‘สังคมผู้สูงอายุ’ จัดเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในประเทศไทยกำลังให้ความตระหนักอย่างมาก เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยตรง และไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (Complete Aged Society)’ ประเทศต้น ๆ ของโลก ด้วยสัดส่วนของผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรไทย
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากอาชีพสายแพทย์หรืองานสังคมสงเคราะห์จะมีบทบาทมากขึ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดอาชีพที่หลายคนนึกไม่ถึงอย่าง ‘ลูกรับจ้างหลานจำเป็น’ หรือ จอยไรด์ (Joyride) สาวอารมณ์ดี มีสไตล์ ขวัญใจผู้สูงวัย แขกรับเชิญของรายการ ‘Made My Day วันนี้ดีที่สุด’ ผู้ประกอบอาชีพที่ตอบโจทย์ในประเด็นที่ว่า ‘จะทำอย่างไร หากลูกหลานของผู้สูงวัยไม่มีเวลาดูแล ไม่สามารถพาไปโรงพยาบาลได้'
สิ่งหนึ่งที่ Joyride ตกตะกอนได้จากการทำงานบริการดูแลผู้สูงอายุคือ ‘Empathy’ หรือ ‘ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น’ กุญแจสำคัญที่จะทำให้เข้าใจหรือสามารถปรับตัวเข้ากับผู้สูงอายุได้ เนื่องจากการกระทำหรือคำพูด ล้วนมีเหตุปัจจัยจากความเหงาในผู้สูงอายุ หรือการโหยหาถึงคุณค่าตัวเองในอดีตที่เคยทำได้ หรือในการประกวดนางงามจักรวาล 2024 รอบตอบคำถาม 5 สุดท้าย คำตอบของ ‘สุชาตา ช่วงศรี (โอปอล)’ ตัวแทนนางงามจักรวาล 2024 จากประเทศไทย ได้ให้คำตอบในประเด็นของการมี ‘Empathy สำหรับการเป็นผู้นำ’ แล้ว Empathy คืออะไร และเราสามารถมีสิ่งนี้ได้อย่างไร ?
‘Empathy’ คือ การรู้และเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกผู้อื่น เป็นความสามารถในการรับรู้ในสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึก มองเห็นในมุมเดียวกับที่ผู้อื่นมอง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ความสำคัญของสิ่งนี้ช่วยในการพัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมของเรากับผู้อื่น ระหว่างเรากับคนในครอบครัว เพื่อนมิตร หรือเพื่อนร่วมงาน รวมถึงช่วยพัฒนาในด้านการควบคุมอารมณ์และความคิด ส่งผลต่อการแสดงออกทางอารมณ์ ความคิด และการทำงานเป็นทีม และอีกคำที่คล้ายคลึงกันคือ ‘Sympathy’ หรือ ‘การเห็นอกเห็นใจ’ ซึ่งสิ่งนี้จะแสดงออกมาในรูปแบบของความสงสาร หรือเรียกว่าการมีอารมณ์ร่วมเป็นหลัก
Empathy แบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ การรับรู้และการมองออกว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร (Cognitive empathy) การรู้สึกเหมือนกับที่ผู้อื่นรู้สึก (Emotional empathy) และความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและปรารถนาดีต่อผู้อื่น (Compassionate empahty) แน่นอนว่าการจะมี Empathy ทั้งสามด้านที่กล่าวไปนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทันที เนื่องจากเป็นสิ่งที่ขึ้นกับช่วงอายุ ประสบการณ์การพบเจอผู้คน และการเรียนรู้ที่จะพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ นั่นหมายความว่า เราสามารถพัฒนา Empathy ได้ด้วยตัวเอง จากบทความ Cultivating emphaty ของ American Psychological Association มีวิธีง่าย ๆ บางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้
การพาตัวเองไปสู่ความแตกต่าง คือ การพาตัวเองเปิดประสบการณ์ในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หรือพาตัวเองไปอยู่ในบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากสังคมของตัวเอง จะช่วยทำให้เราได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งที่เราไม่เคยพบเจอ และขณะเดียวกันอาจทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของการแปลกแยกจากสังคมนั้นได้ดียิ่งขึ้น
การอ่านนิยาย สิ่งนี้จะช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นและโลกของเรามากยิ่งขึ้น โดยมีตัวกลางที่สำคัญอย่างตัวละครและเรื่องราว ไม่เพียงแค่การอ่านนิยาย แต่การรับชมการแสดง ก็ช่วยได้เช่นกัน เนื่องจากการอ่านนิยายหรือชมการแสดง จะช่วยให้เรามีความรู้สึกร่วมกับเรื่องราวนั้น ๆ
พลังแห่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ฮอร์โมนออกซิโตซิน เป็นฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความผูกพันกับผู้อื่น ผ่านการกอดหรือการสัมผัส ซึ่งหากเราสามารถควบคุมและรู้จักใช้ฮอร์โมนนี้ จะช่วยส่งเสริมการมีความเห็นอกเห็นใจของเราได้ยิ่งชึ้น
การมีจุดร่วม เป็นการหาจุดร่วมระหว่างคนสองคนขึ้นไป เพื่อให้รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการประสบกับสิ่งนั้น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน หรือเรียกว่าการรู้สึกถึงการเชื่อมโยงทางสังคม เช่น การมีประสบการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับการสูญเสียคนในครอบครัว
การมองย้อนกลับไปในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ในกรณีนี้หมายถึง การไม่ตัดสินอย่างมีอคติ หรือ การไม่ตัดสินอย่างเร่งรีบ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น กรณีการนัดประชุมช่วงเช้าทุกสัปดาห์ แต่พนักงานหลายคนมาสายบ่อยครั้ง บางคนอาจตัดสินว่า เป็นเพราะความขี้เกียจหรือไม่ตั้งใจทำงาน แต่ในขณะเดียวกันหากลองตั้งสมมติฐานกับสิ่งที่เกิดขึ้น สาเหตุอาจมาจากการจราจรที่ติดขัดบริเวณถนนหน้าบริษัท หรือเพราะสภาพอากาศในฤดูฝนที่ฝนตกช่วงเช้าเป็นประจำ
‘ความเข้าอกเข้าใจ’ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการมีเหตุและผลของแต่ละบุคคล ผู้เขียนเชื่อว่าทุกปัญหาในโลกนี้จะผ่านพ้นไปได้หากเรามี Empathy ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น สิ่งนี้จะสร้างสรรค์ให้โลกของเราสวยงามยิ่งขึ้น และสะท้อนว่าเราคือ ‘มนุษย์’ ที่แท้จริง
รับชมเรื่องราว ‘จอย ณัฐกาญจน์ หรือ จอยไรด์ (Joyride)’ ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay/episodes/105141
อ้างอิง