถูกทรงถามว่า ยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่ และพระองค์จะประสงค์จะให้ขนานพระนามว่าอย่างไร โดยมีหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัลเป็นประธานพิธี ปัจจุบัน คือ พระคาร์ดินัลจวานนี บาทติสตา เร (Cardinal Giovanni Battista Re)

ต่อจากนั้น จะเป็นการเปลี่ยนฉลองพระองค์ 3 ชุด ท่ามกลางการถวายความเคารพจากคณะพระคาร์ดินัล หลังจากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระมหาวิหาร St. Peter และจะทรงได้รับการประกาศเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการด้วยคำว่า Habemus Papam ซึ่งเป็นภาษาลาตินโบราณ
ติดตามชมรายการทันโลก กับ Thai PBS วันจันทร์ - พฤหัสบดี เวลา 21.00 – 21.30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/Tanloke