วันนี้ ( 24 เม.ย.2568) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ส่งออกเดือนมี.ค.ขยายตัวสูงถึง 17.8% คิดเป็นมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือนนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2565 ส่งผลให้ไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.)ส่งออกขยายตัว 15.2% รวมมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง ให้ไทยมี ดุลการค้าเกินดุล 1,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์
การเติบโตไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมตลาดอื่น ๆ ด้วย แม้ในเดือนถัดไปอาจมีผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ แต่เชื่อมั่นว่ายังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ ด้วยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน อย่าคิดว่าเป็นวิกฤตอย่างเดียว ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง และเรายังเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงไม่ปรับเป้าส่งออกที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 2-3% เพราะมั่นใจว่าทั้งปีส่งออกไทยคงขยายตัวได้และเชื่อว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้เพราะถือว่าเป็นพระเอกที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย ส่วนการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์)ตนได้ติดต่ออย่างต่อเนื่องและเตรียมการที่จะเจรจา

ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยได้รับแรงหนุนหลักจากสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ประเทศคู่ค้าเหล่านี้มีการเร่งตัวด้านการผลิต
สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความพยายามในการรับมือกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต และบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์
โดยมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมี.ค. มีมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์ การนำเข้า มีมูลค่า 28,575.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.2 ดุลการค้า เกินดุล 973.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 80,451.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.4 ดุลการค้า เกินดุล 1,081.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐส่วนมูลค่าการค้าในรูปเงินบาท ส่งออก มีมูลค่า 988,362 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.3
เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 967,608 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.2 ดุลการค้า เกินดุล 20,755 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออก 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 2,757,249 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 2,754,544 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.1 ดุลการค้า เกินดุล 2,705 ล้านบาท

ผอ.สนค.กล่าวอีกว่า การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว จากการเร่งนำเข้าของประเทศต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการประกาศภาษีของสหรัฐฯ ที่จะมีผลเดือน เม.ย. โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นจากความต้องการนำเข้า เพื่อลดต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีนำเข้า ขณะที่ประเทศอื่น ๆ
โดยเฉพาะจีน เร่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้า ขั้นกลางที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ เช่น ตลาดหลัก ขยายตัว 17.3 % , อาเซียน (5) 13.2% และ CLMV 10.1% ตลาดรอง 10.2% โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 9.2% ตะวันออกกลาง 25.1% แอฟริกา 3.5% ลาตินอเมริกา 11.5% รัสเซียและกลุ่ม CIS59.5% และสหราชอาณาจักร 7.7% และ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว232.6%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2568 ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกของไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีอย่างถ้วนหน้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของนานาประเทศ สร้างความวิตกกังวลต่อภาพรวมการค้าโลก อันอาจนำไปสู่การชะลอตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อรับมือกับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงนี้ โดยเตรียมความพร้อมด้านการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อลดทอนผลกระทบทางภาษี แสวงหาโอกาสจากวิกฤต โดยการผลักดันสินค้าศักยภาพเข้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐฯ และสร้างความร่วมมือทางการค้าเพื่อกระจายตลาดให้มากขึ้น พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้ส่งออกไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจ พัฒนามาตรการเยียวยา และกำหนดแนวทางการรับมือกับสภาวะการค้าที่ทวีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต
อ่านข่าว:
เลื่อนเจรจาภาษี! พ.ค.ชี้ชะตา ไทยเผชิญแรงกดดันการค้า จีน-สหรัฐฯ
"คลัง" จ่อกู้ 5 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจรับมือภาษีทรัมป์
“พิชัย”ยัน ไทยไม่เลือกข้าง เดินหน้าเจรจา “ภาษีทรัมป์” เน้นรอบคอบ