วันนี้ (20 พ.ย.2567) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า วันนี้ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน จะพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินรายย่อย ในระบบสถาบันการเงิน โดยจะพิจารณาลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF จากร้อยละ 0.46 เหลือ ร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝาก
เพื่อลดภาระต้นทุนการเงินของสถาบันการเงิน และออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่เริ่มผิดนัดชำระและกลุ่มหนี้เสีย ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 31 ต.ค.2567 ตามนโยบายรัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
เห็นชอบให้หลักการ ช่วยเหลือลูกหนี้ 3 กลุ่ม ได้แก่ สินเชื่อบ้าน ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.8 แสนล้านบาท รถยนต์ ราคาไม่เกิน 8 แสนบาท 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.7 แสนล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอี ไม่เกิน 3 ล้านบาท 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีลูกหนี้เข้าข่ายเข้าโครงการดังกล่าว จำนวน 2.3 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้กว่า 1.3 ล้านล้านบาท
โดยลูกหนี้ในโครงการจะได้รับสิทธิ์พักชำระดอกเบี้ย ชำระเงินเพียงเงินต้น ในอัตราผ่อนปรนจากเดิมนานสูงสุด 3 ปี หากตลอดระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการลูกหนี้พยายามชำระหนี้ตามเงื่อนไขใหม่ อาจได้รับการพิจารณา ตัดหนี้หรือแฮร์คัต ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสถาบันการเงินเจ้าหนี้
นายเผ่าภูมิกล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยลูกหนี้เปราะบางกลุ่มนี้ เพื่อให้พ้นสภาพการติดหล่ม สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยลูกหนี้จะยังไม่หลุดจากบัญชีเครดิตบูโร แต่สามารถก่อหนี้ในระบบใหม่ได้ จากเดิมที่สถาบันการเงินจะปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อทันที
ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ใช่การพักชำระดอกเบี้ยอัตโนมัติ แต่ลูกหนี้ยังต้องรอกระบวนการดำเนินการของแบงก์ชาติ จากนั้นจึงจะติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ และรับสิทธิ์ ตามเงื่อนไขสัญญาใหม่ คาดว่า แบงก์ชาติ จะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้
อ่านข่าว : ระเบิดเวลาสังคม! จีนเผชิญวิกฤตความรุนแรงเพิ่มสูง