‘เพื่อน’ หนึ่งคำที่มากไปด้วยความหมาย บุคคลที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนทั้งแรงกายและแรงใจ
ถ้าหากเพื่อนเป็น ‘สิ่งของ’ หรือ ‘สิ่งไม่มีชีวิต’ เราจะให้ความหมายกับสิ่งนั้นได้อย่างไร แล้วถ้า ‘รถไฟ’ ที่วิ่งอยู่บนสองราง คือเพื่อนของเรา มันจะเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าให้เราได้มากขนาดนั้นหรือไม่
รายการ ‘Made My Day วันนี้ดีที่สุด’ ได้รับเกียรติจากหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงของวงการรถไฟ บุคคลที่มากไปด้วยประสบการณ์ และมีบุคลิกที่เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง แถมยังพูดคุยสนุก ‘แฮม วันวิสข์ เนียมปาน’ หรือรู้จักกันดีในฐานะแอดมินเพจ ‘ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน’ เพจที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความชอบ ความคลั่งไคล้ และความต้องการที่จะสื่อสารให้ทุกคนได้ทราบ เพียงเพราะเขาคือคนที่ชอบและตกหลุมรักใน ‘รถไฟ’
สิ่งที่แฮมได้สื่อสารออกไป ทำให้ทุกคนได้รับรู้เกี่ยวกับวงการรถไฟมากขึ้น ทั้งในข้อเท็จจริง ข้อมูลทั่วไป หรือข้อมูลที่หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับรถไฟ มากไปกว่านั้นเขายังทำให้หลายคนได้ลอง ‘เปิดใจ’ และสัมผัสการเดินทางด้วยรถไฟในมิติที่หลากหลาย
หลายคนที่อ่านบทความนี้ อาจไม่ทราบมาก่อนว่า ‘คนรักรถไฟ’ ‘คอรถไฟ’ หรือ ‘เนิร์ดรถไฟ’ มีมากมาย ถึงขนาดที่เป็นกลุ่มสังคมหนึ่งได้เลยทีเดียว อย่างใน ‘ญี่ปุ่น’ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการคมนาคมทางรางที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วประเทศ สิ่งนี้ได้ทำให้เกิดกลุ่มคนที่ชอบรถไฟ ภายในความชอบนั้น สำหรับบางคนไม่ได้ชอบเพียงแค่รถไฟ ยังมีคนที่ชอบในรายละเอียดของรถไฟที่หลากหลาย จนอาจทำให้คุณตั้งคำถามว่า มีสิ่งนี้หรือคนเราชอบสิ่งนี้ด้วยหรือ
สำหรับในประเทศญี่ปุ่น รถไฟไม่ใช่แค่การคมนาคม แต่อาจเป็นสัญลักษณ์ของชาติเมื่อนึกถึงประเทศนี้ เพราะรถไฟคือหนึ่งในเทคโนโลยีที่พัฒนามายาวนาน รถไฟเป็นสัญญะของการแทนความหมายที่สื่อในภาพยนตร์หรือแอนิเมชันญี่ปุ่น
หรือในอีกมุม รถไฟอาจเป็นชีวิตจิตใจและสิ่งที่มีคุณค่าต่อ ‘คนกลุ่มหนึ่ง’ จึงเกิดการบัญญัติศัพท์ขึ้นเพื่อเรียกคนกลุ่มนี้ สิ่งแรกคือคำพื้นฐานที่เรียกกลุ่มคนที่หลงใหลในรถไฟโดยรวม คือ ‘densha otaku (เดนซา โอตาคุ)’ แต่มากไปกว่านั้นไม่ได้มีเพียงแค่โอตาคุรถไฟ ยังมีคนที่ชอบเกี่ยวกับองค์ประกอบของรถไฟที่หลากหลาย
คนที่ชอบการเดินทางด้วยรถไฟถูกเรียกว่า ‘Nori-tetsu (โนริ เทซึ)’ คือกลุ่มคนที่สนุกไปกับการเดินทางด้วยรถไฟ เพียงเพื่อเสพและดื่มด่ำบรรยากาศผ่านหน้าต่างของรถไฟ ถ้าหากการถ่ายรูปคือชีวิตจิตใจ ‘Tori-tetsu (โทริ เทซึ)’ จึงเป็นคำนิยามกลุ่มคนที่ชอบถ่ายภาพรถไฟที่กำลังวิ่งผ่านตามจุดไฮไลท์ หรือจุดที่มีภาพวิวที่โดดเด่น เมื่อระหว่างทางรถไฟไม่ได้มีแค่ภาพวิว แต่ยังมีสถานีรายทาง จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่สนุกกับการได้ไปเยือนสถานีรถไฟเพื่อชมบรรยากาศหรือสัมผัสเอกลักษณ์ ซึ่งถูกเรียกว่า ‘Eki-tetsu (เอกิ เทซึ)’
ขณะเดียวกันตารางเวลารถไฟ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถกำหนดหมุดหมายของการเดินทางได้ ‘Jikokuhyo-tetsu (จิโกะกูเฮียว เทซึ)’ หรือคนที่สนุกไปกับการอ่านตารางรถไฟ การเดินทางควบคู่กับการกิน เพื่อเติมพลัง กลุ่มคนที่ชอบทานอาหารกล่องที่ขายบนรถไฟหรือตามสถานี ถูกเรียกว่า ‘Ekiben-tetsu (เอกิเบน เทซึ)’
ความสนุกของการเดินทางด้วยรถไฟในญี่ปุ่นไม่ใช่แค่การชมวิว ถ่ายภาพ แต่ยังเป็นการได้สะสมแสตมป์ตราประจำสถานี กลุ่มคนที่ชอบสะสมจึงถูกเรียกว่า ‘Oshi-tetsu (โอชิ เทซึ)’ และ ‘Mokei-tetsu (โมเคย์ เทซึ)’ หรือกลุ่มคนที่ชอบสะสมโมเดลรถไฟ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวโมเดลเท่านั้น บางคนหลงใหลถึงกับสร้างบรรยากาศของโมเดลรถไฟให้เหมือนเมืองหนึ่ง ที่มีสถานีรถไฟ มีผู้คน รวมถึงอาคารและต้นไม้ ‘Shūshū-tetsu (ซูซู เทซึ)’
เมื่อการเดินทาง คือการสนุกไปกับการสะสมตั๋วรถไฟ หรือสินค้าที่ระลึกที่ขาย จึงเป็นคำที่เรียกคนกลุ่มนี้ เสียงเพลงทำให้คนเรามีความสุขและผ่อนคลาย เสียงหวีดหรือเสียงประกาศตามสถานีและบนรถไฟก็คงเป็นความสุขของเหล่า ‘Oto-tetsu (โอโตะ เทซุ)’ เช่นกัน
ความสวยงามของรถไฟด้วยสไตล์ที่แตกต่าง ทั้งการออกแบบตัวรถ โทนสี หรือเทคโนโลยีที่ใช้ ทำให้มีกลุ่มคนที่ชอบสิ่งนี้ ซึ่งถูกเรียกว่า ‘Sharyо̄-tetsu (ซาเรียว เทซึ)’ สุดท้าย ‘Chibi-tetsu (ชิบิ เทซึ)’ คือกลุ่มเด็กน้อยที่ชอบเล่นรถไฟของเล่น และอยากจะไปดูรถไฟที่สถานีเพื่อโบกมือให้กับรถไฟ
ความน่าทึ่งของสิ่งที่กล่าวไป อาทิ องค์ประกอบปลีกย่อยของรถไฟ และรายละเอียดที่บางคนอาจมองข้าม ทั้งตัวรถไฟ สถานีรถไฟ ตารางเวลา ตั๋วรถไฟ หรืออาหาร กลับกลายเป็นว่า สิ่งนี้ทำให้คนหลงใหล และมองว่าเป็นเสน่ห์ของการเดินทางด้วยรถไฟ ผสมความสนุกที่ได้ใช้เวลาไปกับการทำสิ่งที่ชอบ เสมือนเป็นการเล่นเกม
‘รถไฟ’ จึงไม่ใช่แค่การเดินทาง แต่ยังมอบความสุขให้กับกลุ่มคนที่มีความชอบแตกต่างกัน หากจะนิยามว่ามันคือ ‘เพื่อน’ เพื่อนที่มอบความสุข ความทรงจำ และความประทับใจ และอาจเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของเขาทุกครั้งที่มาเยือนหรือได้สัมผัส
หวังว่าสงกรานต์ 2568 นี้ ทุกคนจะพบความสุขจากการเดินทางในทุก ๆ เส้นทาง และความสุขนั้นจะทำให้คุณได้ค้นพบอะไรใหม่ ๆ ในชีวิต
รับชมเรื่องราว ‘แฮม วันวิสข์’ (ในวันจันทร์ที่ 14 เมษายน 2568 เวลา 21.30 น.) ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay
อ้างอิง