28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เข้าดำรงตำแหน่ง "ประธานคณะกรรมการราษฎร" คนแรกของประเทศไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 คณะผู้บริหารประเทศชุดนี้เรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร”
ซึ่งตำแหน่ง "ประธานคณะกรรมการราษฎร" ในสมัยนั้นเทียบเท่ากับ “นายกรัฐมนตรี” และเสนอรายชื่อ คณะกรรมการราษฎร หรือ คณะรัฐมนตรี ชุดแรกของไทย ภายหลังจากการประชุมสภาผู้แทนคณะราษฎรครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
แม้ว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จะไม่ได้ร่วมเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย แต่เป็นคนที่ได้รับการเสนอชื่อจากหัวหน้าคณะราษฎรและผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร คือ นายพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา รัฐบาลของพระยามโนฯ ประกอบด้วยกรรมการราษฎร 14 คนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองฯ
1. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ
2. พระยาศรีวิศาลวาจา
3. นายพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา
4. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
5. นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์
6. พระยาประมวลวิชาพูล
7. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ
8. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม
9. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย
10. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
11. หลวงเดชสหกรณ์
12. นายตั้ง ลพานุกรม
13. นายร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี
14. นายแนบ พหลโยธิน
สมัยนั้นทุกกระทรวงยังมีเสนาบดีเป็นผู้ดูแลในระดับสูงสุด และมีปลัดทูลลอองดูแลข้าราชการในลำดับถัดมา จึงเป็นโครงสร้างของฝ่ายบริหารที่มีลักษณะเฉพาะตัว
เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไม่ได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ได้ถือเอาว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาปฏิญาณตนจะปฏิบัติเป็นนโยบายงานสำคัญที่แม้จะเป็นงานของสภาผู้แทน แต่รัฐบาลก็ได้ร่วมทำอย่างแข็งขัน
โดยประธานคณะกรรมการราษฎรได้เป็นประธานคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะอนุกรรมการฯ นี้ได้ทำงานเพียง 5 เดือน ก็ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญเสนอสภาผู้แทนฯ ให้พิจารณาได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2475 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกนี้ได้ผ่านสภาผู้แทนฯ
ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงเปลี่ยนจาก "ประธานคณะกรรมการราษฎร" มาเป็น "นายกรัฐมนตรี" วันที่ 1 เมษายน 2476 พระยานโนปกรณ์ฯ ได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 7 ขอให้ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ด้วยเหตุผลว่าคณะรัฐมนตรีมีความแตกแยก ในกรณี “โครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ซึ่งร่างโดย นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสหกรณ์เต็มรูปแบบ แต่ไม่ทำลาย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของ เอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี และให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตาย
แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และขุนนางบางส่วนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ได้กล่าวหานายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเนรเทศออกไปอยู่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2476
ความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะราษฎรรุนแรงมากขึ้นเรื่อย จนนำไปสู่การยึดอำนาจทำรัฐประหาร ของคณะทหารที่นำโดย นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) และนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 (ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ถูกปลดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เป็นนายกฯ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา นั่นเอง