การให้ยาในผู้ป่วยนั้นมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การกินจนไปถึงการฉีดยาเข้าสู่ร่างกาย เช่น การฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous หรือ IV) หรือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular หรือ IM) ซึ่งแต่ละวิธีในการฉีดใช้แตกต่างกันตามตัวยาแต่ละตำรับ หนึ่งในวิธีการให้ยาที่ใช้กันแพร่หลายโดยเฉพาะในแผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาลคือการฉีดยาเข้าสู่เส้นเลือดดำโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีการฉีดที่มีประสิทธิภาพที่สุดและยาออกฤทธิ์เร็วที่สุด
เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด หรือ Infusion Pump เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการฉีดยาเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยในด้านของปริมาณยาหรือ Dosage ให้ถูกต้อง ลดความผิดพลาดจากการฉีดด้วยมือของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้การติดตามอาการ (Monitor) ของผู้ป่วยง่ายขึ้น เพื่อเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยา
การฉีดยาแบบ IV นั้นมีหลัก ๆ อยู่สองวิธีคือการฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรงผ่านการเปิดเส้น (IV Cannula) เช่น ที่ข้อพับแขน ซึ่งทำให้การฉีดยานั้นง่ายขึ้นและปลอดภัยขึ้น เนื่องจากไม่ต้องแทงเข็มหลายครั้ง การให้ยาแบบนี้เรียกว่า “Bolus” หรือ “Push” หรือเป็นการให้แบบครั้งต่อครั้ง
อีกวิธีหนึ่งคือการให้ยา IV ผ่านการหยดยา (Drip หรือ Infusion) ซึ่งเป็นการให้ยาเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยอย่างช้า ๆ โดยมักให้พร้อมสารน้ำ (Fluid) เช่น น้ำเกลือ (Normal Saline Solution หรือ NSS) หรือสารละลายน้ำตาลเด็กซ์โทรส 5% ในน้ำกลั่น (5% Dextrose in Water หรือ D5W) ด้วยการฉีดยาเข้าสู่ถุงน้ำเกลือโดยตรง นอกจากนี้ มักมีการต่อสายแยกจากสาย IV หลักหรือที่รู้จักกันในทางการแพทย์ว่าการให้ยาแบบพ่วง (IV Piggyback) ด้วยการต่อสาย เช่น ข้อต่อสามทาง (Three-Way Connector) เพื่อทำให้แพทย์หรือพยาบาลสามารถฉีดยาอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือให้ยาแบบหยดร่วมกับยาชนิดอื่น (Secondary Bag) ได้โดยที่ไม่ต้องเปิดเส้นใหม่ อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิดไม่สามารถให้ร่วมกับยาชนิดอื่นในเส้นเดียวกันได้ จึงอาจจะต้องเปิดเส้นใหม่เพิ่ม
การให้ยาแบบหยดทางหลอดเลือดดำโดยผ่านถุงสารละลาย จะอาศัยแรงโน้มถ่วงในการดึงสารน้ำในถุงน้ำเกลือเข้าสู่ตัวผู้ป่วย และควบคุมได้ค่อนข้างจำกัดด้วยตัวปรับความเร็วหยดยา (IV Roller Clamp) ซึ่งใช้ในการบีบสาย IV สำหรับควบคุมการหยดของสารน้ำเกลือ ด้วยเหตุนี้ ปริมาณของยาที่เข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยมักจะไม่สม่ำเสมอและไม่สามารถควบคุมได้อย่างแม่นยำ
หลักการในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาดระหว่างการให้ยาแบบหยดเข้าเส้นและพยายามให้ผู้ป่วยได้ยาอย่างสม่ำเสมอผ่านถุงน้ำเกลือ จึงเป็นการเจือจางยาในถุงน้ำเกลือด้วยอัตราส่วน เช่น 1:1000 ของปริมาณยาต่อสารน้ำ อัตราส่วนดังกล่าวจะแตกต่างกันไปตามตัวยาแต่ละชนิด รวมถึงการพยายามควบคุมอัตราการหยดของสารละลายทางหลอดเลือด โดยอาศัยการคำนวณอัตราการหยด (Drip Rate) ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าคงที่ของชุดให้น้ำ (Drop Factor) ปริมาตรของสารละลาย และระยะเวลาที่ต้องการให้สารนั้นหยดเข้าสู่ร่างกาย
ปัจจุบัน หากต้องการให้ยาแก่ผู้ป่วยด้วยความแม่นยำที่สูงขึ้น จำเป็นจะต้องใช้เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด ซึ่งนอกจากจะทำให้การให้ยามีความสม่ำเสมอมากขึ้นแล้ว ยังทำให้สามารถให้ยาความเสี่ยงสูง (High Alert Drug หรือ HAD) ได้ปลอดภัยขึ้นอีกด้วย เนื่องจากสามารถควบคุมการให้ยาในปริมาณที่น้อยมากได้ เช่น ที่ 0.1 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง ซึ่งการให้ยาด้วยถุงน้ำเกลือแบบดั้งเดิม ไม่สามารถปรับการหยดด้วยอัตราดังกล่าวได้
เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดมีหลายชนิด เช่น แบบการบีบเพอริสตัลติก (Peristaltic Pump) ซึ่งใช้ลูกกลิ้งรีดของเหลวให้ไหลเข้าสู่ตัวผู้ป่วย มักใช้ในการให้สารน้ำในปริมาณมาก อีกชนิดคือการใช้มอเตอร์ซึ่งควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ (Computer-Controlled Motor Pump) ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมอัตราการหมุนของมอเตอร์ซึ่งจะค่อย ๆ ดันลูกสูบของเข็มฉีดยาเพื่อ ฉีดยาเข้าสู่สาย IV ของผู้ป่วยอย่างค่อยเป็นค่อยไป การใช้คอมพิวเตอร์จะทำให้แพทย์ควบคุมอัตราการฉีดได้อย่างแม่นยำ
ยาความเสี่ยงสูง เช่นอะดรีนาลีน (หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ เอพิเนฟรีน) จะต้องให้ในความเข้มข้นที่ต่ำมาก เช่น เจือจางด้วยสารน้ำเกลือที่ 1:10000 และต้องฉีดช้า ๆ เพื่อควบคุมปริมาณให้เหมาะสม จึงมักจะต้องใช้อุปกรณ์อัตโนมัติควบคุมอัตราการฉีดให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา มิเช่นนั้นจะได้รับยาเกินขนาดได้โดยง่าย
นอกจากนี้ เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดยังมีระบบความปลอดภัยอื่น ๆ ที่ทำให้การให้ยามีความปลอดภัยขึ้นอีกด้วย เช่น การเตือนว่ามีฟองอากาศในสาย การเตือนว่าเหลือปริมาณที่ต้องให้อีกเท่าใด และการเตือนการตั้งค่าผิด เครื่องบางรุ่นจะมีปุ่มสำหรับให้ผู้ป่วยควบคุมปริมาณยาแก้ปวดหรือยาชาได้ตามความต้องการ ระบบนี้เรียกว่าการให้ยาระงับปวดแบบที่ผู้ป่วยควบคุมเอง (Patient-Controlled Analgesia หรือ PCA)
ในยุคที่ความต้องการทางการแพทย์กำลังขับเคลื่อนไป เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด จึงถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญเพื่อตอบสนองต่อการรักษาอย่างแม่นยำตามความต้องการเฉพาะตัวของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ตัวคนไข้เอง
เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
Department of Biomedical Sciences
College of Biomedicine
City University of Hong Kong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech