“วันรักนกเงือก” ตรงกับ 13 ก.พ. ของทุกปี เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก ที่เป็นกลไกสำคัญในการบ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด Thai PBS Sci & Tech จึงขอพาไปรู้จัก นกชนิดว่าเพราะเหตุอันใดจึงได้รับขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์แห่ง “รักแท้” (The symbol of True love)
นกเงือกนกขนาดใหญ่แห่งป่าฝนเขตร้อน พบได้ในทวีปเอเชีย และแอฟริกา สำหรับประเทศไทยสามารถพบนกเงือกได้ทั้งหมด 13 ชนิด นกเงือกมีการจับคู่กันแบบ monogamy (ตัวผู้หนึ่งตัวผสมพันธุ์กับตัวเมียหนึ่งตัวในช่วงฤดูสืบพันธุ์)
แต่ความพิเศษของนกเงือก คือการเลือกจับคู่ผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมตลอดชีวิต โดยไม่หาคู่ตัวใหม่เมื่อคู่ตัวเดิมตายหรือหายไป ถือเป็นนกที่มีนิสัยรักเดียวใจเดียว ความน่าสนใจของนกเงือกตรงจุดนี้ ได้ถูกหยิบยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้อันบริสุทธิ์
ในช่วงฤดูสืบพันธุ์แม่นกเงือกจะหาโพรงตามธรรมชาติตามต้นไม้ใหญ่ แล้ววางไข่ จากนั้นแม่นกจะใช้วัสดุต่าง ๆ ปิดปากโพรง เช่น เศษไม้ มูลของตัวเอง ดิน พอกปากโพรงให้มีขนาดเล็กจนเหลือเพียงช่องเล็ก ๆ เพียงพอสำหรับพ่อนกเงือกส่งอาหารด้วยจงอยปาก แม่นกจะกกไข่ ดูแลลูกนกอยู่ภายในโพรงจนกว่าลูกนกจะโตพอที่จะบินได้ กินระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน ในช่วงที่แม่นกดูแลลูกนกอยู่ในโพรง พ่อนกจะคอยหาอาหารมาให้จนกว่าลูกนกจะแข็งแรงและออกจากโพรง
นกเงือกนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของรักแท้แล้วยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าได้ด้วย เพราะนกเงือกมักอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง
มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้เห็นถึงความสำคัญของนกเงือกและเพื่อสร้างความตระหนักในการให้ความรู้เกี่ยวกับนกเงือกจึงได้เลือกวันที่ 13 กุมภาพันธ์เป็นวันอนุรักษ์นกเงือกของทุกปี
อ่าน - รับชม : นกเงือก นักปลูกป่า ผู้คลั่งรัก
รับชม : สารคดี The Hornbil Lady ภารกิจอนุรักษ์นกเงือกแห่งเทือกเขาบูโดของ “นูรีฮัน”
เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : อ.จีรวัฒน์ ดำแก้ว นักวิชาการ สาขาวิทยาศาสตร์ภาคบังคับ สสวท.
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech