ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

3 ภาคีเครือข่ายเชื่อ "ภัยออนไลน์-ข่าวปลอม" จ่อรุนแรง แนะปชช.เสริมความรู้


Verify

13 ก.พ. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

3 ภาคีเครือข่ายเชื่อ "ภัยออนไลน์-ข่าวปลอม" จ่อรุนแรง แนะปชช.เสริมความรู้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2322

3 ภาคีเครือข่ายเชื่อ "ภัยออนไลน์-ข่าวปลอม" จ่อรุนแรง แนะปชช.เสริมความรู้
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เนื่องในวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสากล Safer Internet Day 2025 ซึ่งตรงกับทุกวันอังคารที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ โดยในปีนี้คือวันอังคารที่ 11 ก.พ. 68 ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วนได้มาร่วมกันเสวนายกระดับรับมือข้อมูลลวง 4.0 เพื่อลดภัยคุกคามโลก COLLECTIVE EFFORTS TO COMBAT DISINFO 4.0 TO MITIGATE THE GLOBAL RISKS ซึ่งภายในงานมีการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย สื่อ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ล้วนทำงานอยู่ในด้านการป้องกันภัยไซเบอร์ มาร่วมพูดคุยถึงภัยออนไลน์จากมิจฉาชีพ ซึ่งพบว่าภัยออนไลน์ ยังคงมีสถิติพุ่งสูงและรุนแรงต่อเนื่อง

การเติบโตของโซเชียลมีเดียมาพร้อมกับภัยออนไลน์

นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส เปิดเผยถึงภัยคุกคามจากมิจฉาชีพในปัจจุบันว่า อินเทอร์เน็ต และภัยของอินเทอร์เน็ต ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกันมาก เพราะปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเกินค่าเฉลี่ยของโลก โดยอยู่ในระดับ 10 ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือนั้น คนไทยมีการใช้งานเฉลี่ยมากถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ประกอบกับปัจจัยในด้านความเร็วอินเทอร์เน็ต ที่มีความเร็วสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ยิ่งทำให้องค์ประกอบของการกระโดดเข้าไปสู่โลกดิจิทัล ทำได้เร็วมากยิ่งขึ้น

นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส

สอดคล้องกับภัยออนไลน์ ที่ศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2567 พบว่าคนไทย 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงออนไลน์และตกเป็นผู้เสียหายถึง 18.37 ล้านคน ซึ่งเทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้ในการหลอกลวงเพิ่มมากขึ้น และด้วยการที่ทักษะของการใช้ AI ถือเป็นทักษะใหม่ ที่ถึงแม้จะเป็นผู้ที่มีทักษะอยู่บนโลกออนไลน์มานาน หรือไม่มีทักษะ ต่างก็ไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ว่า ภัยจาก AI เป็นอย่างไร เพราะเนื่องจากปัจจุบัน AI มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นภัยล่าสุดที่เกิดขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

โดยปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลลวง หรือ Misinformation และ Disinformation เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ การเติบโตของโซเชียลมีเดีย, การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี Deepfake และ AI-Generated, การขาดทักษะการรู้เท่าทันสื่อ, การสร้างรายได้จากข่าวลวง และ ช่องโหว่ในการควบคุมของแพลตฟอร์ม

Thai PBS มุ่งสร้างความรู้ให้ทุกคนเป็น FACT CHECKER

จากปัจจัยต่าง ๆ Thai PBS จึงได้เปิด Thai PBS Verify ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์คือ ช่วยตรวจสอบ, ช่วยเสริมทักษะ สร้างภูมิคุ้มกันการรู้เท่าทันสื่อ, การสร้าง Community หรือการรวบรวม Content ให้ผู้คนเข้าไปตรวจสอบได้, การสร้างมาตรฐาน IFCN หรือ INTERNATIONAL FACT-CHECKING NETWORK และสุดท้ายคือการสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานในอุตสาหกรรมสื่อ

สำหรับการตรวจสอบนั้น Thai PBS Verify จะใช้เครื่องมือเข้ามาตรวจสอบและวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้ รวมถึงให้ความรู้กับประชาชน ในการใช้เครื่องมือในการตรวจสอบข่าวลวงต่าง ๆ 

เนื้อหาภายในที่ออกมา ทีมงานจะต้องให้รายละเอียดกระบวนการตรวจสอบ ว่ากระบวนการตรวจสอบที่ดีเป็นอย่างไร รวมถึงระบุถึงผลกระทบจากข่าวนั้น ๆ ว่ามีผลกระทบอย่างไร และสุดท้ายคือการให้ข้อแนะนำ เพื่อให้ทุกคนสามารถเป็น FACT CHECKER ได้ด้วยตนเอง

รับมืออย่างไรเมื่อภัยออนไลน์ภาค 2 กำลังจะมา

ด้าน นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เปิดเผยว่า 10 ปีที่ผ่านมาของรายการ พบว่าคนไทยมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ออกมาเตือนภัย จนทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้น จึงสังเกตได้จากการที่ประชาชนส่งเรื่องที่พบมาเพื่อให้เป็นการเตือนประชาชนคนอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดี ว่าประชาชนมีภูมิคุ้มกันกับภัยต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากเรื่องข่าวหลอกลวงออนไลน์ ทั้งเรื่องสุขภาพ และเรื่องอื่น ๆ แต่หากเปรียบเทียบแล้ว อาจเป็นเพียงแค่หนังซีซันแรกเพียงเท่านั้น 

นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์

ภัยรูปแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นมาในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของภัยของ AI  หรือที่อันตรายมากเช่นเดียวกัน คือภาวะที่ประชาชนเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อเท่านั้น ซึ่งภาวะเหล่านี้ อาจจะทำให้ทักษะการป้องกันที่เคยมีอยู่ อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับการรับมือกับภัยในอนาคต หรือภัยในซีซันถัดไป

เบาะแสจากประชาชนสิ่งสำคัญในการป้องกันข้อมูลเท็จ

นายพรวุฒิ พิพัฒนเดชศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค

ขณะที่ นายพรวุฒิ พิพัฒนเดชศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า กลไกภาคประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้บริโภคที่พบเห็นข้อมูลที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในเรื่องของภัยออนไลน์ มิจฉาชีพ การล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือการขายสินค้าที่อยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งถ้าหากไม่มีผู้ที่ส่งเรื่อง หรือข้อมูลเหล่านี้เข้ามา สินค้าหรือบริการหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์นั้น ก็จะไม่มีวันได้รับการตรวจสอบเลยว่าเป็นข้อมูลที่จริง หรือเท็จ

ผู้ที่รู้ข้อมูลดีที่สุดคือผู้ที่ร้องทุกข์ หรือร้องเรียนเข้ามานั่นเอง ดังนั้นการร้องเรียนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเท่านั้น

ภาครัฐเสาหลักสนับสนุนสื่อสู่การตรวจสอบข่าวปลอม

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยถึงความสำคัญของภาครัฐ ในการสนับสนุนสื่อสู่การตรวจสอบข่าวปลอม

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดร.ชำนาญ เปิดเผยว่า การรับมือข่าวปลอมถือเป็นหนึ่งในภารกิจตามกฎหมาย ที่ระบุไว้ในมาตรา 5 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มีหน้าที่ในการรับมือกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลเท็จ และข่าวปลอม โดยที่ผ่านมากองทุนสื่อฯ ได้มีการดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดสรรทุนในเรื่องการจัดอบรม ซึ่งที่ผ่านมามีหลักสูตรในการตรวจสอบข่าวปลอมจากสำนักข่าวต่างประเทศ ที่ทำงานในเรื่องของการตรวจสอบข่าวปลอม มาให้ความรู้ในเรื่องการตรวจสอบตั้งแต่ระดับนักข่าว ไปจนถึงบรรณาธิการข่าว 

นอกจากนี้ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการ Thai Fact Checking Network หรือ เครือข่ายของผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกันกับสมาคมสภาวิชาชีพต่าง ๆ ในการให้ความรู้ และส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพด้านสื่อมวลชน เพื่อผลักดันให้การตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือการตรวจสอบข่าวปลอม เป็นหนึ่งในเสาหลักของงานด้านสื่อมวลชนในประเทศไทยอีกด้วย


ชมคลิปงานเสวนาที่นี่ : https://fb.watch/xJsAigDc16/

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เตือนภัยวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสากลภัยออนไลน์มิจฉาชีพสแกมเมอร์AIDeepfake
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด