อะมีบา Naegleria fowleri (N. fowleri) มีชื่อเล่นว่า “อะมีบากินสมอง” และสิ่งที่มันทำคือการกินเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ (Meningoencephalitis) เรียกการติดเชื้อชนิดนี้ว่า “Primary Amoebic Meningioencephalitis” หรือ “PAM” ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 95% แต่เกิดขึ้นได้ยากมาก อัตราการเกิดต่ำกว่า 10 เคส ต่อประชากร 1,000,000 คน (ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา)
N. fowleri เป็นชนิดของอะมีบาในจีนัส Naegleria อาศัยอยู่ในน้ำจืดที่มีอุณหภูมิอุ่น (Thermophilic) กินแบคทีเรียในน้ำเป็นอาหารหลัก จึงเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่อุ่น มีแบคทีเรียเยอะ เช่น ในแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือแม้แต่สระว่ายน้ำที่รักษาความสะอาดไม่เพียงพอ จึงมีปริมาณแบคทีเรียในน้ำสูงและนำไปสู่การเติบโตของ N. fowleri
โดยปกติแล้ว N. fowleri ไม่ใช่เชื้อก่อโรคที่ติดเชื้อในมนุษย์ได้บ่อย ๆ และไม่ได้ต้องการจะโจมตีมนุษย์ มันไม่สามารถทะลุทะลวงชั้นผิวหนังของมนุษย์ได้ จึงไม่สามารถทำอะไรมนุษย์ได้ แต่ถ้ามันเข้าไปถึงเซลล์ประสาทได้ มันจะเกาะติดกับเส้นประสาทคืบคลานไปมา ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบกลไกที่ทำให้ N. fowleri มีความสามารถดังกล่าวอย่างแน่ชัด
สมองเป็นอวัยวะสำคัญ ร่างกายเราจึงสร้างกะโหลกศีรษะมาปกป้องภัยอันตรายจากภายนอกเอาไว้ แต่กลับมีจุดอ่อนอยู่ที่ Cribriform Plate ซึ่งเป็นแผ่นกระดูกเหนือโพรงจมูกที่เต็มไปด้วยเส้นประสาทรับกลิ่นและเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างระบบประสาทส่วนกลางในส่วนรับกลิ่น (Olfactory Bulbs) ของสมองกับเส้นประสาทรับกลิ่น (Olfactory Nerve) ในโพรงจมูกโดยตรง N. fowleri ใช้จุดอ่อนนี้ในการทะลุทะลวงเข้าไปในสมองของมนุษย์
กลไกการเกิดโรค PAM คือการสำลักน้ำที่ปนเปื้อน N. fowleri เข้าไปในจมูก ทำให้อะมีบาเกาะติดกับเส้นประสาทบริเวณ Cribriform Plate จากนั้นมันค่อย ๆ เดินทางตามเส้นประสาทบริเวณ Cribriform Plate เข้าไปในสมองของมนุษย์ในส่วนของ Olfactory Bulbs
เมื่ออยู่ในระบบประสาทส่วนกลางแล้ว N. fowleri จะเริ่มกินเซลล์ระบบประสาท (Neurons) และเซลล์แอสโตรไซต์ (Astrocytes) ในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มจำนวนตัวเองไปด้วย การติดเชื้อจึงลามไปในสมองส่วนอื่น ๆ จังหวะนี้เอง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเริ่มรับรู้ว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นในสมองและดำเนินการต่อต้าน
การติดเชื้อในสมองเป็นหนึ่งในการติดเชื้อที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดเพราะเป็นการต่อสู้กันระหว่างระบบภูมิคุ้มกันกับการติดเชื้อโดยมีระบบประสาทส่วนกลางเป็นสมรภูมิ ในส่วนของ N. fowleri เซลล์ประสาทเป็นเป้าหมายหลักของการโจมตี อาการของโรคหลัก ๆ จึงเป็นอาการทางประสาท ระยะแรก ๆ จะมีอาการ ปวดหัว เวียนหัว และคอแข็ง เป็นต้น ต่อมาจะเริ่มหนักขึ้น เช่น มึนงง หลอน สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ หรือชัก อันเกิดจากจากความเสียหายในระบบประสาท
เนื่องจากสมองเสี่ยงต่อความเสียหายจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันสูง ระบบภูมิคุ้มกันในสมองจึงมีการควบคุมที่สูงมาก หรือที่เรียกว่า “Immune Privilege” ดังนั้นการสอดแนมหรือรวมถึงการลาดตระเวนโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวก็มีจำกัดเช่นกัน การติดเชื้อ N. fowleri ในสมองจึงเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ในระดับ 1-7 วัน และเป็นการติดเชื้อที่สมองซึ่งมีความร้ายแรงสูงและฉับพลัน จึงเป็นเหตุให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ตอบสนองต่อการติดเชื้อ N. fowleri อย่างรุนแรงเกินไป (Immune Overreaction) ด้วยการปล่อย Cytokines ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดอาการจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน เช่น ไข้สูง การอักเสบในสมอง นอกจากนี้ยังปล่อย Cytotoxic Molecules หรือสารพิษต่อเซลล์ภายในสมองเพื่อโจมตี N. fowleri ซึ่งมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ประสาทด้วย ทำให้เกิดการตายของเซลล์ประสาทอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นจากการโจมตีของ N. fowleri เอง หรือจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน นำไปสู่ภาวะของเหลวคั่ง (Edema) เลือดออกในสมอง (Hemorrhage) และการเพิ่มขึ้นของแรงดันในกะโหลก (Intracranial Pressure) ซึ่งจะบีบอัดเนื้อเยื่อในสมองและทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาท ในที่สุดผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะโคม่า (Coma) จากการล้มเหลวของระบบประสาทส่วนกลางและเสียชีวิตในที่สุด
ถึงกระนั้น PAM ยังเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่หากเกิดแล้ว แม้จะได้รับการรักษา ผู้ป่วยก็มักจะเสียชีวิตอยู่ดี ส่วนผู้ป่วยที่รอดส่วนใหญ่นั้นมักจะไม่สามารถฟื้นฟูได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจากความเสียหายต่อระบบประสาทนั้นถาวร การวินิจฉัยโรคยังเป็นไปได้ยากอีกด้วย แพทย์จึงมักจะมองข้ามการวินิจฉัยนี้ไป และกว่าจะตรวจเจอ PAM นั้นก็ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงและถาวรไปแล้ว
กรมควบคุมโรคได้ให้ข้อมูลด้านการป้องกันการติดเชื้อ N. fowleri ไว้ว่า ควรระมัดระวังการสำลักน้ำ โดยเฉพาะในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด เช่น แหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือสระว่ายน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ควรเอาหัวจุ่มลงไป หากสำลักน้ำ ให้สั่งน้ำแรง ๆ ออกทางจมูกรวมถึงล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทันที หากเกิดความผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการสัมผัสแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด เพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที
เรียบเรียงโดย
โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
Department of Biomedical Sciences
College of Veterinary Medicine and Life Sciences
City University of Hong Kong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech