ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จอห์น วีลเลอร์ กับ “หลุมดำ” และ “จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอน”


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

13 เม.ย. 68

รศ. ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

Logo Thai PBS
แชร์

จอห์น วีลเลอร์ กับ “หลุมดำ” และ “จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอน”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2560

จอห์น วีลเลอร์ กับ “หลุมดำ” และ “จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอน”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันนี้ วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2025 เป็นวันขึ้นปีใหม่มหาสงกรานต์ตามประเพณีของไทย แต่สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ ย้อนกลับไป 17 ปี คือ วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2008 เป็นวันสุดท้ายของชีวิตดาวเด่นดวงหนึ่งแห่งวงการวิทยาศาสตร์ชื่อ จอห์น วีลเลอร์ (John Wheeler) ผู้ทำให้คำ “black hole” (“หลุมดำ”) เป็นที่รู้จักกันทั้งในวงการวิทยาศาสตร์และทั่วไป รวมถึง “wormhole” (“รูหนอนอวกาศ”) ทางลัดเชื่อมต่ออวกาศกาล (spacetime) แห่งจักรวาล และเจ้าของทฤษฎีความคิด “One-electron universe” (“จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอน”)

“วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปร่วมรำลึกถึง จอห์น วีลเลอร์ ไปรู้จักตัวตนบางส่วนของ จอห์น วีลเลอร์ ไปดูบทบาทของเขาในโครงการแมนฮัตตัน เพื่อสร้างระเบิดอะตอมและระเบิดไฮโดรเจน ไปดูผลงานทำให้เขาได้ชื่อเป็น “บิดาแห่งสัมพัทธภาพทั่วไปยุคใหม่” และไปดูที่มาทฤษฎีความคิด “One-electron universe” หนึ่งในความคิดท้าทายทั้งจินตนาการและความเป็นไปได้จริง (หรือไม่ ?)

John Archibald Wheeler บรรยายรับเชิญที่มหาวิทยาลัยมิสซูรี เมืองโรลลา

จากนักประดิษฐ์น้อยนิ้วเกือบด้วนสู่วิศวกรรมและนักฟิสิกส์

จอห์น วีลเลอร์ เป็นชาวอเมริกัน เกิดวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1911 ได้รับปริญญาเอกฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปคินส์ (Johns Hopkins University) ขณะมีอายุเพียง 21 ปี

ถึงแม้วีลเลอร์จะไม่ต้องผ่านชีวิตวัยเด็กที่ยากลำเค็ญดังเช่นนักวิทยาศาสตร์และบุคคลสำคัญหลายคน แต่เขาก็มีชีวิตวัยเด็กที่มีสีสันและเสี่ยงต่อชีวิตของเขาเอง

ในวัยเด็ก วีลเลอร์ ไม่ได้มีความคิดอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต แต่เขามี “แวว” อย่างหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ไม่ธรรมดา

“แวว” ที่ดูจะติดตัวเขาตลอดชีวิตในการทำงานวิทยาศาสตร์ ที่มิใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะมี จนกระทั่งเป็นที่ทราบกันในบรรดาเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ว่า...

เมื่อวีลเลอร์เห็นหรือได้รับโจทย์วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณิตศาสตร์ แทนที่จะต้องลงมือคิดแต่ละขั้นตอน หรือคำนวณเป็นขั้น ๆ ดังเช่นคนทั่วไป เขาก็ดูเหมือนจะจับโจทย์และข้อมูลที่มีทั้งหมด เข้าไป “เขย่า” อยู่ในหัว จนกระทั่งทุกอย่าง “ตกผลึก” เป็นคำตอบที่ต้องการออกมา ซึ่งอาจไม่ละเอียด แต่มักจะถูกต้อง ถึงแม้จะอย่างคร่าว ๆ

ตอนวัยเด็ก ถึงแม้วีลเลอร์จะไม่คิดเรื่องการเป็นนักวิทยาศาสตร์นัก แต่เขาก็ชอบคณิตศาสตร์และการประดิษฐ์คิดสร้างเครื่องมือของเล่น

เขาสร้างเครื่องคิดเลขแบบกลไกทำด้วยไม้ ปืนไม้ยิงกระสุนไม้ และเครื่องให้สัญญาณรถไฟเข้าออกสถานี และการทดลองเกี่ยวกับประทัด ไดนาไมต์

วีลเลอร์เล่า (ในภายหลัง เมื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์มีชื่อเสียง) ว่า “วันหนึ่ง ในขณะที่ผมกำลังจับฝาชนวนจุดระเบิดไดนาไมต์ด้วยมือซ้าย มันก็ระเบิดขึ้นมา ถูกปลายนิ้วชี้และทำให้ส่วนหนึ่งของนิ้วโป้งขาด ทำให้ต้องไปหาหมอและแกะสะเก็ดระเบิดจากตัวอยู่หกวัน”

รอยแผลและลักษณะที่ผิดปรกติของปลายนิ้วชี้และนิ้วโป้งมือซ้ายของวีลเลอร์ ยังอยู่ติดตัวของเขาตลอดชีวิต

ถึงแม้วีลเลอร์จะบาดเจ็บจากวัตถุระเบิด แต่ก็ไม่ทำให้กลัววัตถุระเบิด เพราะเขาก็ยังสนุกกับของเล่นจำพวกดอกไม้ไฟ ประทัด พลุ และต่อมาเมื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์เต็มตัว ก็เล่น (จริง) กับ “ของใหญ่” ที่สุดแห่งยุคสมัย คือ ระเบิดนิวเคลียร์ ทั้งระเบิดอะตอมและระเบิดไฮโดรเจน

จอห์น วีลเลอร์ เรียนจบชั้นมัธยมเมื่ออายุ 15 ปี แล้วก็เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปคินส์ โดยเริ่มต้นกับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อจะได้เป็น “วิศวกร” ตามลุงของเขาสามคนที่เป็นวิศวกรเหมืองแร่ และก็ได้ทดลองทำงานที่เหมืองแร่ด้วย

แต่วีลเลอร์เรียนเพื่อเป็นวิศวกรเพียงหนึ่งปี ก็เปลี่ยนใจ หันมาเดินบนถนนสายวิทยาศาสตร์ คือ ฟิสิกส์อย่างเต็มตัว

จอห์น อาร์ชิบอลด์ วีลเลอร์ (ยืน อ่านสมุดบันทึก) กับริชาร์ด ไฟน์แมน บนโซฟา

จอห์น วีลเลอร์ กับผลงานแรก “การผลิตคู่อิเล็กตรอน-โพซิตรอน”

จอห์น วีลเลอร์ เริ่มต้นทำงานอย่างเป็นนักฟิสิกส์อาชีพ ที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันในปี ค.ศ. 1938 แต่ก่อนจะถึงมหาวิทยาลัยรินซ์ตัน ในทันทีที่ได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปคินส์ เขาก็ขอไปทำงาน (คล้ายฝึกงานสำหรับคนเพิ่งจบปริญญาเอก) ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กกับ เกรกอรี เบรต (Gregory Breit) ระหว่างปีค.ศ. 1933-1934 และที่มหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์กกับ นีลส์ บอร์ (Neils Bohr) ระหว่างปี ค.ศ. 1934-1935

ถึงแม้จะเหมือนกับการฝึกงาน แต่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก วีลเลอร์ ก็สามารถสร้างผลงานร่วมกับ เกรกอรี เบรต ที่ยัง “ท้าทาย” วงการฟิสิกส์ถึงทุกวันนี้ โดยมีชื่อของเขาร่วมปรากฏด้วย คือ “Breit-Whleeler Process” (กระบวนการ เบรต- วีลเลอร์) หรือ “Breit-Wheeler pair production” (การผลิต-คู่เบรต-วีลเลอร์) ตีพิมพ์ในวารสาร Physical Review ปี ค.ศ. 1934...

เป็นกระบวนการของการเกิดคู่อนุภาค (อิเล็กตรอน) กับปฏิอนุภาคของอิเล็กตรอน (โพซิตรอน) จากการชนกันของสองอนุภาคแสง หรือโฟตอน

สำหรับวงการวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป “pair production” หรือ “การผลิตคู่” มีทั้งการเกิดขึ้นของคู่อนุภาคกับ ปฏิอนุภาค ที่เกิดจากการสลายตัวของโฟตอนเมื่ออยู่ใกล้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าสูงหรือเข้าใกล้นิวเคลียสของอะตอม และที่เกิดจากการชนกันของคู่อนุภาคกับปฏิอนุภาค ดังเช่น อิเล็กตรอนกับโพซิตรอน หรือโปรตอนกับแอนติโปรตอน แล้วก็สลายตัวเกิดเป็นคู่อนุภาคใหม่ของอนุภาคกับปฏิอนุภาครวมถึงคู่อนุภาคโฟตอน ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีการทดลองเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เกิดขึ้นได้จริง

แต่สำหรับการผลิตคู่ตามแบบของเบรต-วีลเลอร์ คือ การชนกันของสองอนุภาคแสง คือ โฟตอน แล้วสลายตัวเกิดเป็นคู่อนุภาค เช่น อิเล็กตรอนกับโพซิตรอน ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์อยู่ถึงปัจจุบัน

สำหรับการ “ฝึกงาน” อยู่กับ นีลส์ บอร์ ถึงแม้วีลเลอร์จะไม่มีผลงานชัดเจนเท่ากับที่อยู่กับเกรกอรี เบรต แต่ก็เป็นโอกาสที่วีลเลอร์ “ดีใจ” ที่สุด ที่ได้ฝึก (ทำ) งาน อยู่กับ นีลส์ บอร์ จนกระทั่งวีลเลอร์ นับถือ นีลส์ บอร์ เป็น “mentor” (ครู) ของเขา

ภาพถ่ายโดยห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอาลามอส

จอห์น วีลเลอร์ กับ “ระเบิดอะตอม” และ “ระเบิดไฮโดรเจน”

จอห์น วีลเลอร์ เริ่มต้นทำงานฟิสิกส์อย่างเต็มตัวที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในปี ค.ศ. 1938 และก็ไม่ได้คิดจะไปเกี่ยวข้องกับการสงคราม

แต่ในปี ค.ศ. 1989 วีลเลอร์ ได้รับข่าวจาก นีลส์ บอร์ ว่า นักวิทยาศาสตร์ในเยอรมนีแยกอะตอมได้แล้ว และเขาก็ได้ร่วมกับ นีลส์ บอร์ ศึกษาเรื่องปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน แล้วก็ได้ตีพิมพ์รายงานของเขาทั้งสองเกี่ยวกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ ฟิชชันในวารสาร Physical Review ฉบับวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 วันเดียวกับที่ ฮิตเลอร์ ส่งกองทัพเยอรมันนาซีบุกโปแลนด์ จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 สหรัฐอเมริกาก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ไม่กี่วันต่อมา เยอรมนีและอิตาลี ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเต็มตัว และเมื่อโครงการแมนฮัตตันเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1942 วีลเลอร์ก็เข้าร่วมงานกับโครงการแมนฮัตตันด้วย อย่างตั้งใจ (กับการสร้างระเบิดอะตอม) มากขึ้น

สาเหตุที่วีลเลอร์ “ตั้งใจ” มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากความรู้ของเขาเกี่ยวกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันที่เขาทำกับนีลส์ บอร์ แต่ก็ยังมีสาเหตุส่วนตัวด้วย

วีลเลอร์ มีพี่ชายชื่อ “โจ” เป็นทหารอเมริกันเข้าร่วมรบในสมรภูมิที่อิตาลี วันหนึ่งในปีค.ศ. 1944 วีลเลอร์ ได้รับโปสต์การ์ดจากโจมีข้อความเพียงสั้นๆ สองคำว่า “HURRY UP” (“เร่งมือขึ้น”)

แต่ระเบิดอะตอมก็ถูกสร้างขึ้นไม่ทัน (เพื่อยุติสงคราม) สำหรับโจ เพราะเขาเสียชีวิตในสมรภูมิเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง วีลเลอร์ก็ร่วมงานกับโครงการแมนฮัตตันต่อ เพื่อสร้างระเบิดไฮโดรเจน เป็นหัวหน้าโครงการ Matterhorn B (แมตเตอร์ฮอร์น บี) โดยที่ B หมายถึง Bomb (ระเบิด) และประสบความสำเร็จกับการทดลองระเบิดไฮโดรเจนลูกแรกของสหรัฐอเมริกา กับการทดลองชื่อ IVY MIKE (ไอวี ไมค์) ที่เกาะปะการังเอเนเวตักอะทอล (Enewetak atoll) ในมหาสมุทรแปซิฟิก วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1952

วีลเลอร์ เป็นนักฟิสิกส์มีบทบาทสำคัญสำหรับการสร้างระเบิดไฮโดรเจนของสหรัฐอเมริกา แต่บทบาทของเขาเกี่ยวกับระเบิดไฮโดรเจนก็สะดุด ด้วยเหตุเขาทำเอกสารลับเกี่ยวกับการสร้างระเบิดไฮโดรเจนหายไป ระหว่างการเดินทางโดยรถไฟข้ามคืนจากฟิลาเดลเฟียไปกรุงวอชิงตัน ดีซี วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1953

มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับบทบาทของวีลเลอร์กับการสร้างระเบิดอะตอมและระเบิดไฮโดรเจนของสหรัฐอเมริกา และผลจากการทำเอกสารลับสำคัญเกี่ยวกับระเบิดไฮโดรเจนหาย เพราะกลายเป็นคดีที่ถึงทุกวันนี้ เอฟบีไอ (FBI) ก็ยัง “ปิดไม่ลง” แต่ก็สร้าง “เหตุใหญ่” โยงใยกับเรื่องสปายสายลับ ทฤษฎีสมคบคิด ทำให้มีการสืบสวน-สอบสวนทั้งตัววีลเลอร์ และนักวิทยาศาสตร์ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ (ทั้งระเบิดอะตอมและไฮโดรเจน) ดังเช่น โรเบิร์ต ออปเปนไฮเมอร์ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของโครงการแมนฮัตตันด้วย ที่คัดค้านการสร้างระเบิดไฮโดรเจนของสหรัฐอเมริกา

มีนักวิทยาศาสตร์บางคนได้รับผลกระทบรุนแรง ถึงขึ้นถูกลงโทษหรือถูก “จับตา” แต่สำหรับวีลเลอร์มีคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่า “เราไม่สามารถลงโทษจอห์น วีลเลอร์ได้ นอกไปจาก "การตำหนิอย่างรุนแรง" เพราะเขามีความสำคัญต่อการสร้างระเบิดไฮโดรเจนมากเกินไป”

เหตุจากการทำเอกสารลับเกี่ยวกับระเบิดไฮโดรเจนหาย มีผลต่อวีลเลอร์มาก เพราะถึงแม้จะไม่ถูกลงโทษ ก็ถูก “ลดบทบาท” และตัดสิทธิ์การเข้าถึง “ข้อมูลข่าวสารสำคัญทางความมั่นคง” ของประเทศ

แต่ก็ทำให้เขากลับคืนสู่โลกของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์อย่างเต็มตัวจริง ๆ

ทฤษฎีหลุมดำ โดยจอห์น วีลเลอร์

จอห์น วีลเลอร์ กับสัมพัทธภาพทั่วไป

จอห์น วีลเลอร์ อยู่กับมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันอย่างยาวนานระหว่างปี ค.ศ. 1938 ถึงปี ค.ศ. 1976 ได้ชื่อเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่ “ตั้งใจ” และ “ให้ความสำคัญ” แก่ลูกศิษย์มาก เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาปริญญาเอกฟิสิกส์มากกว่าอาจารย์ฟิสิกส์คนอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน คือ 46 คน และหลายคนก็ได้รับรางวัลโนเบล ดังเช่น

* ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman) ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี ค.ศ. 1965 สำหรับผลงานเกี่ยวกับควอนตัม อิเล็กโตรไดนามิกส์ (quantum electrodynamics) และ

* คิป ธอร์น (Kup Thorne) ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี ค.ศ. 2017 สำหรับผลงานเกี่ยวกับการตรวจจับและพบคลื่นความโน้มถ่วง

สำหรับผลงานเด่นที่สุดทางด้านวิชาการของวีลเลอร์ คือ การทำให้ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของไอน์สไตน์ ได้รับความสนใจจากวงการวิทยาศาสตร์ยุคกลางศตวรรษที่ยี่สิบอย่างจริงจังขึ้นมาอีก จนกระทั่งได้ชื่อเป็น “บิดาแห่งสัมพัทธภาพทั่วไปยุคใหม่”

ไอน์สไตน์ ตั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษขึ้นมาในปี ค.ศ. 1905 และก็เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เมื่อระเบิดอะตอมถูกสร้างขึ้นมาจากสมการ E = mc² ซึ่งเป็นผลจากสัมพัทธภาพพิเศษ...

แต่สำหรับสัมพัทธภาพภาคทั่วไปที่ไอน์สไตน์ตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1915 เมื่อถึงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ก็ยังไม่เป็นที่สนใจหรือรู้จักกันนัก นอกเหนือไปจากนักจักรวาลวิทยา ที่ทราบว่าจักรวาลมีกำเนิดตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเป็นแบบ “บิกแบง”

จนกระทั่งเมื่อวีลเลอร์กลับ (จากเรื่องระเบิดนิวเคลียร์) มาสู่ถนนสายวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์อย่างเต็มตัว โดยวีลเลอร์สนใจสัมพัทธภาพทั่วไปมากเป็นพิเศษ เปิดสอนวิชาสัมพัทธภาพภาคทั่วไป พยายามทำให้สัมพัทธภาพภาคทั่วไปเป็นทฤษฎีที่ “เข้าถึง” หรือ “เข้าใจ” ไม่ยาก เปรียบเทียบอย่างชัดเจนให้เห็นว่า สัมพัทธภาพภาคทั่วไป ก็คือ ทฤษฎีความโน้มถ่วง คล้ายกับของนิวตัน แต่ละเอียดและถูกต้องกว่าของนิวตัน...

ทว่า ก็ไม่ทำให้คนต้องใช้ทฤษฎีของนิวตันต้องเสียขวัญ เพราะทฤษฎีของนิวตัน ก็ยังใช้ได้ดี สำหรับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ดังเช่น การเคลื่อนที่ของดวงดาว การพยากรณ์เกี่ยวกับดาวหาง และปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันบนโลก

สำหรับคำว่า “black hole” ถึงแม้วีลเลอร์จะไม่ใช่คนแรกที่ใช้คำ “black hole” เพราะมีหลักฐานการใช้คำ black hole มาก่อนวีลเลอร์ ดังปรากฏในรายงานข่าวโดย แอนน์ อีวิง (Ann Ewing) ตีพิมพ์ใน Science News Letter ฉบับวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1964 ซึ่งเธอก็มิได้ระบุชื่อผู้ใช้คำ “black hole” ที่เธอได้ยินและรายงานเป็นครั้งแรก

แต่สำหรับวีลเลอร์ เขากล่าวถึงที่มาของคำ black hole ว่า ในการบรรยายของเขาวันหนึ่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1967 ผู้ฟังคนหนึ่ง เบื่อที่จะได้ยินคำอธิบายซ้ำๆ ถึง “วัตถุที่ยุบถล่มตนเอง โดยสิ้นเชิงจากความโน้มถ่วง” ได้ตะโกนขึ้นว่า ทำไมไม่เรียกมันเป็น “black hole” ล่ะ แล้ววีลเลอร์ก็เห็นด้วยว่า “ใช่เลย !” และก็ใช้คำว่า black hole ตั้งแต่นั้นมา

สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ จะได้ยินหรือเห็นคำว่า “black hole” เป็นครั้งแรกจาก วีลเลอร์ ทำให้วีลเลอร์ได้ชื่อเป็นผู้ตั้งคำ black hole ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วีลเลอร์จะไม่ใช่คนแรกที่ตั้งคำ black hole แต่ที่สำคัญคือ

ก็เพราะวีลเลอร์ ทำให้คำ black hole เป็นคำที่ “ติดปาก” กันถึงทุกวันนี้

สำหรับคำ “wormhole” หรือ “รูหนอนอวกาศ” เป็นคำที่วีลเลอร์ตั้งขึ้นมา ในรายงานของวีลเลอร์และชาร์ลส์ ดับบลิว. มิสเนอร์ (Charles W. Misner) ตีพิมพ์ในวารสาร Ann. Physics เมื่อปี ค.ศ. 1957 เพื่ออธิบายทางลัดเชื่อมต่อสองตำแหน่งของ “อวกาศกาล” ที่โค้ง (ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป)

เรื่อง รูหนอนอวกาศ เป็นเรื่องพิสูจน์ให้เห็นได้ยากในธรรมชาติของจริง แต่ก็ไม่มีข้อห้ามอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า เกิดขึ้นไม่ได้ และก็เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ ดังเช่น คิป ธอร์น ชอบใช้ในการอธิบายผลจากสัมพัทธภาพทั่วไป อย่างเป็นรูปธรรมในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ดังในภาพยนตร์เรื่อง Contact (ค.ศ. 1977) และ Interstellar (ค.ศ. 2014) สำหรับการเดินทางลัดในอวกาศ และการเชื่อมต่อมิติเวลา , การสื่อสารต่างมิติเวลา , การท่องเวลา , ฯลฯ

หลุมดำ ภาพโดย NASA

จอห์น วีลเลอร์ กับ “จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอน”

“One-electron universe” หรือ “จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอน” เป็นความคิดทฤษฎีของวีลเลอร์บอกกับ ริชาร์ด ไฟน์แมนทางโทรศัพท์วันหนึ่งในปี ค.ศ. 1940 ความว่า

บรรดาอิเล็กตรอนทั้งหมดในจักรวาล ล้วนมาจากอิเล็กตรอนเพียงหนึ่งเดียว โดยอิเล็กตรอนที่เราคุ้นเคย เป็นอิเล็กตรอนเคลื่อนที่ไปข้างหน้ากับเวลา ส่วนโพซิตรอนเป็นอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ย้อนเวลา

“แล้วทำไม ในจักรวาลของเรา จึงมีอิเล็กตรอนมากกว่าโพซิตรอน” ไฟน์แมนถาม

วีลเลอร์ตอบว่า โพซิตรอนที่หายไป อาจไปซ่อนอยู่ในโปรตอน

“จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอน” เป็นหนึ่งในทฤษฎีความคิดที่แปลกสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ยุคใหม่

ไฟน์แมน ยอมรับว่า “จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอนเป็นทฤษฎีความคิดที่แปลกอย่างไม่น่าเชื่อ”

แต่ไฟน์แมนยอมรับว่า ความคิดเรื่องปฏิอนุภาคของอิเล็กตรอน คือ โพซิตรอน เป็นอิเล็กตรอนที่ย้อนเวลา ซึ่งหลายคนเข้าใจว่า เป็นความคิดของเขานั้น จริงๆ แล้ว เป็นความคิดที่เขา “ขโมย” มาจากความคิดของวีลเลอร์

จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายชีวิตของวีลเลอร์ เขาก็มิได้เขียนหรือขยายความ “จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอน” ให้ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับผู้เขียน คิดว่า บางที วีลเลอร์อาจคิดว่า “ไม่จำเป็น !”

ผู้เขียนยอมรับว่า “จักรวาลหนึ่งอิเล็กตรอน” ของวีลเลอร์ เป็นความคิดทฤษฎีที่ “แปลก” แต่ไม่คิดว่า “เป็นไปไม่ได้!”

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร ?

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Scienceวิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต
 รศ. ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล
ผู้เขียน:  รศ. ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

นักวิทยาศาสตร์ และนักอนาคตศาสตร์ เจ้าของคอลัมน์ ​"วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต"

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด