ความเหงาคือสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด แต่การมีความรักครั้งใหม่ในช่วงบั้นปลายชีวิต ก็มักจะถูกสะท้อนมุมมองผ่านค่านิยมของสังคมไทย และสายตาจากคนรอบข้าง จนก่อคำถามขึ้นในใจว่า สมควรแล้วหรือไม่ ? ที่เราจะมีความรักอีกครั้ง
เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา กล่าวคือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนอกจากปัญหาสุขภาพกายที่ผู้สูงวัยต้องเผชิญแล้ว ปัญหาสุขภาพใจอย่างความเหงาก็เป็นสิ่งที่เกาะกินใจผู้สูงวัยเรื่อยมา ยิ่งคนที่ไม่มีคู่ไม่ว่าจะด้วยเพราะเหตุผลใดก็คงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความรักนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของคนหนุ่มสาว วัยรุ่น วัยทำงาน แต่เพียงอย่างเดียว เพราะความรักนั่นไม่จำกัดช่วงวัย ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นอาจยิ่งต้องการความรักความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในสังคมผู้สูงวัยที่กำลังขาดแคลนความรู้สึกที่ทำให้หัวใจกระชุ่มกระชวยเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมของสังคมไทยอาจกำลังกดความกล้าในการมีความรักครั้งใหม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความรักนั้นเปรียบได้กับของขวัญล้ำค่า ที่จะมาช่วยเติมเต็ม สร้างสีสันให้เกิดขึ้นกับชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม
ทำไมผู้สูงอายุถึงต้องการความรักครั้งใหม่?
ความรักเป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานที่ซับซ้อนที่สุดของมนุษย์ และมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต ในทางจิตวิทยาได้ให้คำนิยามไว้ว่า ความรักคือการเติมเต็มความสุขทางใจ การได้รับความรักจะช่วยให้เรารู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และมีคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ ความรักยังช่วยลดความเครียดและส่งเสริมให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีตามมา จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมมนุษย์เราถึงโหยหาความรักตั้งแต่แรกเริ่มการดำรงชีวิต และถึงแม้ว่าจะแก่ตัวลง อายุเพิ่มมากขึ้น มนุษย์ก็ยังคงต้องการความรักอยู่ดี และอาจมีปัจจัยที่ทำให้โหยหาความรักเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ
- การจากลานำไปสู่ความเหงาและความโดดเดี่ยว หนึ่งในสิ่งที่ผู้สูงวัยมีความกังวลมากที่สุดก็คือการสูญเสียคู่ครองไปก่อนตนในช่วงปั้นปลาย เพราะมันจะนำพามาซึ่งความเหงาความโดดเดี่ยว ขาดใครสักคนที่จะคอยเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้างกัน
- ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ลูกหลานไม่ได้ตัวติดอยู่กับเราเหมือนดั่งแต่ก่อน ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปสร้างครอบครัว มีชีวิตเป็นของตนเอง ไหนจะปัญหาระหว่างวัย ที่ทำให้การพูดจาระหว่างกันเกิดการไม่ลงรอย
- เพื่อนคู่คิด มิตรภาพจากความรัก การมีใครสักคนไว้คอยพูดคุย หันหน้าไปแล้วมีคนอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น คอยดูแลซึ่งกันละกัน จะทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการอยากมีชีวิตอยู่ยืนยาว
ยิ่งสูงวัยยิ่งยากที่จะรักใครสักคน
ในเมื่อความรักเป็นอารมณ์ที่ซับซ้อนยากที่จะความเข้าใจ การมีความรักจึงไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ยิ่งในช่วงวัยที่เพิ่มมากขึ้นความซับซ้อนทางความรู้สึกก็จะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น พัฒนากลายเป็นเหตุผลถมความต้องการในจิตใจที่อยากจะรักใครสักคน
- ความกลัวที่จะสูญเสียอีกครั้ง ผู้สูงวัยโดยส่วนมากแล้วมักจะเคยผ่านการสูญเสียคนรักหรือเพื่อนสนิทกันมาแล้วมาแล้ว จึงมีความกลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจากการสูญเสียอีกครั้ง
- ความไม่มั่นใจในตัวเอง ยิ่งสูงวัยความมั่นใจอาจจะยิ่งลดน้อยลง ยิ่งมองว่าตัวเองไม่สวยหรือไม่ดูดีเหมือนแต่ก่อน ทำให้ขาดความมั่นใจที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ ๆ
- ความกลัวการถูกมองในแง่ลบจากสังคม ข้อนี้คือเหตุผลหลักข้อใหญ่ เพราะสังคมไทยยังคงมีทัศนคติที่ไม่เปิดกว้างต่อความรักในผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงอายุบางท่านกลัวที่จะถูกมองในแง่ลบหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งถ้ามีคู่รักที่มีอายุน้อยกว่าก็จะกลายเป็นเฒ่าหัวงู โคแก่กินหญ้าอ่อน
- กลัวที่จะโดนหลอก สังคมสมัยนี้รู้หน้าไม่รู้ใจ เป็นการยากที่จะมองคนออกตั้งแต่แรกเริ่มรู้จัก ยิ่งในกลุ่มผู้สูงวัยแล้วยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
- ความเคยชินกับการไม่มีใคร การที่ผู้สูงวัยโสดมาเป็นเวลานานทำให้เกิดความเคยชิน สามารถอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องมีใคร และรู้สึกถึงความไม่จำเป็นในการมีความรักครั้งใหม่
ผิดไหม ? ถ้าอยากมีความรักอีกครั้งในช่วงปั้นปลายชีวิต
แน่นอนว่าการมีความรักไม่ใช่เรื่องผิด เพราะความรักเป็นความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม แต่ค่านิยมทางสังคมอาจทำให้หัวใจถูกปิดกั้นตามที่ได้กล่าวไป ดังนั้นจึงควรหาเหตุผลมาเติมเต็มให้กล้าที่จะมีความรักครั้งใหม่ ให้หัวใจเปิดกว้างเพื่อรับใครสักคนเข้ามาอีกครั้ง
- ความสุขและคุณภาพชีวิต การมีความรักสามารถเพิ่มพูนความสุข และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้นได้ ช่วยลดความเหงา ความโดดเดี่ยว และทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น
- สุขภาพกายและสุขภาพใจ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ดีสามารถส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้สูงวัย ช่วยลดความเครียด และอาจส่งผลไปถึงการมีอายุที่ยืนยาว
- ความรักไม่จำกัดช่วงวัย ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึกและการเชื่อมโยงระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็สามารถมีความรักได้ ถ้าหัวใจเรียกร้อง
- สิทธิส่วนบุคคล การตัดสินใจที่จะมีความรักหรือไม่เป็นสิทธิส่วนบุคคล ค่านิยมทางสังคมไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกหรือผิด ไม่ควรนำค่านิยมทางสังคมมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจ
- สังคมที่เปิดกว้าง แม้ว่าในอดีตสังคมไทยอาจมีทัศนคติที่ไม่เปิดกว้างนักต่อความรักในกลุ่มผู้วัยสูงอายุ แต่ปัจจุบันสังคมเริ่มมีความเข้าใจและเกิดการยอมรับมากขึ้น
ญาติพี่น้อง คนรอบข้าง ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อผู้สูงวัยมีความรัก
หนึ่งในสิ่งที่ผู้สูงวัยปรารถนาในการมีความรักครั้งใหม่ก็คือ การได้รับการยอมรับจากญาติพี่น้อง และคนรอบข้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกแสดงออกผ่านการกระทำ การปฏิบัติตัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อไม่ให้เกิดบาดแผลขึ้นภายในจิตใจ จนทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าความรักของเขาคือการสร้างปัญหา
- เคารพในการตัดสินใจ แม้ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่การเคารพในการตัดสินใจคือสิ่งที่จำเป็นต้องมีให้แก่กัน ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าความรักเป็นเรื่องส่วนบุคคล
- การยอมรับและการแสดงความยินดี เมื่อความรักเกิดขึ้นแล้ว การยอมรับคือสิ่งที่ผู้สูงวัยอยากเกิดขึ้นมากที่สุด ซึ่งการแสดงออกถึงการยอมรับได้ดีที่สุดก็คือการแสดงความยินดีและสนับสนุนนั่นเอง
- เปิดใจทำความรู้จัก ถ้ายังรู้สึกว่ายังไม่สามารถยอมรับได้ ก็ขอให้เริ่มเปิดใจทีละน้อย ค่อย ๆ ทำความรู้จักกันไป เป็นการแสดงออกในเชิงบวกเบื้องต้น ทำให้เกิดความสบายใจตามมา
- รับฟังและให้กำลังใจ ไม่ว่าในช่วงวัยใดการมีความรักอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ การรับฟังและให้กำลังใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่สมควรที่จะทำการต่อว่าหรือสื่อสารว่าการตัดสินใจมีความรักคือสิ่งทิ่ผิดพลาด
- สังเกตสัญญาณที่น่าเป็นห่วง สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือผู้สูงวัยมักถูกหลอกลวงได้ง่าย ดังนั้นหากสังเกตเห็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่ผิดปกติ ควรหาทางพูดคุยด้วยความห่วงใย และให้ความช่วยเหลือ แม้จะเป็นเรื่องยากเพราะความรักมักจะทำให้ผู้ถูกรักมองข้ามความผิดปกติบางอย่าง ดังนั้นจึงต้องสื่อสารอย่างถูกวิธี ค่อยพูดค่อยจา ห้ามใช้อารมณ์ หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันทั้งทางกายและวาจา
ท้ายที่สุดแล้วการมีความรักในช่วงวัยใดก็ตามไม่ใช่เรี่องผิด จะรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ หรือแก่ชราก็สามารถมีความรักได้ขอเพียงแค่มีความรักด้วยความเข้าใจไม่ลุ่มหลงไปกับความรักจนเกิดพอดี ส่วนญาติพี่น้อง คนรอบข้างก็สมควรที่จะปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความสุขใจในการอยู่ร่วมกัน เท่านี้การมีความรักครั้งใหม่ในวัยใกล้ฝั่งก็จะสร้างความชุ่มชื้นให้กับหัวใจ ปลดปล่อยความเหงา เปรียบได้กับของขวัญล้ำค่าในช่วงปั้นปลาย
ติดตามบทความที่น่าสนใจจากเครือ Thai PBS ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความนี้
- ความเป็นมาของวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายนของทุกปี
- รับมืออย่างไรกับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
- Aging Gracefully สูงวัยอย่างไรให้ดูเก๋า
- รับมือการเสียชีวิตเพียงลำพัง ด้วย “การแพทย์ฉุกเฉิน” สำหรับผู้สูงวัย