เชื่อว่าหลายคนอาจมีความเข้าใจว่า "มันเทศ" (Ipomoea batatas (L.) Lam.) เป็นพืชที่อยู่ในสกุลหรือวงศ์เดียวกันกับพืชชนิดอื่น ๆ ที่มีคำว่ามัน แต่ความจริงในทางพฤกษศาสตร์ "มันเทศ" อยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกับ "ผักบุ้ง" ทำไม ? จึงเป็นเช่นนั้น Thai PBS Sci & Tech มีคำตอบ
ชวนรู้จัก “มันเทศ”
“มันเทศ” (Ipomoea batatas (L.) Lam.) เป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและโภชนาการ โดยเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญและอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น เบตาแคโรทีน ใยอาหาร รวมถึง เป็นแหล่งของวิตามินหลากหลายชนิด ทั้งวิตามินเอ วิตามินบี 2, บี 6 วิตามินซี วิตามินอี รวมไปถึงแร่ธาตุอย่างแมงกานีส โฟเลต ทองแดง เหล็ก และมีกรดแพนโทเทนิก ทั้งนี้ แท้จริงแล้ว "มันเทศ" จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (Convolvulaceae) และในสกุลเดียวกันกับผักบุ้ง (Ipomoea aquatica Forssk.) แต่อยู่คนละวงศ์กับมันมือเสือและกลอย (Dioscoreaceae), ส่วนมันสำปะหลัง อยู่ในวงศ์ยางพารา (Euphorbiaceae), มันฝรั่งอยู่ในวงศ์มะเขือ (Solanaceae), ในขณะที่มันแกว อยู่ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae)
ลักษณะเด่นของพืชในวงศ์ผักบุ้งคือเถาเลื้อย ใบเรียงตัวแบบสลับ และดอกทรงกรวยหรือรูประฆัง มันเทศเองก็มีเถายาว ใบรูปหัวใจ และดอกสีม่วงหรือสีขาวอ่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมันเทศกับพืชในวงศ์ผักบุ้งอย่างชัดเจน
มันเทศมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนของอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ก่อนจะถูกนำไปเผยแพร่และปลูกในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก พืชชนิดนี้เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และได้รับการปลูกเพื่อเป็นอาหารมาอย่างยาวนาน ความสามารถในการเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความหลากหลายและสภาพภูมิอากาศที่แตกต่าง ทำให้มันเทศกลายเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในหลายวัฒนธรรมและภูมิภาคทั่วโลก
การวิจัยทางพฤกษศาสตร์ช่วยยืนยันถึงความแตกต่างของมันเทศจากพืชที่มีลักษณะคล้ายกันในวงศ์อื่น ทั้งในแง่โครงสร้างดอก ลักษณะใบ และการเจริญเติบโต ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวงศ์ของมันเทศสะท้อนถึงความสำคัญของการจัดจำแนกทางพฤกษศาสตร์ ซึ่งเป็นกุญแจในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่แท้จริงของพืช อันจะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์พืชชนิดนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติ
ดังนั้น “มันเทศ” จึงไม่ได้เป็นเพียงพืชอาหารที่สำคัญ แต่ยังเป็นตัวแทนที่สะท้อนถึงความงดงามและความซับซ้อนของโลกพฤกษศาสตร์ ซึ่งซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างน่าทึ่ง
“มันเทศ” หัดกินไว้ ช่วยให้ห่างไกลสารพัดโรค
นอกจาก “มันเทศ” จะอัดแน่นด้วยวิตามินและแร่ธาตุแล้ว ยังมีโปรตีนชั้นดีที่มีแคลอรีต่ำอีกด้วย และที่ชิมแล้วมีรสหวานนั้นก็ใช่ว่าน้ำตาลจะสูงลิบ เพราะมันเทศเป็นพืชที่มีน้ำตาลต่ำ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ใครที่เป็นเบาหวาน นี่อาจกลายเป็นเมนูโปรดเลยก็ได้ ยังไม่พูดถึงสรรพคุณในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสู้กับปัญหาการอักเสบต่าง ๆ หรือแม้แต่ทารกในครรภ์ เนื้อของมันเทศก็ยังเข้าไปช่วยพัฒนาเนื้อเยื่อให้ดีขึ้นด้วย
ลดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ อีกประโยชน์สุดเซอร์ไพรส์ของ “มันเทศ”
“มันเทศ” มีไฟเบอร์สูง ซึ่งจะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย เคลียร์อาการท้องผูก และที่สำคัญพบว่าการกินมันเทศสามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วย
สีม่วง สีส้ม สีเหลือง เลือกกิน “มันเทศ” สีไหนจึงจะดีที่สุด
ในบ้านเรานั้นจะมี “มันเทศ” อยู่หลายสี ซึ่งแต่ละสีก็จะมีคุณค่าทางโภชนาการที่ต่างกัน อย่างมันเทศสีม่วงจะมีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ถ้าเป็นสีส้ม ก็จะมีสารเบตาแคโรทีนเยอะ ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และยังช่วยป้องกันโรคตาบอดกลางคืนได้ด้วย สุดท้ายคือสีเหลือง ก็จะมีประโยชน์คล้ายกับมันเทศสีส้ม คือมีเบตาแคโรทีน แต่อาจจะมีในปริมาณที่น้อยกว่า
เห็นสรรพคุณทั้งสามสีแล้ว “มันเทศ” สีไหนโดนใจก็เลือกมารับประทานกันได้เลย
Thai PBS Sci & Tech พรรณไม้น่ารู้
📌อ่าน : นักวิจัยไทยค้นพบต่อเนื่อง ! “กระเจียวอาจารย์วันชัย” พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่จากป่าเมืองกาญฯ
📌อ่าน : มหัศจรรย์แห่งป่าภูวัว ! “ก่อบังบาตร” ต้นไม้แหวกแนวญาติร่วมสกุล
📌อ่าน : บานสะพรั่ง ! “ดอกกระดุมเงิน” ความมหัศจรรย์บนภูกระดึง
📌อ่าน : สวยตราตรึง ! “รองเท้านารีอ่างทอง” กล้วยไม้ป่าเฉพาะถิ่น
📌อ่าน : “พิศวงไทยทอง” ราชินีแห่งความลึกลับบนดอยหัวหมด จ.ตาก
📌อ่าน : ค้นพบ ! “เปราะอาจารย์แหม่ม” พืชถิ่นเดียวของไทย - ชนิดใหม่ของโลก
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตปริญญาเอกหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, โรงพยาบาลพญาไท
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech