วันนี้ (25 เม.ย.2568) วงการการเมืองและธุรกิจสหรัฐฯ กำลังเดือด เมื่อ อีลอน มัสก์ CEO ของ Tesla และหัวหอกของ Department of Government Efficiency (DOGE) ทีมตัดงบประมาณของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะลดบทบาทในภารกิจนี้ หลังจาก Tesla รายงานผลกำไรไตรมาสแรกลดลงถึงร้อยละ 71 และยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าตกฮวบร้อยละ 20
การตัดสินใจครั้งนี้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และคำถามว่า มัสก์จะทิ้ง DOGE ไปเลยหรือไม่ และทีมที่มหาเศรษฐีคนนี้เคยนำ จะเดินหน้าต่ออย่างไรในยุคที่ไร้ "เทคซูเปอร์สตาร์"
มัสก์แถลงในงานแถลงผลประกอบการของ Tesla เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 เม.ย.2568) ว่าเขาจะลดเวลาทำงานกับ DOGE ลงอย่างมากตั้งแต่เดือน พ.ค. โดยจะจัดสรรเวลาเพียง 1-2 วันต่อสัปดาห์ให้กับงานรัฐบาล เพื่อโฟกัสกับ Tesla มากขึ้น
ผมยังต้องทำต่อไปตลอดวาระของ ปธน.ทรัมป์ เพื่อป้องกันการคืนชีพของความสูญเปล่าและการฉ้อโกง
แต่คำพูดนี้กลับยิ่งสร้างความสับสน เพราะมัสก์ถูกแต่งตั้งเป็น "พนักงานพิเศษของรัฐบาล - SGE" ซึ่งมีข้อจำกัดให้ทำงานได้ไม่เกิน 130 วัน/ปี ตามกฎของสำนักงานจริยธรรมแห่งรัฐบาลสหรัฐฯ วันใดที่ SGE ทำงานให้รัฐบาล แม้เพียงเล็กน้อย จะนับเป็น 1 วันเต็ม โดยนับจากวันเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์เมื่อ 20 ม.ค.2568 หากมัสก์ทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ เขาจะถึงขีดจำกัด 130 วันในช่วงปลายเดือน พ.ค.
แต่การลดวันทำงานอาจยืดระยะเวลานี้ไปได้ และขีดจำกัดจะรีเซ็ตใหม่ใน ม.ค.2569 ทรัมป์เองก็ยืนยันว่าการจากไปของมัสก์เป็นส่วนหนึ่งของแผน และเขาจะคุยกับมัสก์ถึงเรื่องนี้ พร้อมปกป้องว่า "มัสก์ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากสาธารณชน" และยกย่องมัสก์ว่าเป็นผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่

วิกฤต Tesla Takedown มัสก์ยอมถอยการเมือง
การตัดสินใจของมัสก์เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันมหาศาลจาก Tesla ซึ่งเผชิญกับพายุหมุนทั้งในแง่ผลประกอบการและภาพลักษณ์ รายงานล่าสุดระบุว่า Tesla มียอดส่งมอบรถยนต์ลดลงร้อยละ 13 และกำไรสุทธิร่วงร้อยละ 71 จากปีก่อน
สาเหตุหลักมาจากการประท้วงและการคว่ำบาตรทั่วโลกภายใต้แคมเปญ "Tesla Takedown" ที่ต่อต้านบทบาททางการเมืองของมัสก์ใน DOGE การประท้วงบางครั้งรุนแรงถึงขั้นวางเพลิงโชว์รูมและสถานีชาร์จของ Tesla นักวิเคราะห์อย่าง Dan Ives จาก Wedbush Securities เรียกสถานการณ์นี้ว่า ธงแดง และย้ำว่ามัสก์ต้องกลับมาโฟกัสที่ Tesla เพื่อกอบกู้อนาคตของบริษัท
หลังการประกาศลดบทบาท หุ้น Tesla พุ่งขึ้นทันที สะท้อนความหวังของนักลงทุนว่ามัสก์จะทุ่มเทให้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่เขาก็ยืนยันว่า Tesla ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ขนาดนั้น และมองว่าอนาคตของบริษัทขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับและหุ่นยนต์ AI ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของเขา
แล้วอนาคตของ DOGE ?
DOGE ซึ่งก่อตั้งโดยคำสั่งบริหารของทรัมป์เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2568 มีเป้าหมายลดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและปฏิรูปหน่วยงานราชการให้มีประสิทธิภาพ โดยมีกำหนดสิ้นสุดภารกิจในวันที่ 4 ก.ค.2569 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 250 ปีของการลงนามปฏิญญาอิสรภาพสหรัฐฯ มัสก์เคยอ้างว่า DOGE สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึงวันละ 1,000-4,000 ล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานใด และหลายฝ่ายวิจารณ์ว่า DOGE ขาดความโปร่งใส
การทำงานของ DOGE ภายใต้ "มัสก์" สร้างทั้งผลกระทบและข้อถกเถียง ตั้งแต่การเลิกจ้างพนักงานรัฐกว่า 20,000 คน การยกเลิกสัญญารัฐบาลมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ไปจนถึงการพยายามปิดหน่วยงานอย่าง USAID และ Consumer Financial Protection Bureau การกระทำเหล่านี้ทำให้เกิดการฟ้องร้องจากสหภาพแรงงานและกลุ่มผู้สนับสนุนที่มองว่า DOGE ละเมิดกฎหมายและสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบการชำระเงินของกระทรวงการคลังที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกัน
หากมัสก์ลดบทบาทหรือถอนตัวจริง ทีม DOGE ซึ่งมีพนักงานราว 100 คน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรหนุ่มจากซิลิคอนวัลเลย์ จะยังคงทำงานต่อ โดยมีผู้นำที่มัสก์แต่งตั้งในหน่วยงานต่าง ๆ ดูแลภารกิจ ทรัมป์ระบุว่าเมื่อมัสก์จากไป รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานจะรับช่วงต่อ และ DOGE จะยังคงอยู่เพื่อจัดการจากภายใน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อย่าง Elaine Kamark จาก Brookings Institution มองว่าการตัดงบประมาณครั้งใหญ่ตามที่มัสก์ตั้งเป้าไว้ เช่น ลดงบ 2 ล้านล้านดอลลาร์/ปี เป็นเรื่อง "ไร้สาระ" เพราะงบประมาณส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ได้รับความนิยม เช่น ประกันสังคม และ Medicare
ผลประโยชน์ที่ทับซ้อนของ "มัสก์"
บทบาทของมัสก์ในฐานะ SGE ถูกจับตาอย่างหนัก เนื่องจากเขามีผลประโยชน์ในบริษัทใหญ่ ๆ ที่ทำสัญญากับรัฐบาล เช่น SpaceX ซึ่งมีมูลค่าสัญญากับสหรัฐฯ ถึง 22,000 ล้านดอลลาร์ กฎ SGE ระบุว่าเขาต้องหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่กระทบผลประโยชน์ส่วนตัว ต้องยื่นแบบแสดงข้อมูลทางการเงินแบบลับ และผ่านการอบรมจริยธรรม ซึ่งทำเนียบขาวยืนยันว่ามัสก์ปฏิบัติตามแล้ว
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Public Citizen วิจารณ์ว่าทรัมป์ใช้กฎ SGE ในทางที่ผิด ทำให้มัสก์มีอำนาจมากเกินไปโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลการเงินต่อสาธารณะ นอกจากนี้ มัสก์ยังถูกวิจารณ์เรื่องพฤติกรรม เช่น การสวมหมวก "Make America Great Again" ในทำเนียบขาว ซึ่งอาจละเมิดกฎที่ห้าม SGE แสดงออกทางการเมือง

Max Stier จาก Partnership for Public Service ถึงขั้นเรียกการแต่งตั้งมัสก์ว่าเป็นการใช้กฎ SGE ในทางที่ผิด เพราะเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่รัฐบาลขาด แต่กลับมีอำนาจตัดสินใจที่อาจกระทบผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น การยกเลิกการสอบสวนบริษัทของเขาที่เคยดำเนินการโดยหน่วยงานที่ DOGE โจมตี
คำถามใหญ่ ๆ ตอนนี้คือ ถ้ามัสก์จะออกจาก DOGE จริงหรือแค่ลดบทบาท เพื่อยืดเวลาตามกฎ SGE และ DOGE จะรักษาโมเมนตัมได้หรือไม่เมื่อไร้มัสก์ ซึ่งเป็นทั้งผู้นำและสัญลักษณ์ของทีมนี้ คู่แข่งของ Tesla โดยเฉพาะบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน กำลังแซงหน้าในด้านราคาและนวัตกรรม ทำให้มัสก์ต้องเร่งแก้เกมในธุรกิจหลักของเขา ขณะเดียวกัน การที่ DOGE ถูกมองว่า "ไม่โปร่งใส" และ "ก้าวก่ายอำนาจรัฐสภา" อาจทำให้เผชิญแรงต้านจากฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนมากขึ้น
มัสก์อาจยังคงมีอิทธิพลในรัฐบาลทรัมป์ในฐานะที่ปรึกษาแบบไม่เป็นทางการ ตามที่ JD Vance รองประธานาธิบดีระบุว่ามัสก์จะยังเป็นที่ปรึกษาของทรัมป์และผม แต่สำหรับประชาชนอเมริกันและพนักงานรัฐที่สูญเสียงานจากน้ำมือของ DOGE การจากไปของมัสก์อาจไม่เพียงพอที่จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นได้
แหล่งที่มา : Reuters, CNN, NPR, BBC, CBS News, The Guardian, MSNBC, Fortune, Rolling Stone
อ่านข่าวอื่น :
ผบ.ตร.คาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 วันตรวจกล่องดำหาสาเหตุเครื่องบินตก
อำลาครั้งยิ่งใหญ่ ผู้นำโลก-ราชวงศ์ ร่วมพิธีพระศพ "โป๊ปฟรานซิส"