วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่ยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่เชื้อ ถึงแม้วัณโรคจะสามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง แต่หากละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาอย่างเคร่งครัด อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรือการแพร่กระจายของเชื้อสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว
วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งแพร่กระจายผ่านละอองฝอยในอากาศจากการไอหรือจามของผู้ป่วย โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดที่มีการระบายอากาศไม่ดี เชื้อนี้มักจะเข้าไปในปอดและเริ่มแบ่งตัว ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ผู้ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการในระยะแรก ซึ่งเรียกว่าภาวะติดเชื้อแฝง (Latent TB Infection) แต่หากภูมิคุ้มกันลดลงเมื่อใด เช่น เกิดป่วยด้วยโรคอื่นขึ้นมา เชื้อวัณโรคก็จะฉวยโอกาสแบ่งตัวเป็นภาวะติดเชื้อ (Active TB) ได้ เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือมีไข้ต่ำ ๆ เรื้อรัง และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
วัณโรคมีหลายชนิด โดยชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ วัณโรคปอด (Pulmonary Tuberculosis) ซึ่งเกิดขึ้นที่ระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะปอด อย่างไรก็ตาม เชื้อวัณโรคสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้เช่นกัน เรียกว่าวัณโรคนอกปอด (Extrapulmonary TB) เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง วัณโรคกระดูก หรือแม้แต่วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง (Tuberculous Meningitis) ซึ่งสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา
วัณโรคปอดเป็นรูปแบบที่สามารถแพร่กระจายได้สูงที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการไอและมีเชื้อในเสมหะ แพทย์จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยการตรวจเสมหะ หรือเอกซเรย์ปอดเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
การทดสอบผิวหนังด้วยทูเบอร์คูลินแบบมองตูซ์ (Mantoux Tuberculin Skin Test) เป็นหนึ่งในวิธีการวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการฉีดส่วนของแบคทีเรีย (Tuberculin Antigen) เข้าไปในผิวหนัง ผู้ที่สัมผัสเชื้อมาก่อนหน้านี้จะตอบสนองต่อการฉีดด้วยการเกิดตุ่มแดงขึ้น อันเกิดจากการตอบสนองอย่างรวดเร็วของภูมิคุ้มกันเนื่องจากเคยสัมผัสเชื้อมาก่อน
การวินิจฉัยที่แม่นยำกว่าคือการนำตัวอย่างจากผู้ป่วยมาตรวจสอบ เช่น ตัวอย่างน้ำลายหรือเสมหะมาส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเชื้อ M. tuberculosis
หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค การรักษาจะใช้เวลานานกว่าการติดเชื้อทั่วไป ผู้ป่วยต้องรับประทานยาต้านวัณโรค (Anti-tuberculosis Drugs) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป เช่น ยา Isoniazid Rifampicin Pyrazinamide และ Ethambutol ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่เชื้อดื้อยา (Drug-resistant TB)
หากผู้ป่วยหยุดยาเองก่อนกำหนด หรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ จะเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคดื้อยา (Multidrug-resistant TB หรือ MDR-TB) ซึ่งต้องใช้ยารุ่นใหม่ที่มีราคาแพงกว่า ระยะเวลารักษานานกว่า และมีผลข้างเคียงมากกว่า
กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หรือผู้ที่มีเชื้อ HIV ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด เช่น เรือนจำหรือชุมชนแออัด การป้องกันวัณโรคจึงควรเริ่มตั้งแต่การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง การสวมหน้ากากในที่ชุมชน และการตรวจคัดกรองวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง
วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด การรับประทานยาให้ครบตามกำหนดคือหัวใจสำคัญของการหยุดวงจรการแพร่ระบาดของวัณโรค และลดโอกาสในการเกิดเชื้อดื้อยาในอนาคต
วัคซีน BCG (Bacillus Calmette–Guérin) เป็นวัคซีนเชื้อเป็น (Live-attenuated Vaccine) สำหรับใช้ในเด็กเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อวัณโรค หลายคนอาจจะไม่คุ้นคำว่า BCG แต่การฉีด BCG ก็คือการปลูกฝีนั่นเอง เนื่องจากทำให้เกิดแผลเป็นขนาดเล็กที่แขนหลังจากการฉีด คล้าย ๆ กับรอยแผลเป็นกลม ๆ ที่มักเห็นบนต้นแขนของเด็กไทยหลายคนในวัยประถมหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ได้รับการฉีดตั้งแต่แรกเกิด วัคซีนชนิดนี้มุ่งเน้นป้องกันวัณโรคในรูปแบบรุนแรง โดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมองและวัณโรคแบบแพร่กระจายในเด็กเล็ก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
แม้ว่าวัคซีน BCG จะไม่ได้สามารถป้องกันวัณโรคปอดในผู้ใหญ่ได้ทั้งหมด และไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็ถือเป็นเกราะป้องกันด่านแรกที่สำคัญ โดยเฉพาะในประเทศที่วัณโรคยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุข เช่น ประเทศไทย ซึ่งยังคงมีการฉีดวัคซีนนี้ในเด็กแรกเกิดอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ
นอกจากนี้ BCG ใช้ป้องกันไม่ให้เชื้อแฝงกลับมาก่อโรคได้ ด้วยระยะเวลาสร้างภูมิคุ้มกันนานถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศที่การติดเชื้อ TB เกิดขึ้นไม่บ่อย BCG จะให้แค่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเท่านั้น เนื่องจากการให้ BCG ทำให้วิธีวินิจฉัยแบบมองตูซ์เกิดภาวะผลบวกปลอม (False Positive) กล่าวคือ อันที่จริงไม่ติดเชื้อ แต่ตรวจแล้วผลเป็นบวกเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ในปัจจุบัน การฉีด BCG จึงยังถือเป็นแนวทางการป้องกันวัณโรคในเด็กที่สำคัญ โดยเฉพาะในประเทศที่วัณโรคยังเป็นโรคประจำถิ่นอย่างประเทศไทย ซึ่งมักมีการฉีดวัคซีนให้แก่ทารกแรกเกิดภายใน 1 เดือนหลังคลอด อย่างไรก็ตาม วัคซีน BCG ไม่สามารถป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่ได้ทั้งหมด และไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในรูปแบบแฝงอย่างสมบูรณ์ แต่สามารถลดความรุนแรงของโรค เช่น การป้องกันวัณโรคเยื่อหุ้มสมองและวัณโรคชนิดแพร่กระจาย (Disseminated TB) ในเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้วัณโรคจะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็ยังคงเป็นภัยเงียบที่ใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคิด การให้ความรู้กับสังคมเกี่ยวกับวิธีการป้องกัน การตรวจหาโรค และการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง จึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของวัณโรคในระยะยาว อย่ารอจนกว่าจะมีอาการ อย่ารอจนโรคกลับมาหนัก การใส่ใจสุขภาพ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และสนับสนุนระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง คือหนทางร่วมกันในการทำให้วัณโรคไม่กลับมาเป็นวิกฤติอีกครั้งในสังคมไทย
เรียบเรียงโดย
โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
Department of Biomedical Sciences
College of Biomedicine
City University of Hong Kong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech