ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แยกออกมะ ? มะยงชิด Vs มะปราง ความต่าง 2 ผลไม้แห่งฤดูร้อน


Lifestyle

10 เม.ย. 68

นวพร เรืองศรี

Logo Thai PBS
แชร์

แยกออกมะ ? มะยงชิด Vs มะปราง ความต่าง 2 ผลไม้แห่งฤดูร้อน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2564

แยกออกมะ ? มะยงชิด Vs มะปราง ความต่าง 2 ผลไม้แห่งฤดูร้อน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อหน้าร้อนวนกลับมาอีกครั้ง ทำเอามนุษย์เดินดิน กินข้าวแกงอย่างเรา ๆ ถึงกับปาดเหงื่อ พร้อมค้นหาวิธีตั้งรับความร้อนจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกันมือเป็นระวิง

แต่ขอให้เชื่อเอาไว้เถอะว่า ในเรื่องร้าย ๆ ย่อมมีเรื่องดีซ่อนอยู่ อย่างน้อยฤดูร้อน ก็ทำให้เราได้รับประทาน “มะยงชิด” และ “มะปราง” ผลไม้แฝดสยามที่ดูด้วยตาเปล่า จะเห็นว่าคล้ายกันมาก แต่ ‘พวกเขา’ ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน (จริง ๆ นะ)

Thai PBS ชวนคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “มะปราง” และ “มะยงชิด” กันให้มากขึ้น ด้วยความแตกต่างบางประการ รวมถึงเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ ที่อาจจะทำให้คุณแยกออกว่า อันไหนคือมะปราง และอันไหนคือมะยงชิดกันแน่

 

“มะยงชิด - มะปราง” กับความเชื่อและความจริงที่แตกต่างกัน ?

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น เมื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ “มะยงชิด” และ “มะปราง” คือความแตกต่างทางความเชื่อในอดีต และความจริงทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสวนทางกันโดยสิ้นเชิง

ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว คนไทยเราเชื่อว่า มะยงชิดกับมะปรางคือผลไม้ชนิดเดียวกัน เพียงแต่มีชื่อเรียกแยกตามรสเปรี้ยว-หวาน เห็นได้จากตำรา “เรื่องทำสวน” ซึ่งเรียบเรียงขึ้นโดยอำมาตย์เอก เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2431

รสหวานชืด ๆ  ไม่มีเปรี้ยวแกม เรียกว่า มะปรางหวาน ที่มีรสเปรี้ยวแกมแต่น้อย มีหวานเข้าประสม เปนรสประหลาดมาก เรียกว่ามะยงซิด ที่มีรสเปรี้ยวมากกว่าหวาน เรียกมะยงห่าง แลที่เปรี้ยวมีรสหวานรู้สึกแต่เล็กน้อย เปนมะปรางเปรี้ยว

พูดง่าย ๆ แบบแปลไทยเป็นไทยก็คือ เราจะเรียกมะปรางที่ไม่มีรสเปรี้ยวเจือปนอยู่เลยว่า “มะปรางหวาน” และจะเรียกมะปรางที่มีรสชาติหวานมากกว่าเปรี้ยวว่า “มะยงชิด” ส่วน “มะยงห่าง” คือ มะปรางที่มีรสชาติเปรี้ยวมากกว่าหวาน 

ในขณะที่ “ความจริง” ในมุมนักวิทยาศาสตร์กลับแตกต่างออกไป เพราะเหล่านักวิทย์และนักพฤกษศาสตร์เชื่อว่า มะยงชิดและมะปรางเป็นผลไม้คนละสปีชี่ส์ หรือคนละชนิดกัน

โดยมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI เคยให้คำตอบผ่านเฟซบุ๊กว่า มะยงชิดและมะปรางเป็นพืชในตระกูลเดียวกัน นั่นคือตระกูล Boeua โดยประมวลจากฐานข้อมูลใน The Plant List (2012) และข้อมูลการศึกษาพฤกษศาสตร์และพันธุศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์ชาวมาเลเซียและอินโดนีเซีย (2016) จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก หากหน้าตาของพวกมันจะมีความคล้ายคลึงกันมาก

“มะปราง” มีชื่อจริงทางวิทยาศาสตร์ว่า Bouea macrophylla Griff. ลักษณะสำคัญคือมีใบใหญ่เรียว และผลส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่ามะยงชิด ผลเมื่อสุกจะมีสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองนวล เปลือกของมะปรางจะมีรสชาติหวาน เนื้อด้านในมีรสชาติหวานจัด-หวานจืด ไม่ก็เปรี้ยวจัดไปเลย เป็นที่มาของชื่อสายพันธ์ุย่อย คือ “มะปรางหวาน” และ “มะปรางเปรี้ยว” บางสายพันธุ์มียาง เมื่อรับประทานแล้ว อาจจะมีอาการระคายคอ

ในขณะที่ “มะยงชิด” มีชื่อจริงทางวิทยาศาสตร์ว่า Bouea oppositifolia (Roxb.) Meisn. มะยงชิดที่สุกได้ที่แล้ว จะมีเปลือกสีเหลืองส้ม รสชาติเปรี้ยว แต่เนื้อด้านในจะมีรสชาติหวาน ส่วนใหญ่ไม่มียาง รับประทานแล้วไม่ระคายคอ

นอกจากมะยงชิดและมะปราง ยังมี “มะปริง” เป็นอีกหนึ่งผลไม้ในตระกูลเดียวกัน Bouea microphylla Griff. ใบมีขนาดเล็ก ผลมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มีรสเปรี้ยวจัด ผลดิบใช้ตำน้ำพริก, แกงส้ม จิ้มน้ำปลาหวาน หรือดอง เป็นต้น

ความแตกต่างของ "มะปราง" และ "มะยงชิด"

“มะยงชิด-มะปราง” ผลไม้เศรษฐกิจประจำฤดูร้อน

ข้อมูลล่าสุดจากระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2567 เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลมะยงชิดจากสวนได้ทั้งหมด 3,067,106.60 กก. (กิโลกรัม)  และเก็บเกี่ยวมะปรางได้ทั้งหมด 2,289,941.38 กก. (กิโลกรัม)

โดย 5 จังหวัดที่ปลูกมะยงชิดมากที่สุด ในปี 2567 คือ

  • นครนายก 8,177 ไร่ 
  • สุโขทัย 5,854 ไร่
  • พิษณุโลก 3,159 ไร่
  • จันทบุรี 2,553 ไร่
  • พิจิตร 2,232 ไร่

มะยงชิด

 

และ 5 จังหวัดที่ปลูกมะปรางหวานมากที่สุด ในปี 2567 คือ

  • สุโขทัย 4,860 ไร่
  • ระยอง 2,379 ไร่
  • พิษณุโลก 2,315 ไร่
  • นครนายก 2,225 ไร่
  • พิจิตร 929 ไร่

มะปรางหวาน

“มะยงชิด - มะปราง” ผลไม้คู่บ้านคู่เมืองตั้งแต่โบราณกาล

“มะปราง” เป็นผลไม้คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยยังเป็นราชธานี โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น ที่เล่าถึงประวัติความเป็นมาของมะปรางและมะยงชิดในประเทศไทย

ในช่วงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการกล่าวถึง “มะปราง” ในกาพย์เห่เรือ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ซึ่งเป็นบทเห่ชมผลไม้ ว่า

“หมากปรางนางปอกแล้ว   ใส่โถแก้วแพร้วพรายแสง
ยามชื่นรื่นโรยแรง   ปรางอิ่มอาบซาบนาสา”

คนไทยโบราณ เรียกสีม่วงแกมแดงว่า “สีเม็ดมะปราง” โดยตั้งชื่อตามสีของเมล็ดมะปราง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก็ใช่ว่ามะปรางทุกลูก จะมีสีของเมล็ดเป็นสีม่วง มะปรางบางลูกก็มีสีของเมล็ดเป็นสีขาว แล้วแต่พันธ์ุดั้งเดิมของมัน

ส่วน “มะยงชิด” เริ่มปรากฏในบันทึกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็น “มะปรางพันธุ์ดี” หรือที่หลายคนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เรียกว่า “มะปรางเสวย” โดยมีแหล่งปลูกอยู่แถว ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.นนทบุรี จัดว่าเป็นมะปรางที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน แต่ผลขนาดใหญ่ใกล้เคียงไข่ไก่หรือไข่เป็ด ส่วนหนึ่งกลายพันธ์ุเป็น “มะยง” อันประกอบไปด้วย มะยงชิด, มะยงห่าง, กาวาง (เปรี้ยวมากจนกายังวาง) ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งกลายพันธุ์เป็น “มะปรางหวาน” ผลใหญ่ รสชาติหวานสนิทไม่มีรสเปรี้ยวปน และเมื่อรับประทานจะไม่มีการระคายคอเหมือนมะปรางพันธุ์ดั้งเดิม นำไปขยายพันธุ์ปลูกแถวย่านบางขุนนนท์ ฝั่งธนบุรี จนมีการตั้งชื่อเรียกว่า “มะยงชิดบางขุนนนท์” นั่นเอง

 

“มะยงชิด-มะปราง” กับคุณค่าทางโภชนาการ

ทั้ง "มะยงชิด" และ “มะปราง” ถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าแห่งเบต้าแคโรทีน แถมยังมีวิตามินซีสูง ช่วยบำรุงสายตาและป้องกันเลือดออกตามไรฟันได้ ดังนั้น การรับประทานมะปราง-มะยงชิด จึงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่ายได้

นอกจากนี้ ตำราสมุนไพรบางแห่ง ยังกล่าวว่า ใบของมะยงชิดสามารถนำมาใช้ตำเป็นยาพอกแก้ปวดศรีษะ หากนำรากมาต้มหรือฝนกับน้ำดื่ม จะสามารถถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ แก้ไข้ตัวร้อน ส่วนผลที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน แก้เสมหะ กัดเสมหะในคอ แก้เสลดหางวัว แก้น้ำลายเหนียว หรือฟอกเลือดได้ เป็นต้น

ถึงแม้ “มะปราง” และ “มะยงชิด” จะมีประโยชน์และรสชาติหวานอมเปรี้ยวเฉี่ยวใจแค่ไหน Thai PBS ก็ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่าน รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะพอควร  เพราะถ้าทานเยอะเกินไป ก็อาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้

อ้างอิง 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

มะปรางมะยงชิดผลไม้หน้าร้อนผลไม้ฤดูร้อน
นวพร เรืองศรี
ผู้เขียน: นวพร เรืองศรี

หญิงสาวหัวล้านและหัวรั้น ผู้อุทิศชีวิตให้หนังสือ, ภาพยนตร์-ซีรีส์ และชานมไข่มุกหวาน 100% มีแมว 3 ตัว กับศิลปินที่ชอบเป็นแรงใจในการหาเงิน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด