ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กินอยู่อย่างไร...ในวันที่ “ค่าฝุ่น PM 2.5” มีปริมาณสูง


Thai PBS Care

9 มี.ค. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

กินอยู่อย่างไร...ในวันที่ “ค่าฝุ่น PM 2.5” มีปริมาณสูง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/79

กินอยู่อย่างไร...ในวันที่ “ค่าฝุ่น PM 2.5” มีปริมาณสูง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หนักในหนัก! เห็นจะเป็น ปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ดูเหมือนว่า จะยังวนเวียนอยู่บนท้องฟ้าเมืองไทยแบบยาว ๆ เรื่องแก้ไขระยะยาว คงต้องหายใจลึก ๆ พร้อมประโยคว่า “ต้องร่วมมือกัน!” เพื่อให้ “ต้นเหตุ” ของปัญหาฝุ่นได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง  แต่สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนต้องเจอ โดยเฉพาะเรื่อง “การดูแลสุขภาพร่างกาย” เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรละเลย 

ไทยพีบีเอสหยิบยกเรื่องราว “การรับประทานอาหาร” ควรกินอย่างไร? ในวันที่ปริมาณค่าฝุ่นยังสูง เพื่อช่วยสร้างสมดุลให้กับร่างกายไว้ต่อสู้กับฝุ่นพิษเหล่านี้

กินอาหารที่อยู่ในกลุ่มวิตามินเอ และที่มีสารเบต้าแคโรทีน

กลุ่มวัตถุดิบอาหารที่มีวิตามินเอ หรือมีสารเบต้าแคโรทีน มีส่วนช่วยการทำงานของปอด ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดดีขึ้น รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ดีขึ้น ดังนั้น แนะนำให้รับประทานพืชผักจำพวก ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศ มันหวาน เหล่านี้เป็นพืชผักที่มีวิตามิเอสูง และมีเบต้าแคโรทีนสูง มีส่วนช่วยระบบการทำงานของปอด

กินอาหารที่มีวิตามินซี ช่วยลดการอักเสบ

เพราะการหายใจเอา “ฝุ่นพิษ” เข้าไป อาจมีผลกระทบให้อวัยวะภายในร่างกายเกิดการอักเสบได้ ซึ่งสารอาหารที่มีวิตามินซี มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และมีส่วนช่วยยับยั้งการอักเสบของร่างกาย ดังนั้น แนะนำให้กินผักและผลไม้สด โดยเฉพาะที่มีวิตามินซีสูง อาทิ มะม่วง สับปะรด ฝรั่ง มะละกอ รับประทานให้เพียงพอในแต่ละวัน ประมาณ 210-280 กรัม ร่างกายจะได้รับวิตามินซี ที่จะไปช่วยลดการอักเสบ ซึ่งเป็นผลมาจากฝุ่นพิษลงได้

กินอาหารที่มีสารอาหารในกลุ่มโอเมก้า 3

มีผลการวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุที่พักอาศัยในเขตที่มีฝุ่นหนาแน่น พบว่า หากได้รับอาหารที่มีสารอาหารโอเมก้า 3 ประมาณวันละ 2 กรัม ช่วยลดกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ลงได้ ทั้งนี้วัตถุดิบอาหารที่พบสารโอเมก้า 3 อยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ สัตว์จำพวกปลา ทั้งปลาน้ำเค็ม และปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาช่อน หรือปลาทู รับประทานอย่างน้อยวันละ 1 ตัว จะได้สารโอเมก้า 3 ที่จะมาช่วยเสริมเป็นเกราะกำบังให้ร่างกายลดผลกระทบจากฝุ่นลงไปได้

กินอาหารที่มีสารอาหารในกลุ่มซัลฟูราเฟน

“ซัลฟูราเฟน” เป็นสารต้านอนุมูลอิสระประเภทหนึ่ง มีส่วนช่วยในการลดการอักเสบ และช่วยกำจัดสารก่อมะเร็ง สารจำพวกนี้พบได้ตามธรรมชาติ และอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไป ส่วนใหญ่พบในพืชผัก อาทิ บรอกโคลี กะหล่ำปลี กินผักเหล่านี้ มีส่วนช่วยขจัดสารพิษ และเสริมให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น

ในเวลาปกติ กลุ่มพืชผักผลไม้ และวัตถุดิบอาหารเหล่านี้ ควรกินอยู่เป็นประจำ เพื่อช่วยเสริมให้ร่างกายมีความแข็งแรง แต่ในช่วงเวลาที่มี “ฝุ่นพิษ” มากเกินมาตรฐานแบบนี้ แนะนำให้ควรกินอย่างสม่ำเสมอ มากไปกว่านั้น คือการดูแลร่างกายในด้านอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกาย (ในที่ร่ม) เพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง รวมทั้งสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นอยู่เสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งหมดจะช่วยเป็นเสมือน “เกราะคุ้มกัน” ให้ร่างกายต่อสู้ต้านกับฝุ่นพิษได้เป็นอย่างดี

ที่มาข้อมูล: รายการคนสู้โรค ตอน อาหารต้านพิษฝุ่น 
ชมย้อนหลัง  อาหารต้านพิษ จากฝุ่นจิ๋วตัวร้าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฝุ่น PM 2.5ฝุ่นพิษอาหารต้านฝุ่นพิษ
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด