การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส องค์ประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิก เมื่อเช้าวันจันทร์ (21 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงโรม นครหลวงของอิตาลี ซึ่งเป็นที่ตั้งของนครวาติกัน และสำนักวาติกันด้วย ไม่เพียงแต่ทรงสลักความศรัทธาอาลัยในดวงจิตของมวลชนโลก แต่ยังทรงฝากบทบาท “โป๊ปทรงธรรม” ไว้บนเวทีการเมืองโลกด้วย
ตามหลักการขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ประมุขของทุกรัฐ ล้วนมีสถานะเป็นผู้นำทางการเมืองรวมถึงนครรัฐวาติกัน ศูนย์กลางของประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิก ที่มีสมเด็จพระสันตะปาปาวาระปัจจุบันแต่ละพระองค์ ป็นองค์พระประมุขสูงสุด ภายใต้ระบบการปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงแสดงบทบาทของหนึ่งในผู้นำทางการเมืองโลกในสมณเพศที่ประจักษ์ชัดแต่ภายในกรอบของสมณวินัย โดยเฉพาะใน 3 วิกฤตการณ์สำคัญในประชาคมโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ วิกฤตการณ์จากความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพยากร จากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และจากแนวอุดมการณ์ชาตินิยม

บทบาททางการเมืองของพระองค์ในศึกระดับภูมิภาค
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแสดงออกถึงพระเมตตาอย่างชัดเจนต่อฝ่ายที่อ่อนแอกว่าในศึกต่าง ๆ เช่น ศึกรัสเซีย-ยูเครน และศึกอิสราเอล-กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงบรรลุผลความพยายามไกล่เกลี่ยให้คู่ศึกยุติการสู้รบ แต่บทบาททางการเมืองของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ไม่ต่างจากผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลในยุโรป

อาทิ พระองค์ทรงตำหนิการรุกรานยูเครนของรัสเซียภายในกรอบสมณวินัยอย่างเหมาะสม แต่ด้วยวิธีการที่ประวัติศาสตร์การเมืองโลกต้องจารึก กล่าวคือ พระองค์ทรงขับรถไปยังสถานทูตรัสเซียประจำนครวาติกันเพื่อตรัสตำหนิประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย และทรงเรียกร้องให้ปูตินถอนกำลังออกจากยูเครน แทนการเชิญทูตรัสเซียให้เข้าเฝ้าพระองค์

กรณีศึกอิสราเอล-กลุ่มฮามาส พระองค์ทรงตำหนิการเปิดฉากการโจมตีของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 แต่พระองค์ก็ทรงแสดงพระทัศนะอย่างชัดเจนว่า การใช้พลานุภาพทางทหาร และอาวุธที่เหนือกว่าของอิสราเอลในการตอบโต้ และโจมตีเป้าหมายของกลุ่มฮามาสไม่ส่งผลดีใด ๆ ต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง

กรณีนโยบายสหรัฐฯ พระองค์ทรงแสดงพระทัศนะหลายสัปดาห์ก่อนกำหนดวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ชาวอเมริกันจะต้องตัดสินใจลงคะแนนให้นักการเมือง “คู่วายร้าย” ได้แก่ “คามาลา แฮร์ริส” ที่หนุนการทำแท้งจนเกือบทะลุเพดาน และ ”โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ต่อต้านผู้อพยพชาวต่างชาติอย่างสุดโต่ง
บทบาทการส่งเสริมกลุ่มผู้อพยพและความกลมเกลียวของพระองค์
บรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งออสเตรเลีย หรือ ABC News รายงานว่า ไม่นานหลังจากทรัมป์สาบานตนเข้ากุมบังเหียนรัฐบาลทรัมป์ 2.0 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแต่งตั้งพระคาร์ดินัลโรเบิร์ต แม็คเอลรอย (Robert McElroy) ซึ่งส่งเสริมสิทธิของกลุ่มผู้อพยพอย่างแข็งขัน ไปดำรงตำแหน่งอัครมุขนายก (archbishop) ที่โบสถ์คาทอลิกในกรุงวอชิงตัน

การตัดสินพระทัยดังกล่าวเป็นสัญญาณชี้ชัดว่า พระองค์ทรงส่ง “กระบอกเสียง” คัดค้านนโยบายผู้อพยพชาวต่างชาติของทรัมป์ไปอยู่ใกล้ ๆ ทำเนียบขาว คู่ขนานกับทรงแสดงพระทัศนะคัดค้านการอุ้มบุญ และการทำแท้งในทวีปยุโรป แต่ทรงชื่นชมนโยบายธำรงคุณค่าของครอบครัว และแบบแผนสังคมดั้งเดิม เช่น ในฮังการี

พระองค์ทรงส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) และพระองค์ทรงแสดงพระทัศนะสนับสนุนพรรคการเมืองที่ส่งเสริมนโยบายของ EU แต่ทรงคัดค้านนโยบายชาตินิยม ทั้งนี้ รัฐบุรุษที่ร่วมก่อตั้ง EU หลายท่านเป็นคริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิก

เมื่อกลางปี 2562 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงคัดค้านแผนการเปิดโรงเรียนแห่งหนึ่งนอกกรุงโรมที่มีนโยบายบ่มเพาะหลักการดั้งเดิมของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่แบ่งแยกบทบาททางเพศ ซึ่งยื่นเสนอโดยสตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของทรัมป์

พระองค์ทรงมีพระทัศนะส่งเสริมบทบาทสตรี เช่น ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการนครวาติกันที่เป็นสตรี ได้แก่ แม่ชีราฟฟาเอลลา เปตรีนี (Raffaella Petrini) และทรงเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ระดับหนึ่งด้วย อีกทั้งทรงสนับสนุนการลดโทษประหารชีวิต การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม
บทบาทการกระชับความสัมพันธ์ทางศาสนาของพระองค์
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีมิตรสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งทรงเป็นองค์พระประมุขแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England) ฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์ด้วย โดยทั้ง 2 พระองค์ทรงมีพระทัศนะตรงกันในประเด็นสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง สิทธิของกลุ่มผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัย และความปรองดองทางศาสนา

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังทรงให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ต่อการกระชับความสัมพันธ์กับศาสนาอิสลามด้วยเช่นกัน ทรงมีมิตรสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ ศ. ดร.อะห์หมัด มูฮัมหมัด อัฏฏ็อยยิบ (Ahmed Mohamed El-Tayyeb) ผู้นำศาสนาอิสลาม และผู้นำนักวิชาการในอียิปต์ ซึ่งมีจุดยืนคัดค้านการแบ่งแยกชาวยิว และความสุดโต่งทางศาสนาเช่นเดียวกับพระองค์

ดังนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจึงทรงได้รับการสรรเสริญในประชาคมโลกว่า ทรงเป็นองค์พระประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิกที่ทรงมีพระทัศนะก้าวหน้าทันสมัย แต่ภายในกรอบนโยบายเชิงสังคมของคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่สืบต่อเนื่องมากว่า 100 ปี
บทบาท และพระทัศนะที่ก้าวหน้าทันสมัยจึงเป็นพระเกียรติคุณที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประทับจารึกไว้ในโลกมนุษย์นี้ ถึงแม้พระองค์ได้เสด็จกลับคืนสู่พระเหย้าเบื้องบนเพื่อเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าแล้วด้วยสิริพระชนมายุ 88 พรรษา

สำนักวาติกันประกาศ กำหนดเริ่มศาสนพิธีไว้อาลัยพระองค์เป็นเวลา 9 วัน ซึ่งเรียกว่าช่วงงาน “โนเวนดิอาเล” (Novendiale) ในวันที่ 23 เม.ย. 2568 ที่พระมหาวิหาร St. Peter ในนครวาติกัน และพิธีพระศพของพระสันตะปาปาฟรานซิส จะจัดขึ้นใน วันที่ 26 เม.ย. เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 15.00 น.ตามเวลาในไทย และจะจัดขึ้นกลางแจ้ง ด้านนอกมหาวิหาร St.Peter หลังจากนั้นจึงจะเคลื่อนพระศพไปประกอบพิธีฝังที่มหาวิหาร St. Maria Maggiore ในกรุงโรม
ติดตามชมรายการทันโลก กับ Thai PBS วันจันทร์ - พฤหัสบดี เวลา 21.00 – 21.30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/Tanloke