เป็นข่าวที่ผู้คนให้ความสนใจ กรณีพบ “พะยูนตาย” นับเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2567 ตายไปแล้วจำนวน 5 ตัว และรวมทั้งปี พบพะยูนตายแล้วกว่า 36 ตัว
เหตุการณ์ไม่ปกตินี้ เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน-อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น จนส่งผลต่อแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะ “หญ้าทะเล” ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
Thai PBS ชวนรู้จัก 5 ข้อเกี่ยวกับ “หญ้าทะเล” ตัวแปรนี้มีความสำคัญอย่างไร จึงส่งผลต่อการสูญเสียพะยูนเป็นจำนวนมาก
1.ทำความรู้จัก หญ้าทะเล คืออะไร ?
หญ้าทะเล คือ กลุ่มพืชดอกที่มีวิวัฒนาการให้สามารถดำรงชีวิตในทะเลได้ ลักษณะทั่วไปเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว เจริญเติบโตได้ดีในน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง สามารถแพร่ขยายพันธุ์อย่างกว้างขวาง และหนาแน่น
ทั่วโลกพบหญ้าทะเลกว่า 60 ชนิด พบได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำหรับในน่านน้ำทะเลไทย พบหญ้าทะเลราว 13 ชนิด โดยสามารถพบหญ้าทะเลได้หลากหลายพื้นที่ อาทิ แหล่งน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำที่ติดป่าชายเลน ชายฝั่งน้ำตื้นที่มีพื้นทรายหรือทรายปนโคลน
ที่ผ่านมา แหล่งหญ้าทะเลทางฝั่งทะเลอันดามัน มักมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยพบหญ้าทะเลมากตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในน่านน้ำไทยคือ บริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งบริเวณนี้ เคยได้ชื่อว่า เป็น “บ้านหลังใหญ่ของพะยูน” เมื่อปี 2566 เคยนับพะยูนบริเวณนี้ได้กว่า 180 ตัว
2.หญ้าทะเลสำคัญอย่างไร ?
ด้วยโครงสร้างของใบที่ซับซ้อน ทำให้หญ้าทะเล กลายเป็นที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์น้ำได้วางไข่และหลบซ่อนศัตรู เป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด
นอกจากนี้ยังช่วยกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพราะหญ้าทะเลมีระบบรากที่คอยยึดจับ ป้องกันการพังทลายของชายฝั่งได้เป็นอย่างดี ระบบนิเวศหญ้าทะเลจัดเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลไทย
3.หญ้าทะเลมีความสำคัญต่อ “พะยูน” อย่างไร ?
นอกจากสัตว์ทะเล อาทิ ปลา กุ้ง ปู หอย ที่อาศัยประโยชน์จากหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ อาทิ เต่าทะเลบางชนิด และพะยูน ก็ใช้หญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารโดยตรง ซึ่งโดยปกติ พะยูนเต็มวัย มีความต้องการหญ้าทะเลราว ๆ 13-16 ไร่ ปกคลุมพื้นที่อย่างน้อย 60% เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง
4.หญ้าทะเลลดลง พะยูนและสัตว์ทะเลได้รับผลกระทบหนัก
ปัญหาโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน และอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้หญ้าทะเลล้มตาย และมีจำนวนที่ลดลง ในแต่ละปีพื้นที่หญ้าทะเลลดลงถึงร้อยละ 1.5 และในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา พบว่า แหล่งหญ้าทะเลทั่วโลก ถูกทำลายและตายลงไปแล้วกว่าร้อยละ 29 ของพื้นที่หญ้าทะเลทั้งหมด
หันมาดูที่ท้องทะเลไทย จากฐานข้อมูลทรัพยากรหญ้าทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2563 สรุปขอบเขตพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล จำนวน 160,628 ไร่ ใน 17 จังหวัดชายฝั่ง
โดยฝั่งอ่าวไทยมี 11 จังหวัด กินพื้นที่ทั้งหมด 54,148 ไร่ และฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด กินพื้นที่ 106,480 ไร่
ทั้งนี้ จังหวัดตรัง พื้นที่ที่ได้ชื่อว่า เป็นบ้านหลังใหญ่ของพะยูน มีพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลรวม 34,869.5 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 มีรายงานพบว่า หญ้าทะเลแถบนี้ ลดลงเหลือเพียง 25,767 ไร่ ในขณะที่พื้นที่ที่มีหญ้าทะเลโดยรวมก็มีจำนวนลดลง เหลือเพียงกว่า 99,325 ไร่
นอกจากนี้ บริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง พื้นที่ที่เคยพบพะยูนจำนวนมาก ปัจจุบันกลายสภาพเป็นหาดทรายสีคล้ำ และประสบภาวะหญ้าทะเลเสื่อมโทรม เป็นเหตุให้พะยูนอพยพออกไปเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่
มีรายงานว่าบางกลุ่มอพยพไปถึงอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ บางกลุ่มไปถึงทะเลสตูล และอาจไปไกลถึงมาเลเซีย นอกจากนี้พะยูนบางส่วนยังมีสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากประสบกับภาวะอดอยาก และล้มตายลงเป็นจำนวนมาก
5.ปัญหาหญ้าทะเลล้มตาย ทางแก้คืออะไร ?
เมื่อจำนวนหญ้าทะเลลดลง แต่ความต้องการอาหารของพะยูน มีเท่าเดิม จึงมีความพยายามช่วยเหลือด้วยการใช้ “ผักทดแทน” แต่ก็พบปัญหาตามมาคือ ถูกสัตว์ทะเลอื่น ๆ อาทิ เต่าทะเล แย่งกิน
อีกหนึ่งทางแก้ไขที่ต้องใช้เวลา นั่นคือ การฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ให้กลับคืนมา โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ใช้วิธีล้อมคอกแปลงทดลองหญ้าทะเล ซึ่งผลการทดลองกว่า 5 เดือน พบว่า หญ้าทะเลในการล้อมคอก เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี และไม่ถูกสัตว์ทะเลกัดกินเสียก่อน จึงเร่งเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ใกล้เคียง เพื่อเป็นการเพิ่มแหล่งหญ้าทะเล อันเป็นอาหารสำคัญของพะยูนให้ได้มากที่สุด
36 ชีวิต กับช่วงเวลากว่า 1 ปีที่พะยูนล้มหายตายจากไป ถึงตรงนี้ ต้องช่วยกันแก้วิกฤตการสูญเสียนี้ไปให้ได้โดยไว การเร่งฟื้นฟูหญ้าทะเล เป็นทางออกเบื้องต้นที่เห็นผล แต่สำหรับหนทางแก้ไขระยะยาว เป็นเรื่องที่เราทุกคน ต้องร่วมมือกัน “เปลี่ยนโลก” ที่กำลังผุพัง ให้กลับมาดีขึ้นดังเดิม
อ้างอิง