เมื่อพูดถึง “ฝรั่งเศส” หลายคนคงนึกถึงบรรยากาศโรแมนติกของกรุงปารีส คู่รักเดินผ่านตึกรามบ้านช่องสไตล์ออสมานน์ ข้ามแม่น้ำแซนไปยังมหาวิหารนอเทรอดาม แล้วจบวันที่ดินเนอร์บนหอไอเฟล แต่ “ความรัก” ในประวัติศาสตร์ความคิดฝรั่งเศสนั้นกลับไม่ได้หอมหวานเช่นนั้น
หากใครเคยเรียนภาษาฝรั่งเศส ก็อาจจะพอคุ้นคำว่า “esprit critique” หรือจิตวิญญาณแห่งการวิพากษ์และการใช้เหตุผล ซึ่งถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งในอัตลักษณ์ฝรั่งเศสที่พัฒนามาตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) และจิตวิญญาณที่ว่านี้ก็ส่งผลต่อแนวคิดเรื่องความรักด้วย
“ความคิดที่เป็นเหตุผลนิยมมันสืบทอดกันมาในหมู่คนฝรั่งเศส ทีนี้ เมื่อนักคิดฝรั่งเศสพูดถึงความรัก มันก็จะมีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์” รศ.ดร.พิริยะดิศ มานิตย์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ Thai PBS NOW “บางที ฟังแล้วก็แห้งแล้ง ของที่โรแมนติกมันก็ไม่โรแมนติกเลย แต่กลายเป็นเรื่องทางความคิดไปครับ”
ทว่าในความไม่โรแมนติกนั้น กลับมีแง่มุมหลายอย่างที่ทำให้ความรักในปรัชญาฝรั่งเศสโด่งดังและถูกศึกษาตีความไปทั่วโลก บทความชิ้นนี้จะยกตัวอย่างนักปรัชญาฝรั่งเศส 8 คนที่พลิกแนวคิดเกี่ยวกับความรักไปตลอดกาล
มิเชล เดอ มงแตญ (Michel de Montaigne; ค.ศ. 1533-1592)
![ภาพเหมือนของมงแตญ (ภาพจาก: Adobe Stock)](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/Adobe_Stock_32218768_7d9dc8e05b.jpeg)
และพวกเราก็เห็นว่า ในไม่ช้า จิตวิญญาณที่ตกอยู่ในตัณหานั้นจะเผยตัวออกมา ยืนหยัดในฐานะซับเจ็คอันผิดเพี้ยนเพ้อฝันที่ต่อต้านแม้กระทั่งความน่าเชื่อถือในตัวเองมากกว่าที่จะไปต่อต้านอะไรบางอย่าง
(Et nous voyons' que l'ame en ses passions se pipe plustost elle mesme, se dressant vn faux subiect et fantastique, voire contre sa propre creance, que de n'agir contre quelque chose.) – Essais de Michel de Montaigne, p.12
ในยุคกลาง ดินแดนฝรั่งเศสได้ตกอยู่ในการครอบงำของศาสนจักรเป็นเวลานับพันปี พอยุคกลางสิ้นสุดลงช่วงกลางศตวรรษที่ 15 นักคิดฝรั่งเศสก็กลับไปอ่านงานเขียนจากปรัชญากรีกโบราณซึ่งไม่ขัดกับหลักคำสอนของคริสต์ มงแตญเองก็เป็นอย่างนั้น ทำให้ความคิดเกี่ยวกับความรักของเขาปฏิเสธธรรมเนียมศาสนากลาย ๆ ขณะเดียวกันก็ยึดติดกับความเป็นจริงมากขึ้น
“ความรักแบบคริสต์คือการแต่งงาน แต่มงแตญเห็นว่า สรรพสิ่งมันไม่จีรัง และความรักก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่มงแตญแนะนำก็คือ ควรจะซื่อสัตย์และพูดตรงต่อกัน [โดยเฉพาะถ้า] วันหนึ่งความรักมันหมดไป” รศ.ดร.พิริยะดิศ อธิบาย แต่การตีความคำว่า “ความซื่อสัตย์” ของมงแตญในยุคนั้นท้าทายสถาบันครอบครัวและศาสนาอย่างมาก และอาจจะยังค้านกับสามัญสำนักของคนในปัจจุบันไม่น้อย “บางที [มงแตญ] บอกว่า ความรักต้องไปหาที่อื่น ไม่ใช่หาในชีวิตสมรส จะมีก็มีไป [แต่ต้อง] พูดความจริงต่อกันเสียแทนที่จะหลอกคู่สมรสว่า ‘ฉันยังรักเธออยู่นะ’”
เรอเน เดการ์ต (René Descartes; ค.ศ. 1596-1650)
![ภาพเหมือนของเดการ์ต (ภาพจาก: Adobe Stock)](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/Adobe_Stock_32220332_2821a7fc37.jpeg)
เราสามารถเห็นได้โดยง่ายว่า มีตัณหาพื้นฐานเพียงหกประการเท่านั้นที่ควรต้องรู้ ได้แก่ ความชื่นชม ความรัก ความเกลียดชัง ความปรารถนา ความปีติยินดี และความโศกเศร้า ส่วนตัณหาประการอื่น ๆ นั้นสร้างขึ้นหรือมีที่มาจากตัณหาทั้งหกนี้
(On peut aysement remarquer qu’il n’y en a que six qui soient telles, à sçavoir l’Admiration, l’Amour, la Haine, le Desir, la Joie & la tristesse ; Et que toutes les autres sont composes de quelque unes de ces six, ou bien en font des especes.) – Les Passions de l'âme, Article LXIX
ข้ามมาที่ศตวรรษที่ 17 เดการ์ตเป็นนักปรัชญาอีกคนหนึ่งที่กลับไปอ่านงานปรัชญากรีกโบราณ ในปี ค.ศ. 1632 เขาได้เขียนหนังสือปรัชญาเป็นภาษาฝรั่งเศสเล่มแรกชื่อ Le Discours de la méthode (แปลได้ว่า วาทกรรมกระบวนการ) และวางรากฐาน “เหตุนิยม” ในฝรั่งเศส จนทำให้เดการ์ตได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาปรัชญาฝรั่งเศส” อีกทั้งในภาษาฝรั่งเศส ยังมีคำคุณศัพท์จากชื่อของเขา “cartésien [อ่านว่า กา-เต-เซียง]” ที่หมายถึง “เป็นเหตุเป็นผล” ด้วย
การจัดหมวดหมู่ “ตัณหา (passion)” ทั้ง 6 แบบนั้นคือตัวอย่างหนึ่งของเหตุผลนิยมแบบเดการ์ต เดการ์ตเชื่อว่า เมื่อมนุษย์มีเหตุผลและรู้เท่าทันตัณหามากพอ ก็จะรับมือกับความรักและรู้จักหักห้ามใจได้ “มนุษย์อยู่เหนืออารมณ์ ไม่ใช่สัตว์ที่รักแล้วจะเป็นทาส [ความรัก] ไปตลอด เพราะฉะนั้น เราคุมความรักได้... อันนี้เป็นคติที่ดีที่ช่วยคนอกหักได้นะ เวลาเราอกหัก เราเปลี่ยนและคุมใจตัวเองดีกว่าที่เราจะพยายามเปลี่ยนใจคนอื่น ถ้าเราเอาความสุขของเราไปขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราคุมไม่ได้ เช่น ใจคนอื่น เราก็ทุกข์ตลอดเวลา” รศ.ดร.พิยิยะดิศ ยกตัวอย่างการปรับใช้เหตุผลนิยมแบบเดการ์ตในชีวิตประจำวัน
ฌอง-ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau; ค.ศ. 1712-1778)
![ภาพเหมือนของรุสโซ (ภาพจาก: Adobe Stock)](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/Adobe_Stock_32215618_74ff475bdd.jpeg)
สิ่งที่ทำให้มนุษย์ดีโดยแก่นแท้ได้ คือการมีความต้องการและการเปรียบเทียบกับผู้อื่นอันน้อยนิด และสิ่งที่ทำให้มนุษย์เลวโดยแก่นแท้นั้น คือการมีความต้องการและความยึดมั่นในความคิดอันของตนอันมากล้น
([C]e qui rend l’homme essentiellement bon, est d’avoir peu de besoins, et de peu se comparer aux autres ; ce qui le rend essentiellement méchant.) – La Sagesse de Jean-Jacques, p. 20
หลายคนอาจจะงงว่า นักปรัชญาการเมืองอย่างรุสโซและข้อความด้านบนเกี่ยวข้องอย่างไรกับปรัชญาความรัก ในงานเขียนสัญญาประชาคม (Du contrat social) ที่เราเคยเรียนกันวิชาสังคมสมัยมัธยม รุสโซเสนอว่า เราควรสละ “เจตจำนงส่วนตัว” ให้ “เจตจำนงส่วนรวม” เพื่อสร้างความผาสุกและเสรีภาพที่มั่นคงในสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์มีคู่ครองหรือคนรัก ก็อาจทำให้มนุษย์นั้นมีความต้องการส่วนตัวและคิดถึงแต่ตนเองมากเกินไป จนทำให้ (คู่) เราลืมคิดถึงสังคมและผู้อื่น
“เพราะฉะนั้น ชีวิตสมรสของรุสโซไม่ได้ [หมายความว่าการ] อยู่กันลำพังแค่สองคน แต่ต้องเผื่อแผ่ความรักไปถึงประชาคมด้วย ก็จะเป็นความรักที่มีคุณธรรม” รศ.ดร.พิริยะดิศ กล่าวเสริม เมื่อพูดถึงเรื่องคุณธรรม รศ.ดร.พิริยะดิศจึงยกตัวอย่างปรัชญาความรักของรุสโซอีกข้อหนึ่งซึ่งน่าถกเถียงกันต่อไป “รุสโซบอกว่า มนุษย์ย่อมรักคนดี แล้วพอเรารักคนนั้น เราก็จะพยายามพัฒนาตัวเอง ทำตัวเองให้สูงส่งทัดเทียมกับคนที่เราไปรัก... เราไม่มีทางรักคนที่เราแน่ใจว่าเขาชั่ว แต่สมมติ [ถ้าเรารัก] ‘แบดบอย’ เราจะมีวิธีหลอกตัวเองว่า คนคนนี้จะต้องมีอะไรดีบางอย่างในแง่ศีลธรรม”
สต็องดาล หรือ มารี-อ็องรี แบล (Stendhal/Marie-Henri Beyle; ค.ศ. 1783-1842)
![แสตมป์ฝรั่งเศสในอดีตที่มีรูปเหมือนของสต็องดาล (ภาพจาก: Adobe Stock)](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/Adobe_Stock_302509064_f749f6fba9.jpeg)
ปรากฏการณ์เช่นนี้ที่ข้าพเข้าขอเรียกว่า การตกผลึก นั้น มาจากธรรมชาติที่คอยสั่งการให้เราพึงใจ และส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองของเรา อันเป็นความรู้สึกที่ความพึงใจต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นตามความสมบูรณ์แบบนานับประการของวัตถุอันเป็นที่รัก และจากความคิดที่ว่า เธอเป็นของฉันแล้ว
(Ce que j’appelle cristallisation, c’est l’opération de l’esprit, qui tire de tout ce qui se présente la découverte que l’objet aimé a de Nouvelles perfections.) – De l’amour, p. 5
สต็องดาลเป็นนักประพันธ์แนวสัจนิยมในช่วงศตวรรษที่ 19 ในงานเขียนที่ชื่อ “De l’amour (แปลเป็นไทยได้ว่า ว่าด้วยความรัก)” เขาได้พูดถึง “การตกผลึก (cristallisation)” ของความรักใน 7 ขั้น ไล่เรียงตั้งแต่การชื่นชม การพูดเพ้อกับตัวเอง การมีหวัง การเกิดขึ้นของความรัก การตกผลึกครั้งแรก ความคลางแคลงใจ และการตกผลึกครั้งที่สอง เชื่อกันว่าสต็องดาลได้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับกระบวนการตกผลึกนี้จากการเห็นผลึกเกลือบนกิ่งไม้ที่เขาโยนไว้ในบ่อเกลือแห่งหนึ่ง
จาก 7 ขั้นตอนการตกผลึกของความรักนั้น 3 ขั้นสุดท้าย (การตกผลึกครั้งแรก ความคลางแคลงใจ และการตกผลึกครั้งที่สอง) นั้นสำคัญที่สุด เพราะเป็นช่วงที่เรากำลังสร้างภาพในอุดมคติต่อคนที่ไปตกหลุมรักอย่างเข้มข้น ทว่าภาพในอุดมคตินั้นก็บอบบางดั่งผลึกเกลือ และอาจนำไปสู่ความไร้เหตุผลของเราได้ “ผลึกเกลือ มันสวยคล้ายเพชรแต่ไม่ใช่เพชร เหมือนเวลาคุณตกหลุมรักใครสักคน [ก็จะบอกว่าเขา] ดีทุกอย่าง ความอันตรายก็คือ วันหนึ่ง ผลึกนี้มันจะแตก” รศ.ดร.พิริยะดิศ กล่าวเสริม
ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan; ค.ศ. 1901-1981)
ความรัก คือการให้อะไรบางอย่างที่เราไม่มีแก่ใครบางคนที่ไม่ต้องการสิ่งนั้น
(L’amour, c’est donner ce qu’on n’a pas à quelqu’un qui n’en veut pas.) – Les formations de l’inconscient & Problèmes cruciaux pour la psychanalyse (Livre XII)
ลากองเป็นนักปรัชญาสายโครงสร้างนิยมที่ต่อยอดแนวคิดจิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และแนวคิดหลายข้อของลากองเองก็ “ยาก” เกินกว่าที่จะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ในไม่กี่บรรทัด แต่เมื่อพูดถึงเรื่องความรัก (เชิงชู้สาว) ลากองก็ได้เสนอแนวคิดที่ฉีกขนบความหวานไปแสนไกลและอาจทำคนอ่านจุกได้ไม่น้อย
ลากองกล่าวไว้ว่า ความรักคือเรื่องของ “การขาด (une manqué)” เป็นสำคัญ ยกตัวอย่างจากคำพูดของเขาที่อยู่ด้านบน คนรักฝ่ายหนึ่งขาด “สิ่งนั้น” ที่เขาเองก็อาจจะไม่รู้ว่าคืออะไรแต่ดัน (อยาก) จะมอบให้คนที่รัก ขณะที่อีกฝ่ายนั้นขาด “ความต้องการ” ต่อ “สิ่งนั้น” ที่ฝ่ายแรกเสนอมา เมื่อต่างคนต่างตอบสนองด้วยความขาดและไม่เข้าใจซึ่งกันและกันทั้งคู่ ความสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวระหว่างคู่รักจึงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ สุดท้ายแล้ว การ “หากันจนเจอ” ก็ไม่อาจเติมเต็มชีวิตใครให้สมบูรณ์ได้
ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre; ค.ศ. 1905-1980)
![ซาร์ตส์ (ด้านขวา) กำลังเดินอยู่กับซิโมน เดอ โบบัวร์ คู่ชีวิตของเขา ณ ชายหาดแห่งหนึ่งในนครริโอ เดอ จาเนโร ปี ค.ศ. 1970 (ภาพจาก: AFP)](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/a_walk_on_Copacabana_beach_in_Rio_21_9_1960_AFP_8b2717704a.jpg)
ตรงนั้นคือก้นบึ้งแห่งความปีติยินดีจากความรัก เมื่อความปีตินั้นปรากฏ เราจะรู้สึกถึงความชอบธรรมในการมีชีวิตอยู่
(C’est là le fond de la joie d’amour lorsqu’elle existe : nous sentir justifiés d’exister) - L'Être et le Néant, p. 439
อันที่จริง ชีวิตส่วนตัวของซาร์ตร์ ผู้เป็นบิดาของอัตถิภาวนิยม (existentialisme) นั้นก็พอที่จะเป็นตัวอย่างของปรัชญาความรักได้ เขาคบหากับสตรีนักคิดสายสตรีนิยม ซิโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) เป็นเวลากว่า 50 ปีโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส “ถ้าเราดูจากตัวซาร์ตร์ที่คบหากับซิโมน ทั้งสองให้เสรีภาพแก่กันและกันเต็มที่ระหว่างที่คบหากัน พูดจริงต่อกัน ไม่โกหกต่อกัน... [พวกเขา] ปฏิเสธการแต่งงานแน่นอน เพราะการแต่งงานคือสถาบันอย่างหนึ่ง ซาร์ตร์เรียกความรักของเขาและซิโมนว่า ‘amour necessaire (รักที่ขาดไม่ได้) แต่ที่เขาไปนอนกับคนอื่น ๆ นี่เรียกว่า ‘amours contingents (รักรอง ๆ)’” รศ.ดร.พิริยะดิศ อธิบายเพิ่ม
ทว่าปรัชญาความรักในผลงานของซาร์ตร์นั้นอาจดูมองโลกในแง่ร้ายมากกว่าชีวิตจริง รศ.ดร.พิริยะดิศกล่าวว่า ในบทละครเรื่อง Huis clos (No Exit) ซาร์ตร์เสนอว่า มวลมนุษย์ต่างเป็น “วัตถุ” ที่ตัดสินและถูกตัดสินต่อกันและกัน และความรักก็ไม่อาจช่วยเยียวยาปัญหาได้ “เวลาคุณอยู่ในสังคม สังคมและเพื่อนคุณจะชอบบอกว่า คุณเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ เล่าเหมือนคุณเป็นวัตถุ ในบทละครฯ มีคู่ชายหญิงคู่หนึ่งพยายามที่จะ ‘รักกัน’ เพื่อแก้ปัญหานี้ แต่สุดท้ายแล้ว ต่างคนก็ต่างให้ค่าหรือเห็นว่าอีกคนเป็นวัตถุอยู่ดี ความรักไม่แก้ปัญหานี้ จึงเป็นที่มาของประโยค ‘L’enfer, c’est les autres’ หรือ ‘นรกคือผู้อื่น’ ใน Huis clos”
โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes; ค.ศ. 1915-1980)
![บาร์ตส์เมื่อปี ศ.ศ. 1977 (ภาพจาก: AFP)](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/21_6_1977_AFP_cropped_3e010bd8a0.jpg)
ข้าพเจ้ารอคอยการมาถึง การกลับมา สัญญะแห่งสัญญา
(J’attends une arrivée, un retour, un signe promis.) – Les Fragments d’un discours amoureux, p. 47
บาร์ตเป็นนักสัญวิทยาที่ได้เสนอว่า มายาคติในสังคมนั้นเกิดจากการประกอบสร้างและการให้ความหมายต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และมายาคตินั้นก็นำไปสู่การกำหนดบทบาทของคนในสังคมด้วย เช่น การให้เด็กผู้หญิงเล่นตุ๊กตาเด็กทารก ก็อาจปลูกฝังภาพจำว่า พอโตขึ้นไป ผู้หญิงต้องทำหน้าที่ทั้ง “แม่” และ “เมีย” ในครอบครัว
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับความรักและสัญญะนั้น บาร์ตเสนอว่า เวลามนุษย์มีความรัก ก็จะทำตัวเป็น “นักสัญวิทยา” คอยส่งสัญญาณต่าง ๆ ให้คนรักเห็นอยู่เสมอ รศ.ดร.พิริยะดิศ ยกตัวอย่าง “การใส่แว่นดำ” ที่บาร์ตกล่าวในงานเขียนชื่อ Les Fragments d’un discours amoureux (แปลได้ว่า เศษเสี้ยวของวาทกรรมรัก) ไว้ว่า “เวลาที่เราทะเลาะกับคนรัก ร้องไห้ตาบวม แล้วใส่แว่นตาดำ บาร์ตบอกว่า นี่เป็นสัญญะที่ยอกย้อนนะ นัยหนึ่ง แว่นตาดำปกปิดความเจ็บปวดที่ไม่อยากให้ใครรู้ แต่อีกนัยหนึ่ง แว่นตาดำกลับเป็นตัวบอกว่า ‘ถามสิ ว่าฉันเป็นอะไร’”
อแลง บาดิยู (Alain Badiou; ค.ศ. 1937-ปัจจุบัน)
![บาดิยูในปี ค.ศ. 2023 (ภาพจาก: Joel Saget/AFP)](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/21_3_2023_JOEL_SAGET_AFP_96dc655fd6.jpg)
จงรักสิ่งที่คุณจะไม่มีวันเจอซ้ำเป็นครั้งที่สอง
(Aimez ce que jamais vous ne croirez deux fois.) – Théorie du sujet, p. 346
ชื่อของบาดิยูอาจเริ่มเป็นที่คุ้นหูในหมู่นักอ่านไทยจากหนังสือ ทำไมต้องตกหลุมรัก Alain Badiou ความรัก และ The Lobster ของศ.สรวิศ ชัยนาม เมื่อ 6 ปีก่อน ปรัชญาของบาดิยูนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับความเป็นซับเจ็ค (sujet) ความจริง (verité) และเหตุการณ์ (événement) นอกจากนี้ บาดิยูยังมีแนวคิดทางการเมืองสายมาร์กซิสต์ด้วย
สำหรับบาดิยูแล้ว จริงอยู่ที่ว่า การพบกันโดยบังเอิญนับเป็น “เหตุการณ์” แรกที่สำคัญต่อความรัก แต่การพบกันครั้งแรกไม่จำเป็นต้อง “โรแมนติกแบบในนิยายเพ้อฝัน ต่างคนอาจต่างบังเอิญพบกันในบริบทใดก็ได้ ความรักจะเกิดขึ้นได้จริง ๆ ด้วย “การสร้าง” ที่ต้องใช้เวลาพัฒนาความสัมพันธ์ ไม่มีใครสามารถคำนวณหรือคาดการณ์ได้ว่าจะรักหรือเลิกรักตอนไหน ในนัยหนึ่ง แนวคิดของบาดิยูทำลายมายาคติที่จินตนิยมฉายภาพไว้ว่า ความรักเป็น “ปาฏิหาริย์” ปุบปับทันทีที่สบตากันครั้งแรก
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งจากปรัชญาความรัก “à la française” อย่างไรก็ดี รศ.ดร.พิริยะดิศ ได้ฝากข้อคิดไว้ 3 ข้อเกี่ยวกับการศึกษาปรัชญาฝรั่งเศสหรือปรัชญาจากประเทศอื่น ๆ ข้อแรก ผู้ที่ศึกษาปรัชญาต้องรู้จักตั้งคำถามถึงตัวตนและความคิดของนักปรัชญาคนนั้น ๆ “เวลาเราเรียนปรัชญา เราต้องแยกระหว่างความคิดกับตัวคนคิด มันสวนทางกันเลย ตัวอย่างชื่อดังก็คือรุสโซ ตัวเขาเองเขียน Émile, ou De l’éducation (ศาสตรนิพนธ์ที่พูดถึงความสำคัญของ ‘ธรรมชาติ’ ในการอบรมสั่งสอนเด็ก) ฯลฯ แต่ชีวิตจริงกลับทิ้งลูกที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า” รศ.ดร.พิริยะดิศ ยกตัวอย่าง
ข้อคิดที่สอง การศึกษาปรัชญาต่างชาติช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราเสมอ “ตราบใดที่เรายังพูดภาษาไทยกัน เราก็อยู่ในกรอบความคิดภาษาไทยต่อให้จะมีความคิดโลดโผนแค่ไหนก็ตาม ผมเลยเห็นว่า น่าจะดีครับที่เราไปรู้ว่า คนที่เขาพูดภาษาอื่นคิดอย่างไร จะได้ย้ายกรอบที่เราเคยชินไปสู่กรอบอื่นบ้าง” และข้อคิดสุดท้ายจากรศ.ดร.พิริยะดิศ คือ แม้แต่ผู้คนจากชาติที่มีประวัติศาสตร์ความคิดมาอย่างยาวนานก็พ่ายแพ้ต่อพลังแห่งรักได้เหมือนกัน “อาจจะฟังดูเบาบางนะ แต่ผมคิดว่า ไม่ว่าคนฝรั่งเศสหรือนักคิดฝรั่งเศสจะอ้างว่าตัวเองเป็น ‘cartésien’ ขนาดไหน แต่สุดท้าย เขาก็เป็นเหยื่อความรักซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘irrationnel (ไร้เหตุผล)’ อยู่ดีครับ”
อ่านเนื้อหาอื่น ๆ เกี่ยวกับ “ความรัก” จาก Thai PBS NOW
- วาเลนไทน์บานฉ่ำ และเศรษฐกิจความรักในโลกบริโภคนิยม
- รักแท้ไม่มีข้อแม้ เปิด 5 ตำนานรักที่โลกมิอาจลืม
- ความรักที่สมหวัง หาใช่เกิดจาก “คิวปิด”
- “รักตัวเอง” ไม่ใช่เห็นแก่ตัว ชวนฝึก “5 วิธีใจดีกับตัวเอง” ให้มีความสุขจากภายใน
อ้างอิง
- Alain Badiou (1982), Théorie du sujet
- Jean-Jacques Rousseau (1878), La Sagesse de Jean-Jacques : fragments des écrits de Rousseau, accompagnés de diverses réflexions et renseignements
- Jean-Paul Sartre (1943), L’Etre et le Néant
- La conception cartésienne de l'amour pour Dieu : amour raisonnable et passion, Dix-septième siècle, 265 (2014/4)
- L’amour est toujours réciproque dans la sphère d’aimance, Cliniques méditerranéennes, 69 (2004/1)
- Le saviez-vous : Simone de Beauvoir avait conclu un pacte amoureux avec Sartre, RTBF Actus
- Lire "Les Fragments d’un discours amoureux" pour se laisser emporter par une chorégraphie du sentiment..., France Culture
- Michel de Montaigne, Essais de Michel de Montaigne : texte original de 1580 avec les variantes des éditions de 1582 et 1587. Tome 1
- Sartre et la dramaturgie du désir, Imaginaire & Inconscient, 38 (2016/2)
Stendhal (1891), De l’amour - René Descartes (1694), Les Passions de l'âme
- Roland Barthes (1977), Les Fragments d’un discours amoureux
- ทำไมต้องตกหลุมรัก Alain Badiou, ความรัก และ The Lobster [สรวิศ ชัยนาม เขียน, สุชานาฎ จารุไพบูลย์ แปล]
อ่านบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW