วันนี้ (24 เม.ย.2568) เวลา 13.00 น. นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
แถลงความคืบหน้าคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน 3 เรื่อง ดังนี้
1.กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ยื่นร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีอาญากับ เจ้าหน้าที่รัฐ นายทุน บริษัทชิปปิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และกรมศุลกากร ได้ร้องทุกข์ต่อ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ต่อมาส่งเรื่องมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ซึ่งได้เปิดสำรวจและพบสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง 161 ตู้ มีมูลค่าของรวมภาษีอากรเป็นเงิน 460,105,947.38 บาท ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์

ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวน จำนวน 9 เลขคดีพิเศษ เพื่อทำการสอบสวน คดีพิเศษ จำนวน 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 (สินค้าอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ณ ด่านศุลกากรแหลมฉบัง)
1.คดีพิเศษที่ 59/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท เดอะ คิวบ์ โลจิสติก์ จำกัด กับพวกรวม 3 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 24 พ.ย. 2566
2.คดีพิเศษที่ 101/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท กู๊ด วอเตอร์ อิควิปเม้น จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 17 ม.ค. 2567
3.คดีพิเศษที่ 102/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช กับพวกรวม 5 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 6 ส.ค. 2567
4.คดีพิเศษที่ 103/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 17 ก.ย. 2567
5.คดีพิเศษที่ 104/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท อาร์ ที เอ็น โอเวอร์ซี จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 17 ม.ค. 2567
6.คดีพิเศษที่ 105/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 23 เม.ย. 2567
7.คดีพิเศษที่ 106/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท สหัสวรรษ จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 29 พ.ค. 2567
8.คดีพิเศษที่ 107/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท ซีเวิร์ล โฟรเซ่น ฟูด จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 11 เม.ย. 2567
9.คดีพิเศษที่ 108/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท ศิขัณทิน จำกัด กับพวกรวม 4 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 26 ก.ค. 2567
10.คดีพิเศษที่ 109/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กับพวกรวม 4 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 26 ก.ค.2567
กลุ่มที่ 2 สินค้านำออกสู่ท้องตลาดแล้ว จากการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติม พบมีกลุ่มนิติบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้เป็นคดีพิเศษ จำนวน 10 เรื่อง และมีการนำสินค้าดังกล่าวออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดแล้ว

ผลการตรวจสอบข้อมูลในระบบของกรมศุลกากร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 ถึงวันที่ 31 ก.ค.2566 พบว่า มีใบขนสินค้ารวมทั้งหมด 2,385 ใบขน มีมูลค่าสินค้านำเข้า จำนวน 1,566,760,187.79 บาท จึงรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 126/2566 ระหว่างการประสานความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ จำนวน 7 ประเทศ ที่มีการส่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร
กลุ่มที่ 3 กลุ่มขบวนการสวมสิทธิถิ่นกำเนิด จากการตรวจสอบขยายผล ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีขบวนการร่วมกันปลอมแปลงเอกสาร โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกสินค้าซากสัตว์ประเภทต่าง ๆ เพื่อสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าผลิตและส่งออกจากราชอาณาจักรไปยังต่างประเทศ ได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 127/2566 ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว มีผู้ต้องหาจำนวน 14 ราย ประกอบด้วย นายทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยทั้งข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง ได้ทำการสอบสวน
เสร็จสิ้นแล้ว ส่งสำนวนไป ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2567
สรุปจากการรับคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าและส่งออกซึ่งซากสัตว์ รับไว้ทำการสอบสวนทั้งหมด 12 คดี ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 11 คดี ส่งสำนวนให้กับ ป.ป.ช. แล้ว ยังคงเหลืออีก 1 เรื่อง ที่อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือทางอาญากับอีก 7 ประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.คดีพิเศษที่ 32/2568 กรณีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (นอมินี) ของกิจการร่วมค้าที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกิดเหตุถล่มหลังจากมีเหตุแผ่นดินไหวฯ
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายจาง (ZHANG) ได้ประกอบธุรกิจต้องห้ามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญชี 3 ความคืบหน้าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับ และจับกุมผู้ต้องหาได้ครบถ้วนแล้วตามหมายจับประกอบไปด้วย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) นายจางฯ กรรมการนิติบุคคล
ในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการ หรือต้องได้รับอนุญาตก่อน และเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น นายโสภณฯ นายประจวบฯ และ นายมานัสฯ ผู้ถือหุ้นสัดส่วนคนไทย
ในความผิดฐานร่วมกันให้ความช่วยเหลือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าวในธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ไปขออำนาจศาลในการฝากขังเรียบร้อย คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน
นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษในการดำเนินคดีเกี่ยวกับมาตรฐานของวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กและปูนที่อาจไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ รวมถึงกรณีการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และการกระทำความผิดเกี่ยวกับการสมยอมในการเสนอราคาหรือฮั้วประมูลด้วย
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอขอบคุณเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนข้อมูล การบูรณาการร่วมกันในการดำเนินคดีพิเศษดังกล่าว ประกอบไปด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มา ณ โอกาสนี้

3.คดีพิเศษที่ 24/2568 กรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
ตามที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้ทำการสอบสวนกรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2568 โดยมีคณะพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด มาทำการร่วมสอบสวนด้วย
กรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยพนักงานสอบสวน คดีพิเศษ 3 ราย ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เป็นคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนให้มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวน และไต่สวนเรื่องคัดค้านการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในทุกพื้นที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งขณะนี้ทางคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการในหลายประเด็น เช่น สอบปากคำพยานไปแล้ว จำนวน 30 ปาก
ตรวจสอบข้อมูลทางธุรกรรมธนาคารของบุคคลในขบวนการ 1,200 ราย ตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์ 20,000 เลขหมาย และทำฐานข้อมูลทางดิจิทัล ซึ่งมีความคืบหน้าไปพอสมควร และขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังได้รับโอนสำนวนการสอบสวนจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ และ สภ.โกสุมพิสัย ซึ่งมีผู้กล่าวหาในความผิดฐานอั่งยี่ฯ มาเพื่อดำเนินการสอบสวนรวมสำนวนในคดีพิเศษดังกล่าวแล้ว
อ่านข่าว : กบน.ลดเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ 40 สต. ตรึงราคาขายปลีกหน้าปั๊ม
ส่อง "กฎหมายสัตว์เลี้ยง" 10 ชาติอาเซียน ใครคุ้มครองสัตว์ดีสุด ?
“มานะ” เปิดวงจรคอร์รัปชันก่อสร้างภาครัฐ มีครบทุกรูปแบบ แนะรื้อระบบ-ทบทวนกติกาใหม่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: