ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทศกาลสงกรานต์ 13 สุภาษิตไทยเรื่อง “น้ำ” สอนชีวิต


Lifestyle

13 เม.ย. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

เทศกาลสงกรานต์ 13 สุภาษิตไทยเรื่อง “น้ำ” สอนชีวิต

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2577

เทศกาลสงกรานต์ 13 สุภาษิตไทยเรื่อง “น้ำ” สอนชีวิต
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี คำว่า "สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการ เคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์ จากราศีหนึ่ง สู่อีกราศีหนึ่ง คือวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง

ส่วนที่มาของการใช้ “น้ำ” เล่นสาดกัน เกิดขึ้นจากวันสงกรานต์เป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหาร ผู้คนในสมับโบราณ จึงคิดหากิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อน เป็นที่มาของกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกัน และเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อนในเดือนเมษายนอีกด้วย

ในเวลาต่อมา พิธีสงกรานต์จึงใช้ “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์ โดยใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ รวมทั้งการสรงน้ำพระที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข

จะเห็นได้ว่า สังคมไทยผูกพันกับ “น้ำ” มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ที่มีน้ำเป็นสัญลักษณ์สำคัญ และในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ จึงขอรวบรวม “สำนวนสุภาษิตไทย” ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำของคนไทยมาหลายชั่วอายุคน

“น้ำขึ้นให้รีบตัก” 

มีความหมายว่า เมื่อมีโอกาส หรือเมื่อโอกาสมาถึง จงรีบทำ เวลาน้ำขึ้นให้รีบตัก ถ้าน้ำลงแล้วจะพลาดโอกาส นอกจากนั้นยังมีความหมายว่า ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีมาให้ได้มากที่สุด หรือเมื่อมีโอกาสดี ควรรีบคว้าไว้

“น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา”

มีความหมายว่า โอกาสของใครคนนั้นก็จะกระทำการได้เปรียบกว่าอีกฝ่าย แต่เมื่อถึงโอกาสของอีกฝ่าย ฝ่ายนั้นก็จะได้เปรียบบ้างเช่นกัน นิยามสั้น ๆ ว่าคือ “ทีใคร ทีมัน” 

ที่มาของสํานวนนี้ เปรียบถึงเมื่อมีน้ำท่วม มดก็จะจมน้ำและถูกปลากิน แต่หากน้ำแห้ง ปลาก็จะถูกมดกัดกินได้เช่นกัน ธรรมชาติกับมนุษย์ก็เช่นกัน

“น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง”

มีความหมายว่า เป็นการพูดมาก แต่ได้เนื้อหาสาระน้อย ใช้ในการเปรียบเปรยกับคนที่พูดแล้วคนฟังไม่สามารถจับใจความสำคัญหรือเนื้อหาสาระอะไรได้ พูดวกไปวนมาจนไม่รู้ว่าส่วนใดเป็นใจความหลัก ใจความรอง แสดงได้ถึงความรู้ของผู้พูดว่าไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้นจริง ดังนั้นก่อนที่จะสื่อสารกับผู้ฟัง ควรเตรียมข้อมูลในเรื่องที่จะพูดให้กระชับ ตรงประเด็น

“มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ”

มีความหมายว่า การที่บุคคลหนึ่งไม่ยอมช่วยงานส่วนรวม แต่ยังทำตัวเกะกะการดำเนินงานของส่วนรวมให้มีความลำบากมากขึ้นไปอีก ที่มาของสํานวนดังกล่าว คำว่า “รา” ในที่นี้ แปลว่า ทำให้น้อยลง อ่อนลง หมดไปอย่างช้า ๆ คว่า “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” จึงเปรียบเปรยถึงผู้ที่ลงเรือลำเดียวกับคนอื่นแล้วไม่ยอมช่วยพายเรือ แต่ยังเอาขาจุ่มลงไปในน้ำ ยิ่งจะทำให้คนพายอื่น ๆ ต้องลำบากยิ่งขึ้น

“บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น”

มีความหมายว่า การรู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน ไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนใจขุ่นเคืองกัน เป็นการถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความอึดอัด โดยการใช้ท่าทีละมุนละม่อม 

สำนวนนี้ใช้เตือนใจไม่ให้ยึดติดกับสิ่งใดจนเกินไป เปรียบเทียบกับการเก็บดอกบัวในน้ำ โดยปกติบัวจะมีเหง้าอยู่ใต้โคลนในน้ำ ดอกและใบเป็นส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ การจะเก็บดอกบัวเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนมาก ต้องดึงก้านดอกเพียงเบา ๆ ไม่ให้กระทบกระเทือนจนทำให้โคลนตมฟุ้งกระจาย

“น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”

มีความหมายว่า คนเราต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และได้ประโยชน์ร่วมกันในการอยู่ในสังคม เหมือนกับน้ำที่จะต้องพึ่งพาเรือ ในการที่จะช่วยให้สายน้ำมีการเคลื่อนไหว และมีประโยชน์ช่วยให้สายน้ำนั้นยังคงอยู่ ในคราวเดียวกัน ธรรมชาติของเสือนั้นเกิดในป่า เติบโตในป่า เสือจำเป็นต้องอาศัยป่าในการดำรงชีวิตและสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป

“น้ำนิ่งไหลลึก” 

มีความหมายว่า คนที่ดูเงียบ ๆ เรียบร้อย นิ่งเฉย มักจะมีความคิดลึกซึ้ง ฉลาดหลักแหลม หรืออาจจะมีความคิดร้ายกาจมาก ๆ ที่มาของสำนวนนี้ เป็นการเปรียบเปรยถึงแม่น้ำที่บนผิวน้ำดูนิ่ง ๆ ไหลเอื่อย ๆ แต่ลึกลงไปของแม่น้ำนั้นมีน้ำที่ไหลแรง เปรียบเหมือนคนที่เงียบๆ หรือคนที่มีท่าทางเฉย ๆ ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น แต่ภายในแล้วเป็นคนช่างคิด

“น้ำน้อยแพ้ไฟ”

มีความหมายว่า คนที่มีกำลังน้อย หรือจำนวนคนที่น้อยกว่า ย่อมแพ้ฝ่ายที่มีคนมาก หรือกำลังมากกว่า ที่มาของสำนวนนี้ มาจากการเปรียบเทียบกับการที่จะต้องดับไฟที่กำลังลุกโชน หากนำเอาน้ำเพียงน้อยนิดไปดับ ก็ไม่สามารถที่จะดับไฟได้ เปรียบเสมือนกับคนที่มีกำลังและจำนวนน้อยกว่า ไม่อาจที่จะสู้รบกับคนที่มีจำนวนมากกว่าได้นั่นเอง

“ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา”

มีความหมายว่า ให้รู้จักฐานะของตนและเจียมตัว เป็นคำสอนที่เตือนให้คนเรารู้จักเจียมตน ประมาณตน ไม่มักใหญ่ไฝ่สูงจนเกินไป สำนวนนี้มักถูกนำไปใช้เมื่อต้องการสื่อสารให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงที่มา ฐานะ และสภาพของตนเอง อย่าคิดจองหอง หรือใฝ่ฝันอะไรที่สูงเกินตัว

“น้ำลดตอผุด”

มีความหมายว่า ในเวลาที่คนหมดอำนาจ ถ้าทำความชั่วไว้ ความชั่วนั้นก็จะปรากฏขึ้นมา เปรียบดังตอที่อยู่ในน้ำ เมื่อน้ำขึ้น จะมองไม่เห็นตอ เพราะน้ำท่วมมิด แต่เมื่อน้ำลดลง จะมองเห็นตอโผล่ขึ้นมา ความชั่วร้ายก็เปรียบเหมือนตอที่ยังไม่มีใครเห็น เพราะอำนาจที่เปรียบเหมือนน้ำท่วมปิดบังไว้ แต่ถึงคราวหมดอำนาจ ซึ่งเปรียบเหมือนคราวน้ำลง ความชั่วเหล่านั้นก็ปรากฎให้เห็นนั่นเอง

“กินน้ำใต้ศอก”

มีความหมายว่า การจำยอมตกเป็นรอง ไม่สามารถเทียบเทียมได้เท่า เช่นหญิงที่ได้สามี แต่ต้องตกไปอยู่ในตำแหน่งเมียน้อย เรียกว่า “กินน้ำใต้ศอกเขา” ที่มาของสํานวนนี้ เปรียบเปรยถึงการที่คน ๆ หนึ่งเอาสองมือรองน้ำมากิน แต่อีกคนหนึ่งรอหิวไม่ไหว จึงเอาปากเข้าไปรองน้ำที่ไหลลงมาจากข้อศอก เพราะรอหิวไม่ทันใจ กินแต่น้อยก็ยอม

“น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก”

มีความหมายว่า แม้จะไม่พอใจหรือโกรธฉุนเฉียวมาก จำต้องยิ้มแย้มแจ่มใสไว้ หรือการเก็บความไม่พอใจไว้ในใจ แสดงออกให้คนเห็นว่ายังเป็นมิตรกันอยู่ 

ที่มาของสํานวนนี้ เป็นการเปรียบเปรยน้ำขุ่นกับสิ่งที่เป็นลบ อาทิ ความโกรธ ความอิจฉา ส่วนน้ำใส เป็นสิ่งที่ดีงามที่เป็นด้านบวก น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก จึงเหมือนการเก็บความไม่พอใจไว้ในใจ แต่แสดงออกภายนอกด้วยท่าทีที่เป็นมิตร

“น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย”

น้ำร้อนปลาเป็นน้ำเย็นปลาตาย_0.jpg

มีความหมายว่า คนที่ใช้คำพูดที่ตรงไปตรงมา ทำให้ไม่ถูกใจคนฟัง แต่จริงใจไม่มีพิษมีภัย ซึ่งอาจจะดีกว่าคำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน แต่มีความร้ายกาจซ่อนอยู่ 

ที่มาของสำนวนดังกล่าว เปรียบเหมือนปลาที่ว่ายไปตามแม่น้ำลำคลอง ไม่ยึดเอาที่หนึ่งที่ใดอาศัยอยู่ เท่ากับอยู่ใน “ที่ร้อน” ปลาพวกนี้มักอยู่รอดปลอดภัย โอกาสจะถูกคนจับเอาไปกิน ถึงจะมีก็มีน้อย

สำนวนสุภาษิตไทย นอกจากสะท้อนวิถีชีวิตคนไทย นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน ยังเป็นคำสอนที่สามารถปรับมาใช้ในชีวิตประจำวัน และมีความร่วมสมัยอยู่เสมอ

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้เดินทางด้วยความปลอดภัย และพบกับเรื่องราวดี ๆ ตลอดช่วงวันหยุดยาวกันทุกคน…

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สุภาษิตไทยสำนวนสุภาษิตน้ำคำสอนสงกรานต์น้ำคำสอนชีวิต
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด