“พนักงานทำงานหนักจนเสียชีวิต”
กลายเป็นข่าวดังที่อยู่ในความสนใจของผู้คน เรื่องราวของพนักงานหนุ่มในบริษัทแห่งหนึ่ง ทำงานหนัก และมีโรครุมเร้า กระทั่งเสียชีวิตอย่างไม่มีใครคาดคิดบนโต๊ะทำงาน
จากข่าวการเสียชีวิตจากการทำงาน ต่อยอดมาสู่ประเด็นเรื่องการหา “ความสมดุล” ให้กับคนทำงาน โดยเฉพาะกับวิธีคิดที่ว่า “งาน” และ “ชีวิต” ต้องดำเนินไปด้วยกันอย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมา มีบทความในต่างประเทศที่นำเสนอข้อมูล ตลอดจนข้อแนะนำวิธีการทำงานที่เรียกว่า work life balance ออกมามากมาย
แม้เราจะลด “ปริมาณงาน” ลงไม่ได้ แต่เราสามารถมี “ความสุข” จากการทำงานได้ ไทยพีบีเอสจึงรวบรวมเอา 9 วิธี เปลี่ยนการทำงานหนัก ให้กลายเป็นคนฉลาดในการทำงาน มาบอกกัน
1 จงหยุดการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน
การมีทักษะการทำงานหลายอย่าง แม้ว่าจะเป็น “จุดแข็ง” ที่ทำให้เรามีความน่าสนใจในโลกการทำงาน แต่ไม่ควรทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน การสลับชิ้นงานไปมาระหว่างการทำงาน นอกจากจะไม่ได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์ดีพอแล้ว สมองของเรายังต้อง “ทำงานหนัก” อยู่ตลอดเวลา ทางที่ดี ควรทำงานให้เสร็จไปทีละชิ้น เพื่อลดความรู้สึกบั่นทอนและผลาญพลังงานชีวิตลงไป
2 รวมงานที่คล้ายกันเข้าด้วยกัน
ก่อนจะใช้สมองและความรู้ความสามารถผลิตผลงาน คุณควรให้สมองได้จัดการ “จัดระบบ” ของเนื้อหางานให้ดีเสียก่อน คนทำงานส่วนใหญ่มักปล่อยให้ชิ้นงานมากมายไหลเข้ามาเป็นพายุ แต่ลองถอยออกมาตั้งสติสักหน่อย แล้วพิจารณาดูให้ดี จะพบว่า หลายชิ้นงานมีความคล้ายคลึงกัน ลองจัดกลุ่มงานที่คล้ายกันเหล่านี้เข้าด้วยกัน แล้วค่อยๆ จัดการให้เสร็จไปเป็นกลุ่ม ๆ นอกจากจะทำให้รู้สึกเหมือนชิ้นงานลดน้อยลงแล้ว ยังช่วยลดความตึงเครียดที่ต้องตรากตรำงานอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
3 จัดเรียงชิ้นงานตามระดับ “พลังงาน” ของตัวเอง
การบริหาร “พลังงาน” ในการทำงานในแต่ละวันเป็นสิ่งสำคัญ แต่คนทำงานจำนวนมากมัก “ละเลย” ต่อเรื่องเหล่านี้ ข้อแนะนำที่อยากให้คนทำงานได้ทดลองทำ ลองจัดระเบียบชิ้นงาน โดยการเลือกงานที่ “ท้าทาย” ที่สุดไว้ในช่วงเวลาที่คุณมีพลังงานมากที่สุด แล้วเก็บงานง่าย ๆ ไว้ในตอนที่พลังงานของคุณเริ่มถดถอยลงไป วิธีการนี้จะทำให้คนทำงานสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพ แถมยังใช้พลังในการทำงานอย่างหมาะสมอีกด้วย
4 กำหนดวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดให้กับงานเสมอ
การตั้งเวลา ทั้งตอนเริ่มต้น และสิ้นสุดให้กับงานทุก ๆ ชิ้น นอกจากจะเป็นการช่วยเตือนความจำ ยังเป็นการกำหนดขอบเขตให้กับผลงานนั้น ๆ เพราะอย่าลืมว่า คุณไม่ได้มีงานที่รับผิดชอบเพียงชิ้นเดียว เมื่อไรที่มีงานที่ต้องจัดการหลายชิ้น การไม่กำหนดขอบเขตเวลาการทำงาน จะยิ่งทำให้เกิดความสับสน ผลสุดท้ายคือการต้องเพิ่มพลังการสะสางงาน เพื่อทำให้งานทุกชิ้นจบลงไปให้ได้ ยิ่งทำแบบนี้บ่อย ๆ เข้า ก็ยิ่งผลาญพลังงานเกินความจำเป็นไปโดยไม่รู้ตัว ผลลัพธ์คือ ร่างกายทรุดโทรม และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทางที่ดี คือเริ่มต้นกำหนด “เวลา” ให้กับงานทั้งหมด เหมือนสร้าง “แผนที่” ให้การทำงานดำเนินไปอย่างมีเป้าหมาย
5 อย่ารอให้ปัญหาเดินทางไปจนถึง “นาทีสุดท้าย”
เมื่อเจอกับ “ปัญหา” หรือแม้แต่ “ข้อสงสัย” ในการทำงาน หลายคนมักเลือกที่จะปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป หมักหมมปัญหาจนกลายเป็น “แผล” ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ข้อแนะนำคือ แทนที่จะรอจนถึงนาทีสุดท้าย ให้ดำเนินการหาทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด รีบขอคำปรึกษาจากหัวหน้า หรือผู้ที่เชี่ยวชาญ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มี ผลดีที่ได้ คือการลดความเครียดที่จะส่งผลต่อร่างกายโดยตรง
6 เหนื่อยล้าจากการทำงานเมื่อไร...ให้งีบนอน
เมื่อไรที่เหนื่อย การพักผ่อนให้ร่างกายสดชื่น ถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ควรทำ แต่น่าแปลกที่คนทำงานมากมาย กลับเลือกที่จะ “ลุยงานต่อ” แน่นอนว่า คุณอาจได้งานอย่างที่ตั้งใจ แต่สภาพร่างกายและจิตใจที่ทรุดโทรมลงไป ทำอย่างไรจะเรียกคืนกลับมาได้ ทั้งนี้ปัจจุบันมีหลายบริษัท โดยเฉพาะในต่างประเทศ ที่เปิดให้พนักงานได้ “งีบ” ในช่วงบ่ายของเวลาทำงาน การได้พักร่างกายระยะสั้น ๆ ราว 20 นาที สามารถช่วยทำให้ร่างกายกลับมาสดชื่นได้อีกครั้ง ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะฝืนดันทุรังทำงานต่อไป เพราะผลลัพธ์ที่ได้ ไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไปอย่างแน่นอน
7 เพลย์ลิสต์เพลงเพราะ ตัวช่วยที่ไม่ควรมองข้าม
มีผลการวิจัยบ่งชี้ว่า มนุษย์สามารถทำงานได้ดีขึ้นเมื่อได้ฟังเพลง เนื่องจากเป็นการช่วยลดความเครียดขณะทำงานได้ ดังนั้น หากคุณกำลังทำงานบางอย่างที่อาจจะไม่ต้องใช้สมองมากนัก ลองเปิดเพลย์ลิสต์เพลงโปรดที่ชื่นชอบ หรือเลือกเปิดเพลงบรรเลงที่ฟังสบาย ๆ จะช่วยทำให้ผ่อนคลาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกทาง
8 เรียนรู้ที่จะ “ปฏิเสธงาน”
การพยักหน้า “ได้ครับ/ได้ค่ะ” ในทุกชิ้นงาน ไม่ได้การันตีว่า คุณคือพนักงานดีเด่น เพราะหากว่างานที่ลงมือทำ มีผลลัพธ์ออกมาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แถมที่สำคัญ ยังทำให้ตัวเองหมดเปลืองพลังงานเกินความจำเป็น เราไม่ได้แนะนำให้คุณปฏิเสธงานที่ได้รับ แต่ให้ “ประเมิน” ผลในสิ่งที่ทำ ถ้าทำมาก แล้วไม่ก่อประโยชน์ ทั้งกับองค์กร หรือตัวเอง ลองหัดพูดคำว่า “ไม่” แล้วเปลี่ยนการผลิตชิ้นงานทีละมาก ๆ ไปเป็นการให้ความสำคัญกับชิ้นงานที่มีความสำคัญจริง ๆ จะดีกว่า ทำให้ผลงานที่ผลิตออกมา มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
9 ทัศนคติเชิงบวกเป็นเรื่องสำคัญ
ไม่ว่าจะงานหนัก หรืองานเบา สิ่งสำคัญที่สุด คือทัศนคติที่มีต่องานที่ทำ การเลือกที่จะมีความคิดในแง่บวกอยู่เสมอ ทำให้เราพัฒนาผลงานและวิธีการทำงานที่ดีมากยิ่งขึ้น เราไม่ได้บอกให้คุณ “โลกสวย” ชนิดที่แบกทุกงานไว้เต็มบ่า แล้วตะโกนบอกโลกดัง ๆ ว่า “ต้องสู้” แต่ให้อยู่บนโลกแห่งความจริง ประเมินงานที่เข้ามาด้วยเหตุและผล และเลือกที่จะอยู่บนความพอเหมาะพอดี สุดท้ายไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวเรา ควรซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะหาทางออกที่ดีให้กับปัญหาที่เข้ามาอยู่เสมอ
“งาน” ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่ “งาน” ช่วยสร้างให้ชีวิตมีคุณค่า จงสร้างให้ทั้งงานและชีวิตเดินหน้าไปพร้อม ๆ กันอย่างพอเหมาะพอดี เพื่อทำให้ชีวิตมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น...
ข้อมูลอ้างอิง
-www.zapier.com/blog/best-ways-work-smarter-not-harder
-www.betterup.com/blog/working-smarter-not-harder
ชมคอนเทนต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนทำงานเพิ่มเติมได้ที่..