แม่ทัพภาค 4 ย้ำอย่าเชื่อผู้ไม่หวังดีปั่นกระแสปม "ตากใบ"

ภูมิภาค
21 ต.ค. 67
18:33
174
Logo Thai PBS
แม่ทัพภาค 4 ย้ำอย่าเชื่อผู้ไม่หวังดีปั่นกระแสปม "ตากใบ"
แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดใจครั้งแรกกรณีตากใบ ขอให้ทุกฝ่ายอย่าตกเป็นเครื่องมือผู้ไม่หวังดี ที่นำเหตุการณ์สร้างความเข้าใจผิด ยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เป็นความผิดพลาดในการเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งเป็นบทเรียนที่จะป้องกันในอนาคต

วันนี้ (21 ต.ค.2567) พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดใจครั้งแรกต่อกรณีตากใบ ก่อนการประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน และผู้ใหญ่ใน จ.นราธิวาส เป็นที่แรกหลังรับตำแหน่ง

โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า หากย้อนกลับไปมองการดำเนินการของรัฐต่อกรณีตากใบตลอด 20 ปี ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะตั้งแต่ปี 2549 มีการดำเนินคดีถึง 3 คดี คดีแรก ที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุม พนักงานอัยการสั่งงดการสอบสวน เพราะไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุ คดีที่ 2 คือ การดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม 59 คน ศาลก็สั่งไม่ฟ้อง เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่ต้องการให้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง และคดีทางเพ่งที่ครอบครัวผู้ได้รับผลกทระทบยื่นฟ้อง รัฐก็ได้จ่ายเงินเยียวยาแล้ว

ส่วนในปี 2566 ได้มีการยื่นฟ้องศาล ในคดีไต่สวนการตาย ซึ่งการพิจารณาของศาลพบว่า เกิดจากการขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ปรากฏผู้กระทำความผิด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปฎิบัติตามตัวบทกฎหมายในการสลายการชุมนุม ศาลจึงสั่งไม่ฟ้อง

และในปี 2566 ถึง ปัจจุบัน ที่มีการฟ้องร้อง 2 คดี ทั้งที่ญาติฟ้องเอง และอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง รวม 15 หมาย ผู้ต้องหา 14 คน ซึ่ง ก่อนคดีจะหมดอายุความ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มิได้เพิกเฉย ทั้งการเร่งรัดการกระจายข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การตรวจค้นบ้านพักของผู้ต้องหา การตรวจสอบกับสำนักทะเบียนราษฎร์ การนำข้อมูลของผู้ต้องหาเข้าสู่ระบบผู้ต้องหาที่ทางการต้องการ ตัวของ สตง.และนำเสนอเรื่องนี้ เข้าสู่ระบบตำรวจสากล เพื่อออกหมายแดงสำหรับผู้ต้องหาที่หลบหนีในต่างประเทศ

“ต้องยอมรับข้อเท็จจริงก่อนว่า ชนวนเหตุของการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 เกิดจากการจัดตั้งของกลุ่มขบวนการ ซึ่งก่อนจะมีการชุมนุมของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ก็ได้มีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 6 นาย ในข้อหาแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ โดยนำปืนของทางราชการไปให้กลุ่มแนวร่วมจริง ซึ่งศาลได้ตัดสินจำคุก 3 ปี 6 เดือน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ขั้นตอนการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ มีความผิดพลาด ทำให้เกิดความสูญเสีย ก็ต้องนำมาเป็นบทเรียน”

“ตั้งแต่ก่อนเหตุรุนแรงที่ปะทุขึ้น ในต้นปี 2547 เคยมีแนวร่วมระดับแกนนำ พูดว่า การจุดไฟแห่งการปฎิวัติเราทำสำเร็จแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของประชาชนในการขับเคลื่อนสู่เอกราช ทำให้เห็นถึงการจัดตั้งของกลุ่มขบวนการที่สร้างเหตุรุนแรงมาตลอด 20 ปี จึงไม่อย่าให้ทุกคนตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี ที่ต้องการสร้างสถานการณ์รุนแรงให้มากขึ้น เพราะประเทศไทยบอบช้ำมาเยอะแล้ว เราสูญเสียกันมาเยอะแล้ว ในช่วง 20 ปี เราจึงควรมองไปข้างหน้ามากกว่า ที่จะมองย้อนไปอดีตข้างหลัง ตอนนี้ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมดีกว่า”

แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมเน้นย้ำว่า ในห้วงเวลาสัปดาห์สุดท้ายของคดีตากใบจะหมดอายุความก็ได้ สั่งการให้ทุกหน่วยดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส และพื้นที่ชายแดนเพื่อป้องกันการขนย้ายวัตถุระเบิด ส่วนแผนการปรับลดกำลังพลในปี 2570 ก็ยังคงดำเนินการตามปกติ ซึ่งคดีตากใบ ไม่มีผลต่อแผนการดำเนินงานแต่อย่างใด โดยได้มีปรับลดกำลังทหารลงอย่างต่อเนื่องเมื่อสถานการณ์ค่อยๆดีขึ้น เพื่อถ่ายพื้นที่ให้กองกำลังประจำถิ่นมากขึ้น

อ่านข่าว :

20 ปี "คดีตากใบ" เงื่อนไขไฟใต้ครั้งใหม่

“ภูมิธรรม” ระบุสั่งตามตัว “ผู้ต้องหาตากใบ” แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

20 ปี ตากใบบาดแผลรอวันเยียวยา บนเส้นทางสันติภาพชายแดนใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง