ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หลักฐานใหม่ Donaldjohanson อาจเกิดจากการแตกตัวเมื่อ 150 ล้านปีก่อน


Logo Thai PBS
แชร์

หลักฐานใหม่ Donaldjohanson อาจเกิดจากการแตกตัวเมื่อ 150 ล้านปีก่อน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2542

หลักฐานใหม่ Donaldjohanson อาจเกิดจากการแตกตัวเมื่อ 150 ล้านปีก่อน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ยานอวกาศ Lucy กำลังเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย Donaldjohanson ในวันที่ 20 เมษายน 2025 ที่กำลังจะถึงนี้ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดนั้นคาดว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจจะเกิดจากการแตกตัวเมื่อ 150 ล้านปีก่อน และอาจจะพบบางสิ่งบนนั้นที่เชื่อมโยงกับดาวเคราะห์น้อย Bennu หรือ Ryugu อีกด้วย

โดนัลด์โจแฮนสัน (Donaldjohanson) คือดาวเคราะห์น้อยขนาด 5 กิโลเมตรที่เป็นเป้าหมายหลักของยานอวกาศลูซี (Lucy) ที่จะโฉบผ่านและเป็นการซ้อมใหญ่เตรียมความพร้อมระบบการทำงานและเทียบค่าอุปกรณ์ของยานลูซีสำหรับการไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของภารกิจนี้

ภาพถ่ายของ Dinkinesh ดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายดวงแรกในภารกิจ Lucy

จากเดิมที่เราเคยตั้งให้โดนัลด์โจแฮนสันเป็นเหมือนแค่ก้อนหินอีกก้อนหนึ่งอวกาศ ตอนนี้มันอาจจะเป็นก้อนหินที่ไม่ธรรมดาอีกต่อไปแล้ว งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน The Planetary Science Journal โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจลูซีชี้ว่าโดนัลด์โจแฮนสันอาจมีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและน่าสนใจกว่าที่คิด จากการจำลองเชิงพลวัต (Dynamical Modeling) นักวิจัยเชื่อว่ามันอาจถือกำเนิดขึ้นจากการแตกตัวของดาวเคราะห์น้อยแม่เมื่อราว 150 ล้านปีก่อน และตลอดเวลานับแต่นั้น วงโคจรและอัตราการหมุนรอบตัวของมันก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์บนโลกบ่งชี้ว่าโดนัลด์โจแฮนสันอาจมีรูปร่างที่ยืดยาวผิดปกติและหมุนช้ามาก ซึ่งอาจเกิดจากแรงบิดทางความร้อน หรือที่เรียกว่า YORP effect (Yarkovsky–O’Keefe–Radzievskii–Paddack) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่การดูดซับและแผ่รังสีอินฟราเรดจากดวงอาทิตย์สามารถส่งผลต่อการหมุนของวัตถุขนาดเล็กในอวกาศได้ในระยะยาว

ซีโมน มาร์ชิ (Simone Marchi) หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันวิจัย Southwest และหนึ่งในผู้นำโครงการลูซีให้สัมภาษณ์ว่าโดนัลด์โจแฮนสันเป็น “วัตถุที่ดูประหลาดจากการสังเกตภาคพื้นดิน” และการเข้าใกล้ครั้งนี้น่าจะช่วยให้เราเข้าใจเบื้องหลังความประหลาดนั้นมากขึ้น

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่เรียกว่า Erigone Family ซึ่งเป็นผลจากการชนกันของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดเศษซากเล็ก ๆ จำนวนมากโคจรอยู่ในลักษณะคล้ายกัน และดาวเคราะห์ในกลุ่มนี้ยังอยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดของ Bennu และ Ryugu สองดาวเคราะห์น้อยที่ยาน OSIRIS-REx ของ NASA และ Hayabusa2 ของ JAXA เคยเข้าเยี่ยมเยียนเพื่อเก็บตัวอย่างกลับมาแล้ว

ชื่อของดาวเคราะห์น้อยโดนัลด์โจแฮนสันตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติ แก่โดนัลด์ โจแฮนสัน (Donald Johanson) นักบรรพชีวินวิทยาผู้ค้นฟอสซิลของมนุษย์โบราณ Australopithecus afarensis ที่มีชื่อว่า ลูซีในปี 1974 และต่อชื่อนี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจซึ่งนำมาสู่ภารกิจลูซีที่มีภารกิจในการสำรวจ “ฟอสซิล” ของระบบสุริยะที่ลอยคว้างอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย

ภาพจากจำลองดาวเคราะห์น้อย Donaldjohanson ล่าสุดที่ออกมาเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์น้อยดวงต่าง ๆ ที่อาจจะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

ภารกิจลูซีเป็นภารกิจที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน ด้วยแผนการเดินทางที่ยาวนาน 12 ปี กับดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย 11 ดวง มีเป้าหมายการสำรวจสำคัญคือดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มโทรจัน ดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่ในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ภารกิจนี้หวังจะสำรวจสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ซากดึกดำบรรพ์ของกระบวนการก่อตัวดาวเคราะห์” ซึ่งอาจเก็บรักษาหลักฐานดั้งเดิมของสสารในระบบสุริยะเอาไว้ได้ดีที่สุด

และด้วยองค์ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับโดนัลด์โจแฮนสันในตอนนี้ทำให้มันไม่ได้เป็นแค่ก้อนหินธรรมดาเพื่อการวัดเทียบ (Calibration) เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในยานอีกต่อไป แต่กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่น่าสนใจ เต็มไปด้วยเรื่องราวจากการก่อกำเนิดของมันทั้งจากการชน แตกตัว และวิวัฒนาการของดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ความเข้าใจกระบวนการก่อกำเนิดดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มโทรจันได้อีกด้วย

เพราะสุดท้ายแล้วข้อมูลจากการสังเกตการณ์จากภาคพื้นโลกก็ให้ข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยถึงได้แค่จุดหนึ่งเท่านั้น เราจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อจับภาพเบาะแสที่จะทำให้เราเข้าใกล้ความเข้าใจกระบวนการวิวัฒนาการของดาวเคราะห์น้อย และบางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะเชื่อมโยงกับหลักฐานที่ได้จาก เบนนู (Bennu) และรีวงู (Ryugu) ได้อย่างน่าประหลาดใจ

ภารกิจที่เชื่อมโยงฟอสซิลของอดีตมนุษย์ เข้ากับฟอสซิลแห่งการก่อตัวของดาวเคราะห์นี้ แม้จะเป็นการเดินทางที่อีกยาวไกล แต่ในระหว่างนั้น ทุกครั้งที่ ลูซีเข้าใกล้ก้อนหินในอวกาศสักดวงหนึ่ง มันอาจทำให้เราได้เข้าใจระบบสุริยะและต้นกำเนิดของบ้านที่เราอยู่ชัดเจนขึ้นอีกนิดหนึ่ง

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวเคราะห์น้อยDonaldjohansonดาวเคราะห์น้อย DonaldjohansonLucyยาน Lucyยานอวกาศ LucyยานลูซียานอวกาศลูซีBennuเบนนูดาวเคราะห์น้อยเบนนูRyuguโดนัลด์ โจแฮนสันDonald JohansonสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด