ภัยพิบัติตามธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ว่าไม่มีใครอยากให้เกิด แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถรับรู้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที
กันไว้ดีกว่าแก้ ย่อมดีกว่าเกิดเหตุไปแล้วค่อยหาวิธีการแก้ไขอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ แม้ว่าจะไม่สามารถยับยั้งการเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถป้องกันความเสียหายให้ลดน้อยลงได้ “Emergency Alert” หรือ “ระบบเตือนภัย” ก่อนเกิดภัยพิบัติจึงจำเป็น เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และเตรียมตัวให้พร้อมรับมือเมื่อสถานการณ์ภัยพิบัติมาถึง ประเทศไทยอาจยังไม่คุ้นชินกับระบบนี้ แต่ในหลายประเทศทั่วโลกมีการนำระบบเตือนภัยมาใช้แล้วในหลายรูปแบบ
ระบบแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Cell Broadcast วิธีการที่รวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก โดยใช้การสั่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมกันในคราวเดียว รองรับมาตรฐานสัญญาณ 2G, 3G, 4G และ 5G เป็นวิธีการที่นิยมใช้ในหลายประเทศ เช่น
- สหรัฐอเมริกา มีการใช้ Wireless Emergency Alerts ระบบแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นข้อความ SMS ความยาวไม่เกิน 360 ตัวอักษร
- สหภาพยุโรป มีระบบแจ้งเตือนมาตรฐานอย่าง EU-Alert ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติระดับฉุกเฉินระดับสหภาพยุโรป โดยแต่ละประเทศจะมีระบบย่อยของตัวเอง เช่น NL-Alert ในเนเธอร์แลนด์
- เกาหลีใต้ มีระบบเตือนภัยผ่านมือถือ KPAS ใช้เตือนภัยทั้งความมั่นคงระดับประเทศ สถานการณ์โรคระบาด ตลอดจนภัยคุกคามต่าง ๆ
- ญี่ปุ่น มีระบบการเตือนภัยทางดาวเทียม J-Alert ที่ครอบคลุมทั้งช่องทางโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ อีเมล และการกระจายเสียงผ่านลำโพงในชุมชน
ระบบเตือนภัยผ่านวิทยุและโทรทัศน์ อีกหนึ่งระบบเตือนภัยที่ทุกประเทศทั่วโลกนิยมใช้กัน โดยอาศัยช่องทางสื่อสารมวลชนในการนำเสนอข่าวและเผยแพร่ข้อมูลเตือนภัยไปยังประชาชนที่รับชมและรับฟังผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุ สามารถสื่อสารได้ครบถ้วนทั้งการแจ้งเตือน วิธีเฝ้าระวัง และวิธีการรับมือ
ไซเรนเตือนภัย เป็นระบบเตือนภัยที่พบได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ หรือภูเขาไฟระเบิด ซึ่งประเทศที่นิยมใช้ไซเรนเตือนภัย เช่น
- ญี่ปุ่น เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องระบบเตือนภัยที่ทันสมัย โดยเฉพาะไซเรนเตือนภัยสึนามิที่ติดตั้งตามชายฝั่ง
- สหรัฐอเมริกา ใช้ไซเรนเตือนภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตที่มีความเสี่ยงต่อพายุทอร์นาโด
- ไทย มีระบบไซเรนเตือนภัย เพื่อป้องกันสึนามิตามพื้นที่ชายฝั่ง และพื้นที่มักเสี่ยงภัยน้ำท่วมเฉียบพลันโดยกรมป้องกันสาธารณะภัย
นอกจากระบบแจ้งเตือนที่กล่าวไปทั้ง 3 ระบบยังมีระบบการแจ้งเตือนอื่น ๆ ที่นำมาใช้อีกมากมาย เช่น แอปพลิเคชันเตือนภัย ระบบตรวจจับและเฝ้าระวัง ระบบนำทางและข้อมูลจราจร และระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศ (GIS) ซึ่งในหลายประเทศมีการใช้งานหลายระบบในเวลาเดียวกัน เพื่อให้การแจ้งเตือนและป้องกันภัยที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: bedrockanalytics, communitycenter, theactive, Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech