หลงดูไปเป็นแสนวิว ! พบคลิปสร้างจาก AI ถูกอ้างเป็น "เฮอร์ริเคนมิลตัน"


Verify

21 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

หลงดูไปเป็นแสนวิว ! พบคลิปสร้างจาก AI ถูกอ้างเป็น "เฮอร์ริเคนมิลตัน"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1757

หลงดูไปเป็นแสนวิว ! พบคลิปสร้างจาก AI ถูกอ้างเป็น "เฮอร์ริเคนมิลตัน"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หลังจากที่พายุเฮอร์ริเคนมิลตันพัดถล่มรัฐฟลอริดาในเดือนตุลาคม 2567 คลิปวิดีโอที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็น "ภาพรายงานสด" ของเฮอร์ริเคนมิลตัน และยังระบุอีกด้วยว่าพายุลูกดังกล่าวมีความรุนแรง "ระดับ 6" ซึ่งเป็นระดับที่ไม่มีอยู่จริงตามเกณฑ์การวัดความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคน นอกจากนี้ AFP ยังพบองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติหลายจุดในคลิปวิดีโอต้นฉบับ ซึ่งถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในโพสต์ติ๊กตอก ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นคลิปที่สร้างจากเอไอ

"อัปเดตสดพายุเฮอริเคนมิลตัน ฟลอริดา ระดับ 6 พายุเฮอร์ริเคน อาจมีลักษณะดังนี้" ผู้ใช้งานติ๊กตอกบัญชีระบุคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567

วิดีโอในโพสต์ซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 130,000 ครั้ง แสดงภาพคลื่นพายุโหมกระหน่ำขณะพัดขึ้นฝั่งของรัฐฟลอริดา

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอนี้ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์หลังเฮอร์ริเคนมิลตันพัดขึ้นฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของฟลอริดาในวันที่ 9 ตุลาคม (ลิงก์บันทึก)

เฮอร์ริเคนครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย และส่งผลให้โดมหลังคาสนามเบสบอลแทมปาได้รับความเสียหาย และเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่

ประชาชนหลายล้านครัวเรือนต้องใช้ชีวิตโดยไม่มีไฟฟ้าเป็นเวลาหลายวันหลังพายุถล่ม ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเฮอร์ริเคนมิลตันสร้างความเสียหายรวมมูลค่ามากกว่าห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท)

วิดีโอรวบรวมเหตุการณ์ดังกล่าวยังถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และนี่ และโพสต์ภาษาอังกฤษที่นี่

ผู้ใช้งานบางส่วนแสดงความคิดเห็นที่ชี้ว่าพวกเขาเชื่อว่าคลิปดังกล่าวเป็นคลิปจากเหตุการณ์จริง

"นี่คือเหตุการจริงทั้งหมดในประเทศสหรัฐที่รัฐฟรอริล่า" ความคิดเห็นหนึ่งระบุ

"น่ากลัวกว่าซึนามิหลายร้อยเท่า" อีกความคิดเห็นปรากฏในโพสต์เดียวกัน

แต่ที่จริงแล้ว วิดีโอนี้ถูกสร้างจากปัญญาประดิษฐ์


ผู้ผลิตเนื้อหาจากเอไอ

การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมต่าง ๆ บนกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกบนติ๊กตอกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ก่อนจะถูกลบในเวลาต่อมา

คำบรรยายวิดีโอในโพสต์ระบุว่า "คำเตือน: วิดีโอนี้สร้างจากเอไอและเป็นการนำเสนอภาพของเฮอร์ริเคนความรุนแรงระดับ 6" พร้อมกับติดแฮชแท็ก "เฮอร์ริเคนมิลตัน"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอต้นฉบับ (ขวา):

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอต้นฉบับ (ขวา)

วิดีโอนี้ถูกเผยแพร่บนติ๊กตอกโดยบัญชีผู้ใช้งานชื่อ "DoodleDreams" ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นผู้ผลิตผลงานจาก "ความมหัศจรรย์ของเอไอ" (ลิงก์บันทึก)

AFP พบองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติหลายแห่งในวิดีโอความยาว 1:12 นาที เช่น รถยนต์ยังคงอยู่นิ่งอยู่กับที่แม้จะถูกกระแสน้ำพัดอย่างรุนแรง ร่มลักษณะคล้ายก้อนเมฆที่ปลิวอยู่ในอากาศ และรถยนต์ขนาดใหญ่เกินจริงเมื่อเทียบสัดส่วนกับทางด่วน

ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอต้นฉบับ โดย AFP ได้ทำสัญลักษณ์เน้นองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ

การแบ่งระดับความรุนแรงของเฮอร์ริเคน
 

มาตรวัดเฮอร์ริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน คือ เกณฑ์วัดความรุนแรงของเฮอร์ริเคนตามความเร็วลมสูงสุดโดยประมาณ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 5 ระดับ ดังนี้ (ลิงก์บันทึก)

ระดับ 1 ความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 119-153 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ระดับ 2 ความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 154-177 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ระดับ 3 ความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 178-208 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ระดับ 4 ความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 209-251 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ระดับ 5 ความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 252 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป
แม้ว่าเฮอร์ริเคนมิลตันจะทวีกำลังอย่างรวดเร็วจากระดับ 1 สู่ระดับ 5 ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงขณะเคลื่อนตัวผ่านอ่าวเม็กซิโก แต่ภายหลังก็อ่อนกำลังลงและพัดขึ้นฝั่งของรัฐฟลอริดาในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ด้วยความรุนแรงระดับ 3 หรือความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 178 ถึง 208 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ลิงก์บันทึก)

เฮอร์ริเคนที่อยู่ในระดับ 3 ขึ้นไปถือว่าเป็นเฮอร์ริเคน "ระดับมหันตภัย" (major hurricanes) เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด "ภัยต่อชีวิตและสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง"

แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนได้เสนอให้มีการเพิ่มระดับมาตรวัด แต่ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NHC) ยังยืนยันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ไม่มีแผนที่จะทบทวนหรือเพิ่มมาตรวัดพายุให้มีระดับ 6 แต่อย่างใด (ลิงก์บันทึก)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมคลิปตัดต่อAIAI GeneratedAI GenAI วาดรูปหลอกลวงด้วย AIหลอกลวงโดนหลอก
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด