Thai PBS Money Tip EP 3
บทความซีรีส์..ไทยพีบีเอส ทุกวันจันทร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน
“บัตรเครดิต” สิ่งจำเป็นสำหรับใครหลาย ๆ คน คุณประโยชน์ที่ดี ๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่หากใช้ไม่เป็น ก็อาจสร้างภาระหนี้สินจนแบกรับไม่ไหวได้เช่นกัน ดังนั้น “ไทยพีบีเอส” จึงขอนำทริกไม่ลับในการใช้ “บัตรเครดิต” อย่างไร ? ให้ไม่ติดกับดักหนี้มาฝาก
เช็กลิสต์สัญญาณอันตรายจากการ “ติดหนี้บัตรเครดิต”
จ่ายตามยอดชำระหนี้ขั้นต่ำ :
การจ่ายตามยอดชำระหนี้ขั้นต่ำ แสดงว่าความสามารถในการชำระลดลงและเริ่มจ่ายไม่ไหว ทำให้ดอกเบี้ยงพุ่ง และต้องใช้เวลานานกว่าจะหมดหนี้
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการจ่ายขั้นต่ำว่า สำหรับคนที่จ่ายขั้นต่ำจะต้องเสียดอกเบี้ย จากการจ่ายขั้นต่ำที่เงินต้นลดลงเพียงนิดเดียวไปเรื่อย ๆ เช่น วงเงินกู้ 80,000 บาท ดอกเบี้ย 16% การจ่ายขั้นต่ำ 5% จะใช้เวลาปิดหนี้ถึง 10 ปี 3 เดือน และคิดเป็นการจ่ายดอกเบี้ยรวม 28,000 บาท
ขณะที่หากจ่ายขั้นต่ำ 8% จะปิดหนี้ในเวลา 6 ปี 3 เดือน และจ่ายดอกเบี้ย 16,000 บาท แต่หากจ่ายขั้นต่ำ 10% จะใช้เวลา 5 ปี จ่ายดอกเบี้ยรวม 12,000 บาท
“บัตรเครดิต” วงเงินเต็มเกือบทุกใบ :
หลายคนอาจมีบัตรเครดิตมากกว่า 2 ใบ หากมีการใช้จ่ายเกือบเต็มหรือเต็มวงเงินทุกใบ แสดงว่ากำลังก่อหนี้สูงกว่ารายได้ เป็นสัญญาณอันตรายต่อการเป็นหนี้ที่เราจะสามารถผ่อนไหว
แต่ละเดือนรายจ่ายจากบัตรเครดิตมากกว่า 40% :
หนี้บัตรเครดิตไม่ควรเกิน 10-20% ของเงินเดือน และควรเป็นการใช้จ่ายเพื่อความจำเป็น แต่หากจ่ายหนี้บัตรเครดิตเกิน 40% ต่อเดือน อาจทำให้ไม่มีเงินเหลือพอนำไปใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นในชีวิตอื่น ๆ
กดเงินสดบัตรเครดิตใบใหม่ ไปใช้หนี้บัตรเก่า :
เมื่อมีปัญหาด้านการจ่ายหนี้ วิธีที่หลายคนนิยมใช้คือ การสมัครบัตรใบใหม่เพื่อจะได้วงเงินก้อนใหม่ แล้วกดเงินสดไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตใบเดิม ซึ่งจะทำให้มีภาระเป็นหนี้สะสม และมีภาระดอกเบี้ยมหาศาลที่คิดคำนวณเป็นรายวัน และเกิดหนี้สินพอกพูน
ไม่มีเงินเก็บเนื่องจาก “จ่ายหนี้บัตรเครดิต” :
เมื่อมีรายจ่ายมากเกินไป จะทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บ หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเร่งด่วน ก็อาจจำเป็นต้องกู้ยืมหรือกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นการสร้างหนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
9 ทริกใช้ “บัตรเครดิต” อย่างไร ? ให้ไม่ติดกับดักหนี้
1. ถือบัตรเครดิตที่เหมาะกับตัวเอง ได้สิทธิประโยชน์คุ้มค่า
2. อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรให้เข้าใจก่อนแจ้งเปิดใช้บัตรเสมอ เพราะอาจมีเงื่อนไขสำคัญ เช่น การยินยอมให้สถาบันการเงินหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรที่มีอยู่กับสถาบันการเงินนั้น มาชำระหนี้ของผู้ถือบัตรได้ทันที
3. มี “บัตรเครดิต” จำนวนที่เหมาะสม (ไม่ควรเกิน 2 ใบ)
4. ควรชำระยอดหนี้เต็มจำนวน-ตรงตามเวลา เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยบาน
5. จำกัดวงเงินการเป็น “หนี้” ควรไม่เกิน 20% ของรายได้
6. การกดเงินสดจากบัตรเครดิต จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด (cash advance fee), ภาษีมูลค่าเพิ่มของยอดบริการเงินสด (VAT), ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามอัตราที่ธนาคารกำหนดไว้ รวมถึงดอกเบี้ยต่อวัน
7. ไม่มีเงินจ่ายหนี้ครบจำนวน ควรทยอยจ่ายยอดเก่าให้หมด โดยไม่เพิ่มหนี้ใหม่
8. หากได้เงินพิเศษ เช่น โบนัส ควรนำมาปิดหนี้
9. ตรวจสอบใบแจ้งหนี้อย่างละเอียดทุกครั้ง
ทั้งนี้ หากมีปัญหา “หนี้บัตรเครดิต” สามารถปรึกษาหาทางออกกับโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของลูกหนี้รายย่อย ที่มีหนี้ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)