การศึกษาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (The University of Sydney) ประเทศออสเตรเลีย เผยว่าการกินอาหารไขมันและน้ำตาลสูงอาจทำให้ “ความจำเชิงพื้นที่” (spatial memory) บกพร่อง นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่เชื่อมโยงอาหารดังกล่าวกับขีดความสามารถความจำเชิงพื้นที่ที่ลดลงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่เชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางของอารมณ์และความทรงจำ
โดมินิค ทราน (Dominic Tran) ผู้เชี่ยวชาญจากคณะจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าการศึกษาครั้งนี้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวน 55 คน อายุระหว่าง 18-38 ปี ร่วมตอบแบบสอบถามทางโภชนาการ แบบทดสอบความจำในการทำงาน และดัชนีมวลกาย ก่อนการสำรวจเขาวงกตในโลกเสมือนจริง
หลังจากการทดลองหลายครั้ง พบว่าผู้บริโภคน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และไขมันอิ่มตัวในระดับสูงมีความสามารถการจดจำตำแหน่งของวัตถุที่ซ่อนอยู่ในเขาวงกตได้แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นว่าการกินอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงสามารถส่งผลให้การทำงานของฮิปโปแคมปัสบกพร่อง แม้แต่ในผู้ใหญ่ตอนต้น ทว่าข่าวดีคือผลกระทบเหล่านี้สามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
การปรับเปลี่ยนโภชนาการสามารถปรับปรุงสุขภาพของฮิปโปแคมปัสได้ และทำให้ความสามารถในการนำทางภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างเช่นการสำรวจเมืองใหม่ หรือเรียนรู้เส้นทางกลับบ้านใหม่ดีขึ้น
ทรานชี้ว่าผลการวิจัยครั้งนี้ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้หลักฐานที่บ่งชี้ว่าการกินอาหารไม่ดีต่อสุขภาพนั้นไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพกาย แต่ยังส่งผลเสียต่อการทำงานของสมองด้วย แม้กระทั่งในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการทำงานของสมองจะยังดีอยู่ พร้อมย้ำความสำคัญของการเลือกกินอาหารเพื่อรักษาสุขภาพสมอง และป้องกันภาวะที่การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : english.news, Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech