ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก “นอมินี” พฤติกรรมอำพรางผลประโยชน์


Insight

22 เม.ย. 68

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “นอมินี” พฤติกรรมอำพรางผลประโยชน์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2598

รู้จัก “นอมินี” พฤติกรรมอำพรางผลประโยชน์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

คำว่า “นอมินี” คำที่ได้ยินบ่อยในหลายกระแสข่าว จากคดีการเมืองจนถึงเหตุทุจริตจากทุนข้ามชาติ

Thai PBS รวบรวมความหมายแง่มุมต่าง ๆ ของคำว่า “นอมินี” มีความหมายอย่างไร ? มีความหมายในการใช้ในแง่มุมใดบ้าง ? และส่งผลเสียที่เกาะกินสังคมไทยอย่างไร ?

ความหมายของ “นอมินี” ตัวแทนแห่งผลประโยชน์

นอมินี มีที่มาจากคำว่า nominee ในภาษาอังกฤษที่แท้จริงแล้วมี 2 ความหมายด้วยกัน

ความหมายแรกคือ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งหรือรับรางวัลหรือตำแหน่งต่าง ๆ เช่น รางวัลออสการ์ รางวัลโนเบล ซึ่งมีคำดั้งเดิมนี้มีรากศัพท์มาจากคำว่า nominare ในภาษาลาตินอีกที ที่มีความหมายถึง “การเสนอชื่อ” และ “การตั้งชื่อ”

ความหมายที่สองที่มักปรากฏใช้ในข่าวคือ บุคคลหรือบริษัทที่ถูกใช้ชื่อในการถือครองหุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ แทนเจ้าของที่แท้จริง มีความหมายในเชิงของการเป็น “ตัวแทน” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า nominare ในภาษาลาตินเหมือนกัน แต่มาจากความหมายในเชิงของการตั้งบุคคลขึ้นมาเป็นตัวแทน
ส่วนในข่าว คำว่า นอมินี มีความหมายถึงการเป็นตัวแทนในลักษณะต่าง ๆ มักมีวัตถุประสงค์เพื่ออำพรางผลประโยชน์บางอย่าง ซึ่งถูกใช้ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมือง และมักเกี่ยวพันเป็นผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอีกด้วย

นอมินีคืออะไร.png

ตัวอย่าง นอมินี พฤติกรรมอำพรางความผิด

นอมินีในข่าวที่มาพร้อมข้อสงสัยในปมทุจริต มีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน มีกรณีตัวอย่างที่น่าสในแบ่งเป็นลักษณะหลัก ๆ ได้ดังนี้

นอมินี ถือครองทรัพย์สินแทนทุนข้ามชาติ

นอมินีลักษณะนี้ ถือเป็นธุรกิจอำพราง เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติประกอบธุรกิจหลายประเภท ตาม “พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542” เช่น กิจการหนังสือพิมพ์ ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ก่อสร้าง ค้าที่ดิน การค้าของเก่า โดยมีเหตุผลแตกต่างกันไป อาทิ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อธรรมชาติ วัฒนธรรม รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งธุรกิจบางประเภทต้องขออนุญาตเป็นการเฉพาะเท่านั้น

นอมินีในทีนี้ จึงหมายถึง คนไทยที่ช่วยเหลือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างชาติ ให้สามารถประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีใบอนุญาตให้ธุรกิจเหล่านั้น หรือถือหุ้นแทนชาวต่างชาติในห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือนิติบุคคลต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ต่างชาติหลบเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย
ทั้งนี้ ธุรกิจที่ตกเป็นเป้าหมายของการใช้นอมินีหลัก ๆ ได้แก่ ธุรกิจบริการ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจร้านอาหาร

กรณีเป็นข่าวนอมินีตัวแทนทุนข้ามชาติ เช่น บริษัทก่อสร้างตึก สตง. ที่พบ 3 คนไทยเป็นกรรมการผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ยังมีกรณีธุรกิจอีกมากมายที่เข้าข่ายเป็นปัญหาแย่งธุรกิจคนไทยได้ เครือข่ายธุรกิจนอมินีเหล่านี้มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 1,000 ล้านบาท

นอมินีในประเภทนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกินสังคมอย่างต่อเนื่อง พบตัวเลขชาวต่างชาติถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 49 ในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในไทยอยู่มากกว่า 18,000 แห่ง ขณะที่ข้อมูลในปี 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เผยถึงธุรกิจนอมินีที่มีมากถึง 442 ราย

ในส่วนของบทลงโทษนั้น คนไทยที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเป็นนอมินีให้คนต่างชาติจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษ ปรับรายวัน วันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน

นอมินี ในแวดวงการเมือง

คำว่านอมินีถูกใช้ในเชิงแวดวงข่าวแรก ๆ จนทำให้ผู้คนคุ้นเคยความหมายมาจากกรณีการเมืองในเคสของอดีตนายก “ทักษิณ ชินวัตร” กับนอมินีถือหุ้น นอมินีในลักษณะดังกล่าวเป็นการถือทรัพย์สินแทนเพื่อป้องกันการตรวจสอบในประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนจากอำนาจทางการเมือง เช่น การให้บุคคลอื่น ๆ ถือทรัพย์แทนเพื่อไม่ให้ตรวจสอบไปถึง ซึ่งในช่วงปี 2561 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายให้ตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบไปถึงบุคคลอื่น ๆ ทั้งภรรยา บุตร รวมถึงภรรยานอกสมรสด้วย

การใช้นอมินีในแวดวงธุรกิจผิดกฎหมายก็มีขึ้นเพื่อใช้ทุจริต เช่น ใช้ลูกจ้างเป็นนอมินีเพื่อถือครองบริษัท และให้บริษัทเหล่านั้นทำการซื้อ - ขาย เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือกรณีใช้ชื่อเป็นนอมินีบริษัทที่ทำผิดกฎหมายเพื่อให้นอมินีรับโทษแทนเจ้าของจริง นอมินีในลักษณะนี้จึงเข้าข่ายทั้งการฉ้อโกง คอรัปชัน รวมถึงการทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

นอกจากนี้ นอมินีในแวดวงข่าวการเมืองยังมีความหมายไปถึงการเป็นตัวแทนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือตัวแทนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในพื้นที่การเมือง เช่น ในช่วงการเลือกตั้ง อบจ. ที่ผ่านมา ก็ได้ชื่อว่าเป็น “สนามนอมินีของพรรคการเมืองใหญ่” 

ขณะที่ในกรณีนักการเมือง คำว่านอมินี ถูกใช้ในเชิงที่นักการเมืองคนนั้น ๆ เป็นตัวแทนของนักการเมืองที่มีอิทธิพลอีกคน แน่นอนว่ามีการใช้คำว่านอมินีในแง่นี้มักใช้ในช่วงการเมืองร้อนแรงเมื่อตัวบุคคลหนึ่งมีความสำคัญในทางการเมืองสูงขึ้น

นอมินีในทางการเมืองนี้จึงความหมายทั้งการเป็นตัวแทนในเชิงอุดมการณ์ และกินความไปได้ถึงการถูกควบคุมโดยผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริง

คำว่า “นอมินี” จากที่กล่าวมาทั้งหมดดูจะมีความหมายหลากหลายแง่มุม ทว่าส่วนใหญ่แล้วมักมีความหมายในเชิงลบของการอำพราง ปิดบังความผิดที่ค่อย ๆ กัดกินสังคมไทย ก่อนหน้านี้ข่าวนอมินีต่างชาติถูกนำเสนอบ่อยครั้ง กระทั่งเหตุตึกถล่มนี้เอง ที่เผยให้เห็นว่า “นอมินี” เป็นปัญหาร้ายแรงที่ต้องมีการแก้ไข

อ้างอิง

  • พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
  • สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี
  • องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
     

แท็กที่เกี่ยวข้อง

นอมินีการเมืองธุรกิจnomineeจีนเทาทุนข้ามชาติตึก สตง.
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด