ยามราตรีที่ชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ต่างหลับใหล มีเพียงแสงจันทร์และแสงไฟข้างถนนที่ทำหน้าที่ของมัน เพื่อขับเคลื่อนให้โลกนี้ไม่อยู่ในห้วงนิทราและความมืดมิด พร้อมเหล่าดอกนีออนบานค่ำ อย่างกลุ่มคนทำงานกลางคืน ผู้คนสัญจรเดินทาง หรือวัยรุ่นสังสรรค์
แม้เวลากลางคืนจะเงียบสงัด ร้านค้า ร้านอาหารต่างปิด แต่ยังคงมีร้านเล็ก ๆ ร้านหนึ่ง แถวมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เพิ่งเปิดให้บริการ เปรียบเสมือนจุดนัดพบของผู้คนที่ใช้ชีวิตกลางคืน ด้วยเมนูของหวาน ที่ช่วยประทังความหิวของคนกลางคืนก่อนจะรุ่งเช้า เพราะที่นี่คือ ‘ร้านลุงนม’ อันเลื่องชื่อ
‘วีรวัฒน์ งวงคำนาม’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ลุงนม’ ชายวัย 60 ปี เจ้าของร้านขายนมสดและขนมปัง ลุงนมเป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาบริเวณมหาวิทยาลัยรังสิต ความพิเศษของร้านรถพ่วงของลุงนม คือ การที่ร้านเริ่มเปิดในช่วงเวลากลางคืน ตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเช้ามืด นั่นหมายความว่า ลูกค้าต่างเป็นคนที่ใช้ชีวิตในช่วงกลางคืน เช่น นักศึกษา กลุ่มคนทำงานกลางคืน หรือคนที่นอนไม่หลับ ทำให้ร้านแห่งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ร้านขายนมสดหรือขนมปังอีกต่อไป แต่กลับซ่อนความหมายไว้หลายอย่าง
‘จากคนขายสู่ผู้รับฟัง’
การทำร้านขายนมและขนมปัง สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเป็นพ่อค้า คือ ทักษะและกรรมวิธีในการทำอาหาร เพื่อให้สินค้ามีความพิเศษและความอร่อย หรือการมีสัมพันธภาพที่ดี เพื่อก่อให้เกิดการบริการที่ประทับใจ ขณะเดียวกัน ‘ทักษะการรับฟัง’ ทักษะที่หลายคนอาจมองว่าไม่มีความจำเป็นในการเป็นพ่อค้า แต่กลับสร้างความหมายต่อลุงนมและลูกค้า
หากลองคิดภาพตาม ในหนึ่งคืนต่างมีเรื่องราวจากลูกค้า ที่มาเล่าหรือระบายให้ลุงนมฟังระหว่างรอคิว ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน ความรัก ความสุข หรือแม้แต่เรื่องทุกข์ใจ นำไปสู่การเป็น ‘พื้นที่ของการรับฟัง’ ที่มากกว่ากว่าการขายนม แต่คือ ‘การขายความสบายใจ’
จากเรื่องราวของลุงนมในรายการ ‘Made My Day วันนี้ดีที่สุด’ ’พบว่า การฟังของลุงนม ไม่เพียงแต่เป็นการฟังแบบผิวเผินหรือฟังหูซ้ายทะลุหูขวา แต่เป็นการฟังในระดับที่ ‘ฟังด้วยใจ’ กล่าวคือ เป็นการฟังที่ฟังด้วย หู ตา และใจ เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูด ไม่มีการตัดสิน และอยู่กับปัจจุบัน เมื่อมองไปที่กลุ่มลูกค้า ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น การรับฟังในลักษณะนี้ อาจตอบโจทย์ความต้องการในการระบายของคนกลุ่มนี้ได้อย่างดี
‘จากร้านขายนม สู่บ้านของคนกลางคืน’
บทบาทของร้านรถพ่วงคันเล็ก แต่ยิ่งใหญ่ไปด้วยเรื่องราวของลูกค้า ที่ถูกเล่าระบายนับร้อยเรื่องราว พัฒนาสู่การเป็น ‘บ้านหลังที่สอง’ บ้านที่เปรียบเสมือน ‘พื้นที่ปลอดภัย’ พร้อมความสบายใจและความอบอุ่น การมาเยือนที่ร้านลุงนมหรือบ้านหลังนี้สำหรับบางคน อาจเกิดจากสาเหตุของอาการ ‘คิดถึงบ้าน (Homesick)’ ที่เป็นผลจากการห่างไกลบ้านเกิดหรือผู้ปกครอง ทำให้เกิดความเหงา หรือความอ้างว้าง การมาเยือนร้านลุงนม จึงเปรียบได้กับการได้พูดคุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่พร้อมรับฟัง และทำให้เกิดความสบายใจในช่วงเวลาหนึ่งที่ชีวิตอ้างว้าง
คำว่า ‘กลางคืน’ คงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการที่ร้านลุงนมกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ไม่ว่าจะ ‘ความรู้สึกเหงาในเวลากลางคืน’ อีกหนึ่งอาการที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบ เพราะกลางคืนถือเป็นช่วงเวลาที่คนเรามักจะมีอารมณ์อ่อนไหว ทำให้ง่ายต่อการเกิดความรู้สึกเศร้าและความคิดฟุ้งซ่าน ณ จุดนี้ทำให้ง่ายต่อการเข้าสู่บทสนทนาเชิงลึก (Deep Conservation) ที่สามารถพูดคุยระบายเกี่ยวกับชีวิตออกมาได้
มากไปกว่านั้นยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘คนที่ชอบใช้ชีวิตในกลางคืน (Nyctophilia)’ สำหรับบางคนการใช้ชีวิตกลางคืนมีหลากหลายสาเหตุ ทั้งทางพันธุกรรม นาฬิกาชีวิต รวมถึงการชอบในข้อดีของกลางคืน เช่น อากาศไม่ร้อน ช่วงเวลานี้มีความสงบ ทำให้เกิดการพักผ่อนที่แท้จริงและสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ หรือการได้ใช้เวลาไปกับชีวิตที่มีสีสัน
เคล็ดลับที่ไม่ลับของการค้าขาย มากกว่าคุณค่าทางรสชาติและคุณภาพ อาจเป็น ‘คุณค่าทางจิตใจ’ ที่ผู้บริโภคจะได้รับ สำหรับบางคนการออกไปซื้อของกิน ความคาดหวังที่จะได้ดับความหิวกระหาย อาจเป็นสาเหตุรองมากกว่า เพราะสิ่งต้องการอย่างแท้จริง อาจเป็นการได้ระบายความในใจกับคนขาย การพาตัวเองไปสู่บ้านหลังที่สอง เพราะแค่ได้ไปเยือนก็สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น หรืออาจหมายถึงการต้องการ ‘ความสบายใจ’ เท่านั้น
“หากคุณกำลังอ่านบทความนี้ช่วงเวลากลางคืน การไปเยือน ‘ร้านนมสดลับ ๆ ที่เปิดรับอุ่นความสุข’ ก็อาจทำให้คุณได้พบกับความสุขอีกมุมหนึ่งที่คุณไม่เคยรู้”
รับชมเรื่องราว ‘ลุงนมและป้าจระเข้’ (ในวันอังคารที่ 10 ธันวาคม 2567 เวลา 21.30 น.) ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay