ชี้เป้า ข้อสังเกตงบการเงิน "ดิไอคอนกรุ๊ป"

สังคม
21 ต.ค. 67
20:07
487
Logo Thai PBS
ชี้เป้า ข้อสังเกตงบการเงิน "ดิไอคอนกรุ๊ป"
"ทนายความพีรภัทร" ตั้งข้อสังเกต "ดิไอคอนกรุ๊ป" ลงงบการเงินไม่ตรงความเป็นจริง ชี้สินค้ากับจำนวนที่สั่งไม่สอดคล้องกัน ขณะที่ สมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากร พบมีแนวโน้มไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางบัญชี

วันนี้ (21 ต.ค.2567) นายพีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินและธนาคาร เปิดเผยการลงงบการเงินบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป ว่า การลงงบการเงินมีหลายรูปแบบ จึงทำให้เกิดปัญหาว่าธุรกิจในประเภทเดียวกัน แต่ลงงบการเงินคนละรูปแบบ

สำหรับธุรกิจดิไอคอนเป็นรูปแบบการขายสินค้า ในช่วง 2 ปีแรกตัวแทนรับสินค้าไปจำหน่ายเอง ทำให้รับรู้ได้เลยว่าบริษัทมีรายได้ เมื่อมาถึงในช่วงปี 2563 มีการพัฒนารูปแบบธุรกิจ Dropship Fulfillment เป็นรูปแบบที่มีการฝากสินค้าไว้ที่คลัง โดยที่ดิไอคอนเป็นผู้จัดส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อเอง ทำให้เกิดคำถามว่าของที่ยังอยู่ที่คลังเป็นรายได้แล้วหรือไม่ เนื่องจากสินค้าไม่ได้ไปที่ตัวแทนหรือผู้จัดจำหน่ายแต่อย่างใด

ในแต่ละประเทศ Financial standard Report มีความแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยมี Report ด้านการบัญชี ซึ่งมาตรฐานสำหรับการขายสินค้าประเภทดังกล่าว รับรู้รายได้เมื่อมีการขายสินค้าออกไปจริง

การลงบัญชีโดยทั่วไปจะดูสัดส่วนสินค้าคงเหลือ ส่วนใหญ่ธุรกิจแบบขายตรงมีการสต็อกสินค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เดือน

แต่สำหรับของดิไอคอนมีการวิเคราะห์ว่าสิ้นปี 2564 สินค้าเหลือแค่ 7 ชั่วโมงที่จะส่งลูกค้าได้ ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะเกิดจากการลงงบบัญชีไม่ตรงกับ standard เป็นการลงตัวเลขเต็มแต่สินค้าถูกส่งออกไม่หมด ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่ามีสินค้าอยู่จริงหรือไม่ และสินค้ากับจำนวนที่สั่งเข้ามาสอดคล้องกันหรือไม่

ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่จะชี้เป็นชี้ตายความผิดทางอาญา  

ส่วนข้อสังเกตประเด็นสินค้าคงเหลือที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับยอดขาย ทนายพีรภัทร บอกว่า ในวันที่บอสพอลให้สัมภาษณ์ว่าทุกคนที่สั่งสินค้าต้องโอนเงินเข้าบริษัท ไม่ผ่านตัวแทน และบอกว่านี่คือการขายส่ง-ขายปลีก แต่เมื่อพูดคุยกับผู้เสียหาย พบว่า ลูกข่ายก็โอนเงินไปที่แม่ข่าย จึงเป็นคำถามต่อมาว่า เมื่อโอนเข้าแม่ข่าย แล้วแม่ข่ายได้โอนต่อไปให้บริษัทหรือไม่ มีการรับรู้รายได้ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่

โดยปกติ บริษัทใหญ่ ๆ เวลาเอาเงินเข้าไปแล้ว จะนำออกมานั้นยากมาก ซึ่งขัดกับภาพที่แม่ข่ายหลาย ๆ คนโชว์ภาพเงินจำนวนมาก คำถามคือ เงินนั้นออกมาจากบริษัทจริงหรือไม่ และต่อด้วยบริษัทรับรู้รายได้ที่แท้จริงหรือไม่ จะนำไปสู่เรื่องระบบภาษี

ส่วนเรื่องการกำกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินเยอะ หน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. หรือ คปภ. ที่ดูแลประกัน จะมีการกำหนดมาตรฐานชัดเจนว่า บริษัทจะลงงบการเงินต้องลงแบบไหน หรือการทำธุรกิจ การโฆษณา สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ในอดีตบางบริษัททำโปรโมชันลดแหลกแจกแถม เพื่อให้คนเข้ามาเปิดบัญชี สมัยนั้นทำให้คนที่เข้ามาซื้อมาสมัคร แต่ไม่ได้เข้าใจผลิตภัณฑ์จริง ๆ เลยว่าผลิตภัณฑ์การเงินนั้นมันมีประโยชน์อะไรกับชีวิต

ต่อมาจึงยกเลิก หน่วยงานกำกับจึงออกเกณฑ์มาว่าห้ามทำสิ่งเหล่านี้ เพราะต้องการให้ผู้ซื้อ ต้องรู้จริง ๆ ว่าซื้อผลิตภัณฑ์นั้นไปเพื่ออะไร

คำถามคือ ปัจจุบันนี้ สคบ. ที่กำกับธุรกิจขายตรง อาจอ้างได้ว่า ดิไอคอน ไม่ได้จดทะเบียนขายตรง ก็ไม่ได้อยู่ในกำกับของ สคบ. แต่ถ้าเป็นแชร์ลูกโซ่ ขายปลีก ใครเป็นคนกำกับดูแล ? แล้วกำหนดมาตรฐานทางบัญชีใช้กับดิไอคอนหรือไม่ ถ้าใช้และบังคับใช้กับทุกบริษัท สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ งบการเงินจะมีมาตรฐานแบบเดียวกัน เมื่อมีการส่งงบเข้ามา หน่วยงานกำกับจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่า ธุรกิจไหนมีความผิดปกติ แต่ในปัจจุบันยังพบว่า ประเทศไทยกลับเอาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้น้อย

ถ้าสามารถทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จะเกิดข้อแตกต่างขึ้นมา และถ้ามีบางอย่างที่ผิดปกติ ก็จะเอะใจได้ตั้งแต่วันนั้นแล้ว

ข้อสังเกต ดิไอคอน ตบแต่งบัญชีหรือไม่

รายงานจากสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากร ระบุว่า บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน การรายงานการเงิน ที่เหมาะสม หลังพบว่า งบการเงินของบริษัท มีข้อน่าสงสัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณ "สินค้าคงเหลือ" น้อยมาก เมื่อเทียบกับ "รายได้"

โดยเฉพาะงบการเงิน ปี 2564 ซึ่ง "รับรู้รายได้" มากกว่า 4,900 ล้านบาท หัก "ต้นทุนการขาย" แล้ว เข้าสูตรคำนวณอัตราส่วนหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ หรือ Inventory Turnover เท่ากับ 0.28 วัน หมายความว่า บริษัทมีสต็อกสินค้าเพียง 6.72 ชั่วโมง เท่ากับว่าบริษัทส่งสินค้าทันทีที่มีผู้เปิดบิล ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติของธุรกิจขายตรงทั่วไป

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี เชื่อว่าบริษัทบันทึกการรับรู้รายได้ จากค่าเปิดบิลของสมาชิกเต็มจำนวน ทั้งที่ยังไม่ได้ขาย หรือ ยังไม่ได้ส่งสินค้า ซึ่งสะท้อนในรายการเงินสดของบริษัทกว่า 4,949 ล้านบาท และขายออกเท่ากันกว่า 4,949 ล้านบาท

โดยบริษัทใช้กลยุทธ์ "การฝากสินค้า" เป็นข้ออ้าง ให้มีการปรับปรุงรายการค่าใช้จ่ายระหว่างรอบบัญชี จากสินค้าที่ยังไม่ส่งมอบกว่า 833 ล้านบาท กับต้นทุนประมาณ 2,875 ล้านบาท เพื่อสร้างหลักฐานในระบบบัญชีว่า "รายได้" กับ "การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม" ตรงกัน

ทั้งที่อาจมีรายได้ ที่ไม่เข้าบริษัทประมาณ 1,112 ล้านบาท จากยอดซื้อก่อนหัก VAT 2,866 ล้านบาท

กลยุทธ์ "การฝากสินค้า" และตั้งราคาขายสูงเกินจริง อาจเป็นความตั้งใจของบริษัท ที่ไม่ต้องการให้ขายสินค้าถึงผู้บริโภคตัวจริง

พร้อมย้ำว่า อาจเป็นการตบแต่งบัญชีที่ไม่แนบเนียน แต่ไม่มีใครสนใจ เพราะมีเพียง นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล และผู้ถือหุ้นรวม 3 คนเท่านั้น ที่จะอ่านข้อมูล เช่นเดียวกับ ผู้เสียหายจากการลงทุนกับบริษัท อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อพิรุธของงบการเงิน แต่หลงเชื่อ นายวรัตน์พล และพรีเซนเตอร์มากกว่า จึงยอมจ่ายเงินลงทุน

อ่านข่าว : 

อายัดซูเปอร์คาร์ "บอสพอล" อีก 1 คัน จอดริมทางลาดพร้าว-วังหิน

คนใกล้ชิด "บอสพอล" ให้ปากคำ-ผู้เสียหายดิไอคอน พุ่ง 5.7 พันคน

"พล.ต.ต.จรูญเกียรติ" ยัน 3 คลิปดิไอคอนเป็นเสียงจริง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง