ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"มัทนะพาธา" คลื่นลูกแรกแห่ง ‘สตรีนิยม’ จากงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6


สังคม

12 ก.พ. 68

นวพร เรืองศรี

Logo Thai PBS
แชร์

"มัทนะพาธา" คลื่นลูกแรกแห่ง ‘สตรีนิยม’ จากงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2317

"มัทนะพาธา" คลื่นลูกแรกแห่ง ‘สตรีนิยม’ จากงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ดอกกุหลาบเป็นภาพจำของ “วันวาเลนไทน์” เทศกาลแห่งความรัก ที่ผู้คนมักจะมอบเจ้าดอกกุหลาบสีสันต่าง ๆ ให้กัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ความรักมั่นคง ชนิดที่ว่า 'ความตายก็ไม่อาจพรากเราสองคนออกจากกันได้' (ว่าไปนั่น)

แต่สิ่งหนึ่งที่ใครหลายคน (อาจจะ) ไม่รู้ก็คือ เจ้าดอกกุหลาบเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมมันจึงกลายมาเป็นภาพจำฝังรากลึกของวันวาเลนไทน์ที่ยากจะแยกออกจากกัน เหมือนคำถามที่ว่า “ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน”

ถ้าจะถามถึงต้นกำเนิดของดอกกุหลาบในเชิงวิชาการ ก็คงจะมีคนให้คำตอบกันมาเยอะแล้ว แต่ถ้าถามถึงต้นกำเนิดของดอกกุหลาบในเชิงวรรณคดี เห็นจะมีแค่ “มัทนะพาธา” บทละครพูดคำฉันท์โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่สามารถให้คำตอบได้

Thai PBS ชวนคุณผู้อ่านมารู้จักกับ “มัทนะพาธา” ตำนานและต้นกำเนิดของดอกกุหลาบ ที่มาจากความรักอันโดดเดี่ยวและเด็ดเดี่ยว “มัทนา” ผู้หญิงคนหนึ่งที่เลือกจะรักใครสักคน ด้วยหัวใจและความรู้สึกของตนเอง แม้ต้องกลายเป็นดอกกุหลาบไปชั่วกัลปาวสาน

"ดอกกุหลาบ" ภาพจำของวันวาเลนไทน์

จุดเริ่มต้นของ “มัทนา” นางฟ้าที่ถูกสาป เพราะความไม่รัก 

“มัทนา” เป็นนางฟ้าที่ถูกพูดถึงกันทั่วทั้งสรวงสวรรค์ ว่าเป็นเทพธิดาองค์น้อย ๆ ที่งามพร้อมทั้งกายและใจ ซึ่งนางก็ใช้ชีวิตของนางโดยปกติสุขมาโดยตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความงามของนางมัทนาไปถึงหู “สุเทษณ์” จอมเทพผู้ยิ่งใหญ่ระดับ A-list จนถึงขั้นต้องแอบตามมาเฝ้ามอง เมื่อนั้นชีวิตอัน (เคย) ปกติสุขของนางก็อันตรธานหายไป

เพราะสุเทษณ์แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ‘คลั่งรัก’ หรืออาจจะเรียกอีกอย่างว่า ‘หลง’ นางมัทนามาก แม้ว่า “จิตระรถ” ลูกน้องคนสนิท ผู้เป็นกัลยาณมิตร จะนำรูปนางฟ้าผู้เลอโฉมอีกหลายต่อหลายองค์ให้เลือก ก็ไม่อาจลดทอนความหลงนั้นได้ และยิ่งนานวันเข้า ดูเหมือนความหลงนั้นจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้สุเทษณ์เริ่มเป็นทุกข์ เกิดอาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับเข้าเสียเอง

ด้วยความเป็นห่วงเจ้านาย จิตระรถเลยใช้ให้วิทยาธรตนหนึ่งไปพาตัวนางมัทนามาหาสุเทษณ์ จะด้วยกลวิธีใดก็ได้ วิทยาธรตนนั้นจึงใช้เวทมนตร์เรียกตัวนางมัทนามา แต่ไม่ว่าสุเทษณ์จะเกี้ยวพาราสี หรือพร่ำรำพันรักแค่ไหน นางมัทนาก็ไม่เออออตาม สุเทษณ์จึงสั่งให้วิทยาธรคลายมนตร์ และบอกรักนางมัทนาอีกครั้ง

แต่สิ่งที่นางมัทนาทำคือการตอบปฎิเสธอย่างไร้เยื่อใย เพราะมิอาจทำใจรักคนที่ตัวเองไม่ได้รักได้ 

หม่อมฉันนี้เปนผู้ถือ สัจจาหนึ่งคือ ว่าแม้มิรักจริงใจ,
ถึงแม้จะเปนชายใด ขอสมพาศไซร้ ก็จะมิยอมพร้อมจิต.

สุเทษณ์ได้ฟังคำสัตย์ของนางมัทนาก็โกรธมาก จึงสาปให้นางมัทนาไปเกิดเป็นดอกกุพชะกะ หรือดอกกุหลาบบนโลกมนุษย์ ที่มีกลิ่นหอมและรูปโฉมงดงาม แต่มีหนามป้องกันตัว โดยทุก ๆ เดือน นางมัทนาจะกลายร่างเป็นคนได้ 1 ครั้งเท่านั้น ในคืนวันเพ็ญ จนกว่านางจะมีความรัก 

ฟังไปฟังมา ก็ดูเหมือนจะเป็นเงื่อนไขที่ ‘โอเค’ อยู่สำหรับนางมัทนา ที่ยินดีจะลงไปใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์ ดีกว่าต้องทนฝืนคำสัตย์ ทนอยู่กับคนที่ตนไม่ได้รัก แถมยังไม่รู้วันดีคืนดีจะโดนมนตร์เรียกมาถวายตัวเมื่อไหร่ แต่สุเทษณ์ก็ยังเป็นสุเทษณ์ ผู้ใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นใหญ่ เขาจึงเพิ่มเงื่อนไข เพื่อความสาแก่ใจของตนเองเข้าไปอีกว่า แต่ไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม หากนางมัทนามีความรัก ก็จงขอให้นางทุกข์ทรมานเพราะความรัก เหมือนที่ตนต้องช้ำใจเพราะรักนางมัทนาข้างเดียว ! 

ความรักชวนฝันที่ไม่อาจราบรื่นดังใจหวัง

นางมัทนาลงไปเกิดเป็นดอกกุหลาบงามอยู่กลางป่าหิมะวัน ก่อนจะถูกขุดไปปลูกใกล้อาศรมของฤาษีกาละทรรศิน ที่มีอาคมเก่งกล้า และได้มาพบรักกับ “ท้าวชัยเสน” กษัตริย์รูปงามแห่งเมืองหัสตินาปุระ ซึ่งออกขบวนล่าสัตว์ แล้วแวะมาพักที่อาศรมของพระฤๅษีพอดิบพอดี  

และเปล่งพะจีณสัจจะการ ประกาศหมั้น,
ต่อพระพักตร์สุราภิรักษะอัน
เสด็จสถิตณเฃตอะรัณ- ยะนี่ไซร้,
ว่าดะนูและน้องจะเคียงคระไล
และครองตลอดณอายุขัย บ่คลาดคลา!

หลังจากที่ทั้งคู่บอกรัก และตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน นางมัทนาก็หลุดพ้นจากคำสาป ได้กลายเป็นมนุษย์สมใจ และถ้าสมมติว่านี่เป็นละครสักเรื่องหนึ่ง ผู้กำกับคงสามารถขึ้น End Credit ‘จบบริบูรณ์แล้วจ้า’ ท้ายเรื่องได้ทันที ถ้าท้าวชัยเสนไม่ได้มี “พระนางจัณฑี” ผู้เป็นภรรยา คอยท่าอยู่ที่เมืองหลวงแล้ว

ซึ่งถ้าถามคนอ่านอย่างพวกเรา ในฐานะชาวบ้านสี่ ชาวบ้านห้า คงไม่ได้แปลกใจอะไรมาก เพราะรู้อยู่แล้วว่า ผู้ชายโปรไฟล์ดี แต่ไม่มีคู่ครอง มันหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ต่อให้อ้างว่าถูกจับคลุมถุงชน เพราะเรื่องของการเมือง ก็ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่า ท้าวชัยเสนแต่งงานแล้ว และนางมัทนาเป็นผู้ที่มาทีหลังได้  

จะด้วยพิษรักแรงหึง หรือความแค้นของเมียหลวง ที่ยอมเสียทองเส้นเท่าหัว แต่จะไม่ยอมเสียผัวให้ใคร ทำให้ “พระนางจัณฑี” สร้างแผนกลั่นแกล้งนางมัทนา ด้วยการส่งม้าเร็วไปฟ้องพระบิดาของตนเอง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองมคธนคร ให้ยกทัพมาทำศึกกับเมืองหัสตินาปุระ เพื่อล่อให้ท้าวชัยเสนออกจากที่ประทับ ต้องจากบ้านไปทำสงคราม ห่างไกลจากนางมัทนาอันเป็นที่รัก จนเกิดความหวาดระแวง

พร้อมส่งหมัดฮุกเป็นจดหมายลวงว่านางมัทนาป่วย ให้รีบกลับมาหา แต่พอกลับมาเจอหมอพราหมณ์กำลังทำพิธีอยู่ในละแวกใกล้เคียง  ซึ่งพราหมณ์ตนนั้นก็ใส่ความว่านางมัทนาจ้างให้มาทำเสน่ห์ใส่ “ศุภางค์” ทหารเอกคู่ใจท้าวชัยเสนนั่นเอง

เมื่อนั้น ความระแวงเลยกลายสภาพเป็น ‘พลังบวกเชิงลบ’ ทำให้ท้าวชัยเสนตัดสินใจสั่งประหารนางมัทนาเมียรัก และศุภางค์ทหารคู่ใจทันที แบบไม่สนสี่สนแปดใด ๆ ทั้งสิ้น เดชะบุญที่ทหารเพชฌฆาตไม่ยอมทำตามคำสั่ง แอบปล่อยตัวทั้งคู่ไป นางมัทนาเลยหนีกลับไปยังอาศรมของพระฤๅษีกาละทรรศินตามเดิม

หลังต้องพัดพรากจากท้าวชัยเสน และต้องทุกข์ทรมานเพราะความรัก นางมัทนาจึงทำพิธีบูชาเทพและย้อนนึกถึงผู้ที่สาปให้เธอต้องพบเจอกับความรักที่ไม่สมหวัง สุเทษณ์จึงปรากฏตัวขึ้น ด้วยความหวังใจแบบเต็มร้อยว่า นางมัทนาจะเข้าใจหัวอกตนเอง และใจอ่อนยอมรับรักเสียที

เหมือนสายฟ้าฟาดลงกลางใจ ! สิ่งที่นางมัทนาทำยังเหมือนเดิม นั่นคือการตอบปฎิเสธอย่างไร้เยื่อใย ด้วยคำสัตย์ที่ยึดมั่นไว้ว่า จะใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ตนรักเท่านั้น สุเทษณ์โกรธมากจึงสาปให้นางมัทนากลายเป็นดอกกุหลาบบนโลกมนุษย์ตลอดไป ซึ่งนางก็ยอมรับ และไม่อ้อนวอนขอร้องสุเทษณ์

ซึ่งการที่นางมัทนาเลือกที่จะเป็นดอกกุหลาบไปตลอดชีวิต เพราะยึดมั่นต่อคำสัตย์ของตนเอง อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด (ในตอนนั้น) แล้วก็ได้ เพราะหลังจากนี้ นางจะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของผู้ชาย ที่คอยชี้เป็น-ชี้ตายหรือบังคับจิตใจกันอีกต่อไป ทั้งจากสุเทษณ์และท้าวชัยเสน ซึ่งล้วนถือสิทธิ์ว่าตัวเองเป็นเจ้าชีวิตของนางมัทนาด้วยกันทั้งคู่

อาจเป็นเพราะระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ บทละครพูดคำฉันท์เรื่องนี้ ก็เป็นช่วงที่อารยธรรมตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลในไทยพอดิบพอดี จึงทำให้ “มัทนะพาธา” มีความแตกต่างจากงานพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลอื่น ๆ ทั้งในแง่ของการแยกบทบรรยายกับบทพูดออกจากกัน และการจัดฉากเหมือนละครเวทีตะวันตก

ที่สำคัญที่สุด นั่นคือการสร้างนิยามความรักของผู้หญิงในรูปแบบใหม่ ว่าเจ้าชายรูปงาม หรือจอมเทพผู้ยิ่งใหญ่ อาจไม่ใช่ ‘รางวัล’ แต่เป็น ‘โทษทัณฑ์’ สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งก็เป็นได้ 

หนังสือ "มัทนะพาธา" ตำนานแห่งดอกกุหลาบ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6

งานเขียน ‘สตรีนิยม’ ในยุคที่สังคมนิยม ‘ชายเป็นใหญ่’

“มัทนะพาธา” หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบนั้น เป็นงานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งสะท้อนแนวคิดของสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) เห็นได้จาก 2 ตัวละครชายที่วนเวียนเกี่ยวข้องกับนางมัทนา นั่นคือ “สุเทษณ์” และ “ท้าวชัยเสน”

“สุเทษณ์” จอมเทพผู้ยิ่งใหญ่ ที่มากล้นไปด้วยบารมี ถือว่าตนเองเป็นเจ้าชีวิต สามารถชี้เป็น-ชี้ตาย เทพตนอื่น ๆ ในสรวงสวรรค์ได้ แต่ต้องมาอ้อนวอนขอความรักจากนางฟ้าองค์น้อย ๆ อย่างนางมัทนา ถึงขนาดสาปให้ลงไปตกระกำลำบากถึง 2 ครั้ง 2 ครา ก็ยังพิชิตใจสาวเจ้าไม่ได้สักที

ตัดภาพมาที่ “ท้าวชัยเสน” กษัตริย์รูปงามแห่งเมืองหัสตินาปุระ ที่มีภรรยาคอยอยู่ที่เมืองหลวง แม้จะคลั่งรักนางมัทนาหนักมาก แต่เมื่อความหึงหวงและความหวาดระแวงเข้าครอบงำ ก็สามารถสั่งฆ่าเมียรักกับลูกน้องคนสนิทได้ง่าย ๆ  แบบไม่รอไต่สวนอะไรเลย

ในขณะที่นางเอกของเรื่องนี้อย่าง “มัทนา” ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเจตจำนงอันแรงกล้าตั้งแต่ต้นเรื่องยันท้ายเรื่อง นั่นก็คือ จะไม่ยอมให้ใครมาฝืนใจหรือฝืนความรู้สึก ซึ่งถือเป็นอุปนิสัยที่แตกต่างจาก ‘หญิงในขนบ’ วรรณคดีไทยยุคก่อนหน้านี้อยู่พอสมควร แม้จะยังไม่หลุดออกจากกรอบความเป็น ‘หญิงที่ดี’ แบบหมดจด เช่น เมื่อได้เสียเป็นเมียของชายใดแล้ว ก็จะต้องจงรักภักดีต่อผัวของตนเอง แม้ว่าผัวจะงี่เง่า น่ารำคาญ หรือชอบทำตัวเป็นเจ้าชีวิตเมีย แต่ก็ถือว่าเป็น ‘คลื่นลูกแรกแห่งสตรีนิยม’ ที่น่าจับตามอง ในมุมของนักอ่านสายวรรณกรรมอยู่เหมือนกัน 

Graphic Designer : พฤษพล จันทาพูน 

อ้างอิง

  • มัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ
  • มัทนะพาธา : สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงในมุมมองสตรีนิยมเชิงนิเวศ, จตุพร เจริญพรธรรมา ชญาดา ชูชัยสิงหะกุล และจุไรรัตน์ รัตติโชติ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 
  • นารีเรืองนาม: ยอดสตรีในสายตากวีสยามและแนวทางการดำเนินชีวิตของหญิงชายในสมัยรัชกาลที่ 6, พฤฒิชา นาคะผิว, วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ ปีที่ 26 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562) 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

มัทนะพาธาตำนานแห่งดอกกุหลาบนางในดอกกุหลาบดอกกุหลาบValentine's day
นวพร เรืองศรี
ผู้เขียน: นวพร เรืองศรี

หญิงสาวหัวล้านและหัวรั้น ผู้อุทิศชีวิตให้หนังสือ, ภาพยนตร์-ซีรีส์ และชานมไข่มุกหวาน 100% มีแมว 3 ตัว กับศิลปินที่ชอบเป็นแรงใจในการหาเงิน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด