ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใต้แสงไฟล่อ ไม่ได้มีแค่ปลากะตัก พิสูจน์สัตว์ตัวเล็กไม่รอดอวนมุ้ง

Logo Thai PBS
ใต้แสงไฟล่อ ไม่ได้มีแค่ปลากะตัก พิสูจน์สัตว์ตัวเล็กไม่รอดอวนมุ้ง
"ใต้แสงไฟล่อ ไม่ได้มีแค่ปลากะตัก" รวมการเฉพาะกิจ 12 ไมล์ทะเลนอกชายฝั่ง พิสูจน์สัตว์ขนาดเล็กไม่รอดพ้นอวนมุ้ง ลุ้นมาตรา 69 อีกรอบวันที่ 18 ก.พ.นี้ วงประชุมคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา

หากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการพิจารณาวาระ 2 แบบรายมาตราร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 ไม่ผลักดัน มาตรา 69 อนุญาตให้ใช้อวนล้อมตาถี่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร จับปลากะตัก พร้อมประกอบแสงไฟล่อในเวลากลางคืน

นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำ ชายผู้แบกกล้อง ครอบเฮาส์ซิง ถ่ายภาพใต้น้ำมากว่า 30 ปี คงไม่ต้องก้าวออกมาเบื้องหน้า แสดงความไม่เห็นด้วย หากปล่อยให้มาตรา 69 นี้ผ่านจนประกาศบังคับใช้

พื้นที่ 12 ไมล์ทะเลนอกชายฝั่ง ไม่ใช่พื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือมีแต่ปลากะตัก มันมีความหลากหลายในพื้นที่ตรงนี้ กฎหมายข้อนี้มันส่งผลกระทบถึงหลายอาชีพที่ใช้ชีวิตเกี่ยวกับทะเลทั้งหมด
นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำ

นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำ

นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำ

แม้ล่าสุด มติจากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 วุฒิสภา มีบทสรุปเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายประมงฉบับใหม่ มีมติ 10 ต่อ 5 ให้มาตรา 69 กลับไปแบบเดิม คือตามพระราชกำหนดการประมงปี 2558 ห้ามมิให้ผู้ใด ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ ที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน แต่ต้องไปรอลุ้นต้นเดือนมี.ค.อีกครั้ง ในการประชุมวุฒิสภาฝั่ง สว. ในวาระ 2 และ 3 การแก้ไขกฎหมายประมงว่า ทิศทางเป็นอย่างไร

นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ระบุว่า หาก สว. ส่วนใหญ่เห็นชอบกับ กรรมาธิการฯ วุฒิสภา ก็จะส่งกลับให้ กรรมธิการฝั่ง ส.ส. พิจารณาต่อ ถ้าฝั่ง ส.ส. ยืนยันต้อแก้ไขมาตรา 69 ขั้นต่อไปคือ ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ร่วม ซึ่งอาจมีแนวโน้มยืดเยื้อ

ลงเรือลำเดียวกัน

การตีกลับ มาตรา 69 ถือเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่งที่ทีมสำรวจ 12 ไมล์ทะเล นอกชายฝั่ง ระดมทุนจากภาคประชาชนกว่า 300,000 บาท เช่าเรือ Liveaboard ออกไปทำงานกลางทะเล 5 วัน 4 คืน ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.–3 ก.พ.ที่ผ่านมา

นัท สุมนเตมีย์ จึงเกิดไอเดียระดมเงินทุนภาคประชาชน และคัดเลือกสมาชิก “ลงเรือลำเดียวกัน” เพื่อรวมตัวเฉพาะกิจที่อาจเรียกได้ว่า ทีม “อะแวนเจอร์” ผ่านบทพิสูจน์ “สำรวจ 12 ไมล์ นอกชายฝั่ง ไม่ได้มีแค่ปลากะตัก” บนสมมติฐาน ใต้แสงไฟล่อจากเรือปั่น จะดึงดูดสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์ทะเลมากน้อยแค่ไหน และจะสร้างผลกระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์ทะเลอย่างไร หากใช้อวนล้อมตาถี่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร

เรือปั่นไฟที่ลอยลำผูกเชือกติดซั้งอยู่กลางทะเลเปิด ห่างจากชายฝั่งประมาณ 30 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 60 กิโลเมตร ค่อนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เปิดโอกาสให้ทีมสำรวจเข้าทำงานภายใต้แสงไฟล่อตอนกลางคืน

สวิงเก็บตัวอย่างหย่อนลงไปที่ระดับความลึก 20 เมตร ค่อย ๆ ยกขึ้นมาเทบรรจุไว้ในกระป๋องพลาสติก แพลงก์ตอนทั้งพืชและสัตว์ ลูกกุ้ง ลูกปลาจำนวนมาก ที่ไม่สามารถจำแนกชนิดได้ด้วยตาเปล่า คือ ชั้นแรกและชั้นที่สองตามลำดับขั้นห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล

แต่ที่ยืนยันได้แจ่มแจ้งที่สุด “โลมาปากขวด” กว่า 20 ตัว แบ่งฝูงไล่ล่าปลาเล็กรอบแสงไฟเรือปั่น เป็นวัฏจักรห่วงโซ่อาหารชั้นบนสุด

จิระพงศ์ จีวรงคกุล นักวิชาการโครงการพัฒนาทางทะเลและชายฝั่ง มูลนิธิเอ็นไลฟ์บอกว่า 

มันก็ตอบสนองต่อแสงไฟ เหมือนกับที่ตอบสนองพระอาทิตย์เพราะแพลงก์ตอนพืชมันต้องการเข้าหาแสงไฟอยู่แล้ว มันต้องการสังเคราะห์แสง แพลงก์สัตว์ก็ตามมากินแพลงก์ตอนพืช ลูกปลาวัยอ่อนก็จะตามมาอีกรอบ และปลาใหญ่ก็จะมากินปลาเล็กอีกทีเป็นทอดๆ

ดำน้ำใต้แสงไฟ แบบ Black Water พิสูจน์สัตว์ขนาดเล็กไม่รอดพ้นอวนมุ้ง

แม้ฝ่ายเสนอปรับแก้พ.ร.ก.การประมง มาตรา 69 จะใช้ข้อมูลค่า MSY (Maximum Sustainable Yield) หรือปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน จากกรมประมง มาประกอบการพิจารณา โดยกล่าวอ้างตัวเลขการจับปลากะตักในน่านน้ำไทย ปี 2567 ได้เพียง 90,000 ตัน ทั้งที่ค่า MSY เท่ากับ 221,459 ตัน จัดสรรให้สามารถจับได้ 217,030 ตัน หรือร้อยละ 98 ของค่า MSY

จิระพงศ์ จีวรงคกุล นักวิชาการโครงการพัฒนาทางทะเลและชายฝั่ง มูลนิธิเอ็นไลฟ์

จิระพงศ์ จีวรงคกุล นักวิชาการโครงการพัฒนาทางทะเลและชายฝั่ง มูลนิธิเอ็นไลฟ์

จิระพงศ์ จีวรงคกุล นักวิชาการโครงการพัฒนาทางทะเลและชายฝั่ง มูลนิธิเอ็นไลฟ์

ซึ่งปลากะตักมีช่วงอายุขัยประมาณ 1 ปี เมื่อไม่ถูกจับจะตายไปตามธรรมชาติจึงเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งเบื้องต้นอาจกำหนดให้ทำการประมงได้เฉพาะในช่วงเดือนม.ค.- มี.ค.ในฝั่งอ่าวไทย และเดือนพ.ค.-ก.ค. ในฝั่งทะเลอันดามัน เฉพาะในพื้นที่อนุญาต ไม่ทับซ้อนกับเขตมาตรการอนุรักษ์ เช่น มาตรการปิดอ่าว

แต่ตามวัฏจักรห่วงโซ่อาหาร ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ปลากะตักอยู่ในลำดับชั้นที่ 3 เป็นอาหารหลักของวาฬบรูดา ที่ชอบกินปลากะตักแก้ว ปลากะตักควาย ปลาทูขนาดเล็ก ปลาอกกะแล้ ปลาอีโกย และเคยโกร่ง ช่วงที่คลื่นลมสงบสัตว์น้ำขนาดเล็กรวมฝูงใกล้ผิวน้ำ หากปล่อยให้มีการจับปลากะตักในทะเลไทยจำนวนมาก อาจทำให้ความมั่นคงทางอาหารของสัตว์ทะเลลดน้อยถอยลงไปด้วย

ทีมช่างภาพใต้น้ำ จึงพิสูจน์ให้ชัดว่า การใช้แสงไฟล่อตอนกลางคืน มีอิทธิพลต่อกลุ่มสัตว์น้ำวัยอ่อนอีกหลายชนิดอื่นที่เข้ามา เช่น ลูกปลาหลังเขียว หรือ ปลาซาร์ดีน คำนี้คงคุ้นกันมากในฉลากข้างปลากระป๋อง ลูกหมึก ลูกกั้ง ลูกปลาไหลทะเล ลูกปลากระทุงเหว และอีกหลายชนิด จึงไม่แปลกที่กลุ่มอาชีพประมงประเภทอื่น จึงออกมาคัดค้าน ม.69 เหมือนกัน

ก่อนจะปรับเปลี่ยนกฎหมาย เรามีข้อมูลที่สมบูรณ์หรือยัง

เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ตั้งคำถามพร้อมระบุว่า 

ความพยายามในการแก้ปัญหาประมงไม่ยั่งยืน ผิดกฎหมาย มันมีพัฒนาการ จนมาถึงจุดที่หลายอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ทั้งการจดทะเบียนเรือ และข้อมูลด้านเครื่องมือประมงที่ทำให้ระบบนิเวศไม่ยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นรอยต่อที่สำคัญ ต้องมองให้ครบทุกมิติ อนุรักษ์ เศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์อย่างไรให้เหลือถึงคนรุ่นหลัง
ดำน้ำใต้แสงไฟ แบบ Black Water พิสูจน์สัตว์ขนาดเล็กไม่รอดพ้นอวนมุ้ง

ดำน้ำใต้แสงไฟ แบบ Black Water พิสูจน์สัตว์ขนาดเล็กไม่รอดพ้นอวนมุ้ง

ดำน้ำใต้แสงไฟ แบบ Black Water พิสูจน์สัตว์ขนาดเล็กไม่รอดพ้นอวนมุ้ง

สุดท้ายแล้ว การทำงานของพวกเขาก็ไม่เสียเปล่า สิ่งที่ต้องรอดูอย่างใจจดใจจ่อ คณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา จะมีการประชุมอีกครั้งวันอังคารที่ 18 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณารายงานการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. และคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เพื่อบรรจุในระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณาในวันที่ 4-5 มี.ค.นี้ 

ภควัต โฉมศรี รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง