ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รวมพลคนอินดี้ กับเทศกาลดนตรีในตำนาน


Lifestyle

19 ต.ค. 67

อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

Logo Thai PBS
แชร์

รวมพลคนอินดี้ กับเทศกาลดนตรีในตำนาน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1751

รวมพลคนอินดี้ กับเทศกาลดนตรีในตำนาน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ในช่วงยุค 90-2000 ถือเป็นยุคที่วงการเพลงในเมืองไทยมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เพราะมีแนวดนตรี และแนวเพลงให้เลือกมากมาย อีกทั้งยังมีศิลปินให้เลือกติดตามอีกเพียบ ทั้งจากค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ แม้แต่ศิลปินไร้สังกัด หรือที่เราเรียกกันว่า “ศิลปินอินดี้” 

ซึ่งแม้ว่าในยุคนั้นการโปรโมทแต่ละเพลงให้เข้าถึงคนฟัง จะยังมีวิธีไม่มากนัก โดยเฉพาะกับศิลปินที่ไม่ได้ถูกโปรโมทในระบบ Mainstream เหมือนค่ายใหญ่ ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีพื้นที่สำหรับศิลปินอินดี้ซะทีเดียว เพราะในยุคนั้นได้มีพื้นที่ให้กับผลงานของศิลปินอินดี้ได้ปล่อยสู่ผู้ฟัง หรือที่เราจะรู้จักกันในนาม “Fat Radio” นั่นเอง

รายการนักผจญเพลง Replay ได้เชิญศิลปินอินดี้ที่เดินทางมาตั้งแต่ยุค 90 จนถึงยุคปัจจุบันอย่างวง “Street Funk Rollers” และวง “Skalaxy” 2 วงดนตรีที่มีสไตล์เพลงที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มาบอกเล่าถึงบรรยากาศความสนุกของเสียงเพลงในยุคนั้น 

รวมไปถึง Moment ที่ศิลปินมีร่วมกับแฟนเพลง อีกทั้งยังมาแชร์ประสบการณ์ของการเป็นศิลปินอินดี้ ว่ามีความแตกต่างจากศิลปินค่ายใหญ่ ๆ อย่างไรบ้าง วิถีอินดี้ในยุคนั้นจะเป็นยังไงมาร่วมย้อนความทรงจำไปพร้อมกันในบทความนี้

วง Street Funk Rollers

วง Skalaxy ยุคปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในช่วงยุคที่วงการเพลงไทยในบ้านเรามีค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดอยู่นั้น ทำให้มักจะได้เห็นผู้ที่เป็นศิลปิน มีภาพลักษณ์ที่ดี หน้าตาดี จนผู้คนเรียกว่า ยุคของดาราร้องเพลง เหตุเพราะว่าค่ายเพลง ต่างก็คัดเลือกภาพลักษณ์ของศิลปินด้วยเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ซึ่งการที่จะมาเป็นนักร้องได้ คน ๆ นั้นจะต้องรับหน้าที่ในบทบาทอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น นักแสดง เป็นต้น 

เราจึงจะเห็นว่าศิลปินในยุคนั้นส่วนใหญ่แล้วนอกจากความสามารถในด้านการร้องเพลง รูปร่างหน้าตาและภาพลักษณ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการเป็นศิลปิน

ด้วยเหตุนั้นเอง ทำให้ศิลปินอีกมากมายเลือกที่จะทำเพลงกันเอง และส่งเดโมไปตามค่ายเล็กค่ายน้อยต่าง ๆ เพื่อให้เพลงของตัวเองได้เป็นที่รู้จักในหมู่คนฟังมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ถูกเปิดใน Mainstream แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้ศิลปินเหล่านั้นได้โชว์ความสามารถ เพราะว่าในยุคนั้น ถือเป็นยุคที่วงการเพลงในบ้านเรา มีการเปิดรับแนวดนตรีใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น 

มีค่ายเพลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พร้อมเปิดรับเดโมจากศิลปินหน้าใหม่มากมาย ทำให้คำว่าแนวเพลงอินดี้เริ่มเป็นกระแสต่อคนรักในเสียงดนตรี ในที่สุดแนวเพลงอินดี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น 

ตัวอย่างศิลปินอินดี้ในยุคนั้น ที่แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดของค่ายเพลงใหญ่ ๆ แต่พวกเขากลับมีอิทธิพลให้กับผู้คนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก เช่น วง “ซีเปีย”   กับวง “Moderndog” 2 วงนี้ยังถือเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการเป็นศิลปินของวง Street Funk Rollers อีกด้วย

วง “Modern Dog” กับ วง “ซีเปีย” ตัวอย่างศิลปินอินดี้ที่มีอิทธิพลต่อคนดนตรี

ถึงแม้ว่าจะเป็นศิลปินจากค่ายเล็ก หรือค่ายใหญ่ แต่สิ่งที่เหมือนกันนั่นคือ ‘วิธีการโปรโมทเพลง’ ซึ่งในยุคนั้นยังมีสื่อให้ศิลปินได้ทำการโปรโมทผลงานเพลงไม่มากนัก เป็นยุคที่ไม่ได้มี Social Media เหมือนทุกวันนี้ 

และแม้จะเป็นศิลปินจากค่ายเล็ก ๆ ก็ตาม แต่วิธีการโปรโมทเพลงนั้นไม่ได้ต่างจากค่ายเพลงใหญ่ ๆ เลย ยังคงมีการเดินสายโปรโมทผ่านตามคลื่นวิทยุ มีการสัมภาษณ์ตามสื่อโทรทัศน์ต่าง ๆ รวมไปถึงหนังสือพิมพ์ แต่จะมีสิ่งที่ต่างกันนั่นคือ เรื่องของช่วงเวลา AIR-TIME การโปรโมทเพลงของศิลปินอินดี้ในหน้าจอโทรทัศน์ ส่วนใหญ่จะเป็นเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป

ต้องยอมรับว่าวงการเพลงในยุคนั้น ‘สื่อวิทยุ’ ถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการโปรโมทเพลงของศิลปินแต่ละคน โดยเฉพาะในกลุ่มของศิลปินอินดี้ ที่ทุนเดิมไม่ได้มีพื้นที่ตามสื่อหลักมากเท่าไรนัก ตัวอย่างคลื่นวิทยุที่เปิดเพลงอินดี้ก็จะมี Fat Redio, Channel [V] , Hot wave เป็นต้น และเนื่องจากศิลปินอินดี้ส่วนใหญ่จะมีแนวเพลงที่ชัดเจน ทำให้ได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มคนฟังที่รักในเสียงเพลงได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่ได้อยู่บน Mainstream ก็ตาม

Channel [V], Fat Redio, Hot wave ตัวอย่างคลื่นวิทยุที่เปิดเพลงอินดี้ในยุคนั้น

นอกจากคลื่นวิทยุ ก็ยังมีอีกหนึ่งเทศกาลดนตรีที่ได้เปิดพื้นที่ให้เหล่าศิลปินอินดี้มาโชว์ผลงานเพลงของตัวเอง นั่นคือ “Fat Festival” เทศกาลดนตรีที่ไม่ได้มีเพียงแค่การจัดแสดงคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้ศิลปินกับแฟนคลับได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ผ่านบูธขายของที่ศิลปินแต่ละคนได้จัดเตรียมไว้ และจากความสำเร็จของเทศกาลดนตรีอย่าง Fat Festival ที่ได้กระแสตอบรับจากผู้คนอย่างล้นหลาม นั่นจึงทำให้ Fat Festival ขึ้นเป็นเทศกาลดนตรีเพื่อวัยรุ่นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย และนั่นยังส่งผลให้คลื่นวิทยุที่ชื่อ Fat Radio เป็นหนึ่งในคลื่นวิทยุที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นเป็นอย่างมาก

ภาพสมัยอดีตของวง Street Funk Rollers

ภาพสมัยอดีตของวง Skalaxy

การมีพื้นที่ให้เหล่านักดนตรีหน้าใหม่ หรือศิลปินอินดี้ที่ไม่ได้อยู่ในค่ายเพลงใหญ่ ๆ ถือเป็นโอกาสสำคัญให้พวกเขาได้โชว์ผลงานเพลงออกสู่ผู้ฟัง ทำให้เรารู้ว่ายังมีวงดนตรีเจ๋ง ๆ อีกมากมายในเมืองไทยที่ยังไม่ถูกค้นพบ เมื่อพวกเขาได้มีพื้นที่ปล่อยของ ได้มีสื่อในการช่วยส่งสารถึงผู้ฟัง ทำให้ศิลปินหน้าใหม่อีกมากมายกล้าที่จะทำตามสิ่งที่พวกเขารัก นั่นคือเสียงดนตรี และสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ มากยิ่งขึ้นในแบบฉบับที่เป็นตัวของตัวเอง จึงเป็นเหตุที่ทำให้วงการเพลงไทยเติบโตตามไปด้วย

ภาพบรรยากาศขณะที่วง SKALAXY เล่นดนตรี และถูกล้อมไปด้วยแฟนเพลง

บรรยากาศความสุขของเสียงเพลง ดนตรี และศิลปินในยุคอินดี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายรอให้ติดตาม ซึ่งหากใครอยากรับชมเรื่องเล่าสนุก ๆ ที่ศิลปินอินดี้อย่าง  วง “Street Funk Rollers” และ “Skalaxy” มาร่วมกันแชร์ประสบการณ์ตรงของพวกเขา อีกทั้งยังขนเพลงที่เชื่อว่าหลายคนต้องคิดถึง เช่น “ง่ายดาย” หรือ “ดื่ม” 

สามารถติดตามได้ในรายการ นักผจญเพลง Replay ในตอนที่มีชื่อว่า “Street Funk Rollers x Skalaxy วิถีอินดี้” รับชมได้ทาง YouTube Thai PBS และ เว็บไซต์ https://www.thaipbs.or.th/program/SongHunterTV/episodes/104543 รับรองว่าถูกใจวัยรุ่นอินดี้อย่างแน่นอน

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ : Spotify
ขอบคุณภาพจาก Facebook : Fat Radio, Channel [V] Music Thailand,  Street Funk Rollers, Skalaxy

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เพลงอินดี้วงดนตรีอินดี้Fat RadioFat FestivalStreet Funk RollersSkalaxyรายการนักผจญเพลง Replayคอลัมน์ เพลงหน้า A by นักผจญเพลง
อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์
ผู้เขียน: อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

ผู้ดำเนินรายการ นักผจญเพลง REPLAY รายการเพลงที่มากกว่าเรื่องราวของเพลง แต่บอกเล่าเรื่องราวของดนตรีในมุมที่แตกต่าง สร้างแรงบันดาลใจในชีวิตประจำวันได้

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด