หุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) รายงานการพบพายุฝุ่น (Dust Devil) บนดาวอังคารกำลังกลืนกินพายุอีกลูกหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์หายากและทำให้เราเข้าใจกระบวนการภายในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
แม้ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารจะมีความหนาแน่นเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับโลก แต่ภายในชั้นบรรยากาศที่เบาบางนั้นยังพบกับปรากฏการณ์พายุหมุนได้ไม่ต่างกัน พายุเหล่านี้จะหอบเอาฝุ่นจากพื้นผิวให้ลอยขึ้นไปตามกระแสลมที่หมุน เราเรียกพายุฝุ่นบนดาวอังคารเหล่านี้ว่า Dust Devil
จากการจับภาพพายุฝุ่นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2025 โดยหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ โรเวอร์บนดาวอังคารตัวนี้ได้พบกับพายุฝุ่นสองลูกปรากฏขึ้นห่างจากตำแหน่งที่มันอยู่ประมาณ 1 กิโลเมตร ลูกใหญ่มีขนาดความกว้างประมาณ 65 เมตร และลูกเล็กอยู่ด้านหลังของลูกใหญ่ มีขนาดประมาณ 5 เมตร ซึ่งระหว่างนั้นพายุฝุ่นลูกใหญ่ก็ได้กลืนกินพายุฝุ่นลูกเล็กกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของมันไป ซึ่งระหว่างการบันทึกภาพเคลื่อนไหว มันก็สามารถจับภาพพายุหมุนที่อยู่ในเฟรมภาพอีกสองลูกได้ด้วย
นี่เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายภาพเคลื่อนไหวพายุลูกหนึ่งกลืนกินพายุอีกลูกหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่หุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ได้ลงจอดบนดาวอังคารบริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร มันก็สามารถจับภาพพายุฝุ่นบนดาวอังคารได้หลายลูกและต่อเนื่องหลายครั้ง ซึ่งการเกิดพายุหมุนของดาวอังคารนี้ก็เป็นปรากฏการณ์เดียวกับพายุหมุนบนโลก อากาศร้อนบนพื้นผิวดาวอังคารนั้นลอยตัวขึ้นสูงผ่านอากาศที่เย็นและหนาแน่นกว่าด้านบน เมื่ออากาศจากบริเวณโดยรอบเคลื่อนเข้ามาแทนที่อากาศร้อนที่ลอยตัวยกขึ้นสูงก็เกิดการหมุนและก่อตัวเป็นพายุหมุนขึ้นมา ซึ่งจะดูดเอาฝุ่นบนพื้นผิวของดาวอังคารให้ลอยไปกับกระแสลมด้วย
แม้คำว่า “พายุหมุน” จะทำให้ดูน่ากลัวแต่เพราะชั้นบรรยากาศของดาวอังคารนั้นเบาบางกว่าโลก ความรุนแรงของกระแสลมในพายุนั้นถือแผ่วเบามากเมื่อเทียบความรุนแรงของกระแสลมบนโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าพายุฝุ่นบนดาวอังคารคือปัจจัยที่ทำให้หุ่นยนต์สปิริต (Spirit) และออปพอร์ทูนิตี (Opportunity) สามารถมีชีวิตรอดบนดาวอังคารได้ยาวนานกว่าที่ออกแบบไว้หลายสิบเท่า ก็เพราะว่าพายุฝุ่นกลับช่วยทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ด้วยการหอบเอาฝุ่นที่เกาะบนแผงเหล่านี้ให้หลุดไป
พายุหมุนบนดาวอังคารภาพแรกได้รับการบันทึกไว้โดยยานไวกิง 1 จากวงโคจรรอบดาว ซึ่งตั้งแต่นั้นมาก็มีการศึกษาปรากฏการณ์พายุฝุ่นบนดาวอังคารจากยานอวกาศหลายต่อหลายลำ มาร์สพาทไฟน์เดอร์ (Mars Pathfinder) เป็นยานอวกาศลำแรกที่สามารถจับภาพพายุฝุ่นบนพื้นผิวของดาวอังคารได้ สปิริตกับออปพอร์ทูนิตีก็สามารถจับภาพพายุฝุ่นได้หลายต่อหลายครั้ง แม้กระทั่งคิวริออซิตี (Curiosity) ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของดาวก็ยังสามารถจับภาพพายุฝุ่นได้เรื่อย ๆ
แต่การจับภาพพายุฝุ่นบนดาวอังคารนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยองค์ความรู้ของเราในปัจจุบันยังไม่สามารถทำนายตำแหน่งและเวลาเกิดของพายุฝุ่นเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน ทำให้การจะจับภาพและศึกษาพายุฝุ่นนี้ต้องอาศัยโชคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการศึกษาพายุฝุ่นผ่านหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ เพราะเจ้าหุ่นยนต์ต้องคอยจับตามองจากกล้องทุกตัวที่มีอยู่ และบ่อยครั้งพายุฝุ่นเหล่านี้ปรากฏมาให้เราเห็นเพียงไม่กี่สิบนาทีเท่านั้น
พายุฝุ่นเหล่านี้มีบทบาทสำคัญมากในการทำความเข้าใจสภาพภูมิอากาศของดาวอังคารและเข้าใจกลศาสตร์ภายในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร และที่สำคัญพายุฝุ่นยังเป็นจุดที่ก่อกำเนิดของฝุ่นที่ปกคลุมไปทั่วทั้งดาวอังคารมากกว่าครึ่งหนึ่งอีกด้วย ซึ่งการเข้าใจการก่อกำเนิดของพายุฝุ่นจะช่วยให้เราออกแบบระบบป้องกันฝุ่นบนดาวอังคารได้ดียิ่งขึ้นและทำให้ยานอวกาศของเรามีอายุการใช้งานที่ยานนานมากยิ่งขึ้น
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech