17 พ.ย.2567 สถานีเรือรัตนวาปี (นรข.เขตหนองคาย) อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย เจ้าหน้าที่ทหารเรือและหน่วยงานเกี่ยวข้อง จับผู้ต้องหาได้พร้อมยาบ้ากว่า 202,000 เม็ด
19 พ.ย.2567 กรมทหารพราน 21 ค่ายศรีสองรัก อ.เมืองเลย จ.เลย พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 แถลงข่าวยึดยาบ้าจำนวน 3,560,000 เม็ด พร้อมผู้ต้องหา 2 คน
ช่วงเวลาเพียง 2 วัน ในกลางเดือน พ.ย.เจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานเกี่ยวข้องสามารถตรวจยึดยาบ้าได้ จำนวน 3,762,000 เม็ด ในขณะที่ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ระบุว่า ปีงบประมาณ 2567 บช.ปส. สามารถจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติด จำนวน 1,322 คดี ตรวจยึดยาบ้าได้ 380,317,464 เม็ด
โดยเฉพาะยาบ้าเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 56.87% และสามารถจับกุมผู้ค้ารายสำคัญรายใหญ่ได้ 90 คดี สกัดกั้นยาบ้าได้ 361,853,712 เม็ด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 87.24 % มีการยึดและอายัดทรัพย์สิน กว่า 4 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมี “แผนปฏิบัติการตามล่า 100 เครือข่าย” เพื่อสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดในพื้นที่ตอนในและพื้นที่ปลายทาง เพื่อทำลายเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดรายสำคัญในพื้นที่เป้าหมาย
“ซุปเปอร์แล็บ” ผลิตยาเสพติด พื้นที่อิทธิพลกลุ่มชาติพันธุ์
เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคง ประเมินสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย โดยเฉพาะการทะลักของยาบ้าในปี 2567 ว่า ตลอดแนวชายแดนไทยในปีนี้มากกว่าปกติ มีการสกัดจับยาเสพติดได้มากกว่า 15,000,000 เม็ด เนื่องจากในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากเกิดการรัฐประหาร ในเมียนมา ตั้งแต่เดือน ก.พ.2564 พบว่ามี “ซุปเปอร์แล็บ” เกิดขึ้นมากมายตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของประเทศเมียนมา
มีการตั้งโรงงานยาเสพติดขนาดย่อยจำนวนมาก และขายตัดราคากันเอง ทำให้มีการลักลอบนำเข้าอย่างต่อเนื่องตลอดปี จนยาบ้ามีราคาถูกลงเหลือเพียงเม็ดละ 8-15 บาทเท่านั้น
โดยแหล่งผลิตหลัก ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตพื้นที่ปกครองพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ที่บ้านน้ำน้ำติ๊ด เมืองหงส์ปัง พื้นที่บ้านหนองเขียว และพื้นที่พัฒนาน้ำป่างเขตปกครองพิเศษที่ 4 ซึ่งจะผลิตเฮโรอีน ยาบ้าเม็ดสำเร็จรูป ยาบ้าแบบผง และไอซ์ จากนั้นจะส่งให้กองกำลังติดอาวุธ ด้านบ้านห้วยอ้อ เมืองจ็อด ,เมืองทาใหม่ เขตรัฐฉานใต้ และกลุ่มเครือข่ายค้ายาเสพติด ชายแดนตรงข้าม จ.เชียงราย และเชียงใหม่ เพื่อส่งไปยังจุดพัก ในพื้นที่ชายแดนตรงข้าม ด้าน จ.เชียงราย เพื่อส่งเข้าลาว
ขณะที่พวกผู้ผลิตรายย่อย จะรับยาบ้าแบบผง จากผู้ผลิตหลักมาผลิตต่อ แหล่งผลิตจะอยู่เขตรัฐฉานทางตอนเหนือ เมืองกุนฮิง ,ดอยสามสูง เมืองสาด ,เมืองทาใหม่ ,เมืองนาย จ.ดอยแหลม ,บ้านอีก้อปางหิน เมืองก๊ก จ.ท่าขี้เหล็ก ,บ้านปู่นาโก-บ้านแม่โจ๊ก จ.ท่าขี้เหล็ก บ้านน้ำปุ๋ง เมืองกาน,บ้านปงถุน จ.ท่าขี้เหล็ก ,ขุนน้ำลวก เมืองไฮ ,บ้านผาวอก-ผ้าขาว จ.ท่าขี้เหล็ก ,บ้านหัวป่าง บ้านหัวยอด ,บ้านน้ำฮูโป่งตอง และบ้านหนองปลาดำ เป็นต้น
“ปัจจุบัน การจับกุมคดีผู้ต้องหา และของกลางยาเสพติด เพิ่มสูงขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะยาบ้า ที่มีการตรวจยึดของกลางเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด หรือร้อยละ 100.99 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เงื่อนไขสำคัญ คือ ในประเทศเพื่อนบ้านมีการสู้รบภายใน ขณะที่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ มีกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับการผลิตและลำเลียงยาเสพติด ทำให้ไทยกลายเป็นตลาดยาเสพติดหลักในภูมิภาคนี้” แหล่งข่าวระบุ
จากแผนประทุษกรรม มีข้อบ่งชี้ว่า ไทยเป็นฮับส่งออกยาเสพติดไปประเทศที่สาม นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมของผู้เสพและกลุ่มเสี่ยง เริ่มมีการใช้ Club drug และยาเสพติดแบบผสมผสานรูปแบบใหม่มากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนเส้นทางการลักลอบนำเข้ายาเสพติด ยังคงมีการใช้ กองกำลังติดอาวุธที่เป็นกลุ่มพันธมิตร และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) และกองทัพมดเป็นผู้ลำเลียงเข้ามาพักในพื้นที่ชายแดน ทั้งทางบกและทางทะเล แต่ได้เปลี่ยนวิธีการหลากหลายมากขึ้น ทั้งการลำเลียงโดยรถยนต์ รถตู้ และรถตู้ ดัดแปลง มีช่องลับ หรืออำพรางมากับพืชผลทางการเกษตรหรือสินค้าอื่น ๆ รวมทั้งมีการใช้รถหน่วยงานราชการ รถกู้ภัย เพื่อตบตาการตรวจสอบและจับกุมของเจ้าหน้าที่
ล่าสุดพบว่า มีการใช้รถบิ๊กไบค์ (Big Bike) ลักลอบนำยาเสพติดจากชายแดนไทยลงมายังพื้นที่ภาคกลางตอนในด้วย
UNODC ชี้เครือข่ายค้ายาฯย้ายฐานสู่ “ลุ่มแม่โขงตอนล่าง”
ข้อมูลจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) รายงานว่า ผู้ติดยาเสพติดทั่วโลกในปี 2566 มีจำนวน 292 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยกัญชา สารกล่อมประสาท (Opioids) ยาบ้า โคเคน และเอ็กซ์ตาซี (ยาอี) เป็นสารเสพติดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด
ทวีปอเมริกาเหนือยังคงเป็นพื้นที่ปลายทางของสาร ฯ Opioids และเป็นต้นทางของการส่งออกสารเสพติดประเภท เฟนทานิล (Fentanyl) เมทแอมเฟตามีน และยังเป็นแหล่งเพาะปลูกต้นโคคา และแหล่งผลิตโคเคน
ขณะที่ทวีปแอฟริกายังคงมีการแพร่ระบาดของ กัญชา โคเคน และเฮโรอีน เช่นเดียวกับทวีปยุโรป และทวีปโอเชียเนีย สำหรับทวีปเอเชียยังคงเป็นแหล่งเพาะปลูกฝิ่นและแหล่งผลิตยาเสพติด ประเภทสาร Opioids และเมทแอมเฟตามีน นอกจากนี้ การลดลงของพื้นที่ปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถาน ส่งผลให้เมียนมากลายเป็นแหล่งเพาะปลูกฝิ่นและแหล่งผลิตเมทแอมเฟตามีนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีแนวโน้มที่พื้นที่เพาะปลูกฝิ่นในเมียนมาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง
ขณะที่สถานการณ์ยาเสพติดในลุ่มแม่น้ำโขงพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ยังเป็นพื้นที่สำคัญ และพบความเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ผลิตรายย่อย ได้ใช้โรงงานเล็ก ๆ ผลิตยาเสพติด ทั้งยาบ้า ไอซ์ และเอ็กซ์ตาซี แม้ที่ผ่านมาจะมีการจับกุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์มากขึ้นก็ตาม
แต่กลุ่มเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด ได้กระจายฐานการผลิตไปยังลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงเข้าไปพักในพื้นที่อื่น ทั้งในเขตรัฐฉานและตอนกลางของเมืองมัณฑะเลย์ มีการปรับรูปแบบจากเดิมที่ใช้รถยนต์ หรือคาราวานเดินเท้า โดยขนส่งทะเลแทน
ในภูมิภาคอาเซียน มีข้อมูลการตรวจยึด ยาบ้า ชนิด “เมทแอมเฟตามีน” มากขึ้น ทุก ๆ ปี ในอาเซียน โดยประเทศไทย มีข้อมูลการจับกุมมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งในอดีตมีจุดผลิตยาบ้าหลัก คือ ทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาเปลี่ยนไปอยู่ที่รัฐฉาน ในเมียนมา
แม้ที่ผ่านมาจะมีการตรวจยึดเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี แต่กลับพบว่า ปริมาณยาบ้า ไม่ได้ลดลง ดังนั้น แม้ว่าราคาของยาบ้าจะตกลงมา จากปี 2013 มีราคาสูงถึงเม็ดละประมาณ 250 บาท บางพื้นที่มีการโปรโมชันขายในลักษณะ ลด แลก แจก แถม มีการปั่นโปร 3 เม็ด 100 บาท หรือลดเหลือเหลือเม็ดละ 10-15 บาท
สาเหตุเพราะมีปริมาณการผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งยาบ้าที่ตรวจพบเกือบทั้งหมดในอาเซียนมาจากแหล่งเดียวกัน เพราะมีหีบห่อที่ชัดเจน คือ ลักษณะเหมือนถุงชาจีน โลโก้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงไปเข้าทางภาคอีสานผ่านลุ่มน้ำโขง ทำให้ใน สปป.ลาว และเวียดนาม มีสถิติการตรวจยึดสารตั้งต้นที่ใช้ผลิตยาบ้าได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ข้อมูล ระบุว่า ยังพบหีบห่อแบบเดียวกันนี้ขยายไปถึงออสเตรเลีย บังคลาเทศ รวมถึงญี่ปุ่นด้วย ซึ่งมีไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศนอกอาเซียน เพราะเมื่อยาบ้าถูกส่งไปยังญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย จะมีราคาสูงขึ้นมาก จึง กลายเป็นแรงจูงใจชั้นดี
แนวรบ “ยาเสพติด” ล้อมรอบชายแดนไทย
สำหรับประเทศไทย แนวรบด้านยาเสพติด ยังไม่เปลี่ยนแปลง ในปี 2567 พื้นที่ชายแดนภาคเหนือตอนบน ,ชายแดนฝั่งภาคตะวันตก รอยต่อระหว่างไทย-เมียนมา ยังเป็นพื้นที่หลักที่มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดเข้าอย่างต่อเนื่อง ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ภาคเหนือ มีการจับกุมยาบ้า ได้จำนวน 565 .35 ล้านเม็ด ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยึดยาบ้าได้เกือบ 191.44 ล้านเม็ด, ภาคตะวันตก ยึดยาบ้าได้จำนวน 51 ล้านเม็ด และจับกุมในพื้นที่อื่น ๆ ได้อีก 41. ล้านเม็ด รวมการจัดกุมเฉพาะยาบ้า ได้ถึงกว่า 800 ล้านเม็ด
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ในพื้นที่ด้านตะวันตก เจ้าหน้าที่สามารถ ตรวจยึดสารซัลฟิวริก และไนตริก ได้ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ตรงข้าม อ.พญาตองซู เขตเมียนมา และยึดสารอะเซโตน ได้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีข้อมูลว่าจะลำเลียงส่งออกไปชายแดนด้าน อ.พบพระ จ.ตาก นอกจากนี้ ยังมีการตรวจยึดสารโทลูอีน น้ำหนัก 83.52 ตัน ที่ถูกส่งมาจากเกาหลี ที่มีปลายทางส่งไปยังบริษัทแห่งหนึ่งในเมียนมา
สะท้อนให้เห็นว่า ไทยถูกใช้เป็นประเทศทางผ่านในการส่งออกสารตั้งต้นและสารเคมีอื่น ๆ ที่อยู่ในบัญชีเฝ้าระวัง เพื่อนำไปผลิตยาเสพติด
สำหรับข้อมูลที่มองข้ามไม่ได้ คือ หลายพื้นที่ โดยเฉพาะชายแดนภาคเหนือได้มีการ ซุกซ่อนยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า มากับกลุ่มบิ๊กไบค์ Big Bike) โดยมือขน "อำพราง" ตัวเป็นเป็นนักท่องเที่ยวไปรับยาเสพติด จากพื้นที่ภาคเหนือ มาพักคอยในพื้นที่ภาคกลาง
ก่อนกระจายยาเสพติดไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน และคีตามีน ที่ถูกลักลอบนำเข้ามาจากชายแดน บางส่วนนำเขามาแพร่ระบาดหรือใช้เสพภายในประเทศ บางส่วนลำเลียงเข้ามาเพื่อส่งไปยังพื้นที่ภาคใต้ และบางส่วนถูกลำเลียงต่อไปยังประเทศที่สาม
ส่วนทางภาคอีสาน พบว่า มีการนำยาบ้า ข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ขนแบบกองทัพมด โดยใช้เรือหางยาวหาปลา ก่อนนำมาพักไว้ตามรายทาง โดยนัดหมายกลุ่มมือขน และลูกค้าส่งต่อเข้าพื้นที่ตอนในของไทย และรอการขนส่งต่อ หวังตบตาเจ้าหน้าที่เพื่อเลี่ยงการจับกุม
อย่างไรก็ตาม สำหรับยาบ้าที่กำลังระบาดในภาคอีสาน พบว่า เป็นยาบ้า แพ็กเกจ อักษรสีเขียว ชนิด Y1 เม็ดยาบ้า สีส้ม มีตัวอักษร wy โดยกลุ่มผู้ค้าฯได้ให้รายย่อยจัดโปรขาย 3 เม็ด 100 บาท โดยมีเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้ใช้แรงงาน กรรมกร และเยาวชน
หากดูย้อนสถานการณ์ ยาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า มีปัญหาเช่นกัน รายงานของ UNODC พบว่า เมียนมากลายเป็นประเทศที่มีการลักลอบปลูกฝิ่นมากที่สุดในโลก แม้ว่าผลการจับยึดสารเคมี จะลดลงจากห้วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่การจับกุมสารเคมีส่วนใหญ่พบในเขตต่อเนื่องหลายเขตของเมียนมา นอกจากนี้การลักลอบปลูกฝิ่น ได้ส่งผลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเฮโรอีนในภูมิภาค
ความไม่มั่นคงจากปัญหาการเมืองภายใน และการเข้ามาของกลุ่มนายทุนชาวจีนที่เข้ามาใช้พื้นที่ในเมียนมา และจัดตั้งเป็นแหล่งก่ออาชญากรรมอื่น ๆ ทั้งการค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ กลุ่ม Romance Scam และเครือข่ายยาเสพติด ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภูมิภาคโดยรวม ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา หรือกัมพูชา โดยเฉพาะผลของการสู้รบของกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพเมียนมา ทั้งนี้
และปฏิเสธไม่ได้ว่า การกวาดล้างกลุ่มธุรกิจสีเทาในเมียนมา กลับทำให้มีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้าลาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากลาวได้ถูกใช้เป็นศูนย์กลางหรือจุดเชื่อมต่อลำเลียงยาเสพติด (Connective Hub) ส่งออกยาเสพติดไปยังกัมพูชา ผ่านท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์ และรอส่งต่อไปอีกทอดหนึ่งในประเทศที่สาม
ส่วนทางด้านกัมพูชา พบว่า ยังมีการเคลื่อนไหวกลุ่มทุนจีนเทาในกัมพูชา ข้อมูลจาก UNODC ระบุว่า แม้จะมีการทำลายแหล่งผลิตคีตามีน แต่ยังพบการผลิตยาเสพติด (Kitchen Lab) เครื่องอัดเม็ด และอุปกรณ์ แปรรูปบางส่วน ขณะที่ ไอซ์ คีตามีน ถูกลำเลียงจากลาว ก่อนส่งออกต่อไปประเทศที่สาม
นอกจากนี้ มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมสารเคมีและเคมีภัณฑ์ที่อาจนำมาใช้ผิดกฎหมายยาเสพติด และเชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ จาก กลุ่มจีน ไต้หวัน ไทย ลาว และเวียดนาม ที่เข้ามาเคลื่อนไหวหรือลงทุนธุรกิจในกัมพูชา ในรูปแบบกาสิโน สถานบันเทิง กลายเป็นแหล่งฟอกเงินที่มาจากธุรกิจผิดกฎหมายโดยปริยาย
อ่านข่าว :